รูปาวจรจิต - อรูปาวจรจิต ๒


    กฤษณา รูปาวจรจิตก็ต้องเป็นจิตที่สงบกว่ากามาวจรจิต แล้วก็จะต้องประกอบด้วย ปัญญา แล้วก็จะต้องเห็นโทษของรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แล้วเมื่อสักครู่นี้พูดถึง ความหมายของคำว่า มหัคคตะ ซึ่งท่านอาจารย์สมพรได้กรุณาแยกศัพท์ว่า มหา กับ คตะ ซึ่งในคัมภีร์อัฏฐสาลินีก็ได้กล่าวไว้ว่าชื่อว่า มหัคคต เพราะถึงความเป็นสภาวะอัน ใหญ่ เพราะสามารถข่มกิเลสได้ เพราะมีผลไพบูลย์ รูปาวจรจิต และอรูปาวจรจิต ที่เป็น มหัคคตจิตที่ว่า ถึงความเป็นสภาวะอันใหญ่แล้วก็สามารถข่มกิเลสได้ แล้วก็มีผล ไพบูรณ์ อยากจะเรียนถามท่านอาจารย์ว่า สามารถที่จะถึงความเป็นสภาวะที่ถึงความ เป็นสภาวะอันใหญ่นั้นเป็นอย่างไร แล้วก็สามารถข่มกิเลสได้ ข่มกิเลสได้อย่างไร แล้วก็ มีผลไพบูลย์อย่างไร ขอเรียนเชิญท่านอาจารย์สุจินต์

    ท่านอาจารย์ ธรรมดาของกุศลจิตเกิดก็ทราบแล้วว่าสั้นมาก คือ จิตทุกขณะมีอายุเท่ากับ ๓ ขณะย่อย คือ อุปาทขณะ ฐีติขณะ ภังคขณะ ซึ่งเร็วมากทีเดียว แล้วก็เวลาที่กุศลจิตเกิด ถ้าเป็นกามาวจรจิตแล้ว กุศลจิตที่เป็นชวนจิตจะเกิด แม้แต่ทางตาที่กำลังเห็น กุศลจิตก็ เกิดได้ แต่ว่าเกิดได้สืบต่อกันเพียง ๗ ชณะ ๗ ขณะนี้ จะเร็วสักแค่ไหน เพราะว่าจริงๆ แล้วจิตก็เกิดดับเร็วมาก แล้วก็มีภวังคจิตคั่น ก่อนที่จะถึงมโนทวารวิถีจิต แล้วก็ก่อนที่จะ ถึงวิถีอื่นๆ ทางอื่นๆ เช่น ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ทางลิ้นบ้าง ทางกายบ้าง จะต้องมี ภวังคจิตคั่นทุกวาระของจิตที่รู้อารมณ์อื่น ที่ไม่ใช่อารมณ์ของภวังค์ แต่ก็เป็นไปอย่าง รวดเร็วมาก ดูเสมือนกับว่าต่อกัน ไม่มีการที่จะมีภวังคจิตคั่นให้เห็นเลย อย่างขณะที่ กำลังเห็น อย่างขณะที่กำลังได้ยินขณะนี้ ก็เกือบจะไม่รู้เลยว่า มีภวังคจิตคั่น

    เพราะฉะนั้นกุศลจิตอกุศลจิตที่เกิดดับจะเกิดดับซ้ำกันแค่ ๗ ขณะ แต่ถ้าเป็น มหัคคตะ แล้วสามารถที่จะเกิดได้นานกว่านั้นมาก

    กฤษณา อันนี้เลยเรียกว่าเป็นสภาวะที่ใหญ่เพราะว่าเกิดดับสืบต่อกันนาน

    ท่านอาจารย์ ซึ่งขณะนั้นไม่มีกิเลส

    กฤษณา ไม่มีกิเลส

    ท่านอาจารย์ ค่ะ

    กฤษณา ไม่มีกิเลส จึงเรียกว่าข่มกิเลสได้ แต่ไม่ได้หมายความว่ากิเลสหมดไป

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้ค่ะ เพียงแต่สงบ เป็นกุศลจิตอีกขณะหนึ่ง

    กฤษณา แล้วมีผลไพบูลย์อย่างไร

    ท่านอาจารย์ มีผลไพบูลย์ก็คือว่า ถ้าฌานจิตไม่เสื่อม ก็จะทำให้ฌานจิตเกิดก่อนจะจุติ เป็น ปัจจัยให้ปฏิสนธิในรูปพรหมภูมิ เป็นพรหมบุคคล ที่เราเรียกว่าพระพรหม พระพรหม ไม่ ใช่เทวดาชั้นกามาวจรภูมิ แต่ต้องเป็นพรหมบุคคลที่เกิดในรูปพรหมภูมิ สูงกว่าเทวดา ๖ ชั้น เพราะว่าเป็นผลของกุศลที่ใหญ่จริงๆ คือ สามารถที่จะระงับกิเลสได้ ซึ่งกิเลส จะ เห็นได้ว่า ถ้ายังเห็นอยู่ เป็นไปไม่ได้เลยที่กุศลจิตจะเกิดในวันหนึ่งๆ มากกว่าอกุศล ใน ชีวิตประจำวันจริงๆ ที่เห็น ที่ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส คิดนึก คงจะไม่มี ใครกล้าที่จะบอกว่า กุศลจิตเกิดมากกว่า แต่ว่าสำหรับมหัคคตจิต ขณะที่เป็นฌานจิต ขณะแรกที่ได้ฌาน จริง ฌานจิตเกิดขึ้นเพียงขณะเดียว เพียงขณะเดียวจริงๆ อุตสาห์ อบรมความสงบของจิตจนกระทั่งค่อยๆ เป็นสมาธิสูงขึ้น มั่นคงขึ้น สงบขึ้น จากปกติ ธรรมดา เป็นอุปจารสมาธิ จนกระทั่งถึงอัปปนาสมาธิ เป็นฌานจิต ก็จะเห็นได้ว่ายาก แต่ เวลาฌานจิตเกิดครั้งแรกเพียงชั่วขณะเดียว ยังไม่มีกำลังเลย ต้องมีความสามารถ มีวสี ที่จะอบรมจนกระทั่งเป็นผู้ชำนาญในการเข้าฌาน ในการออกจากฌาน ในการตั้งอยู่ใน ฌาน

    นี่แสดงให้เห็นว่าไม่ใช่เรื่องที่ใครๆ ก็บอกว่าได้ฌานจิต โดยที่ไม่มีปัญญาอะไร เลย แล้วก็ไม่ได้อบรมอย่างถูกต้องด้วย เพราะฉะนั้นผลใหญ่ก็คือว่าเมื่อเป็นกุศลซึ่งระงับ จากอกุศลได้มาก ได้มั่นคง จนกระทั่งสามารถที่จะเป็นฌานจิตเกิดก่อนจุติ คนนั้นก็ได้ ผลที่ไพบูลย์ คือว่าเกิดเป็นรูปพรหมบุคคล ซึ่งเวลาที่เป็นรูปพรหมบุคคล มีตา มีหู แต่ ไม่มีจมูก ลิ้น กาย ที่นี่หมายความถึงปสาท คือไม่มีฆานปสาท ไม่มีชิวหาปสาท ไม่มีกาย ปสาท ก็สบาย ไม่ป่วยไข้ ไม่เดือดร้อน ไม่หิว ไม่ต้องรับประทานอาหาร

    กฤษณา แต่ก็เป็นเรื่องที่ยากที่ฌานจิตจะเกิดขึ้นได้ เป็นเรื่องที่ไม่ใช่ง่ายๆ เลย ท่าน ผู้ร่วมสนทนามีปัญหาอะไรจะเรียนถามไหมคะ เกี่ยวกับรูปาวจรจิต อรูปาวจรจิต อยากจะ ขอเรียนถามท่านอาจารย์สมพร มีแง่คิดอะไรหรือทัศนะอะไรเกี่ยวกับรูปาวจรจิต อรูปาวจรจิต กรุณาเพิ่มเติมด้วย

    สมพร รูปาวจรจิต อรูปาวจรจิต เป็นลำดับจิตที่ดีกว่า ที่บอกว่าประเสริฐ คือ รูปาวจรจิต เป็นจิตที่ประเสริฐกว่ากามาวจรจิต อรูปาวจรจิตเป็นจิตที่ประเสริฐกว่ารูปาวจรจิต เพราะ จิตนี้เกิดตามลำดับขั้นของจิต ที่เรียกว่าภูมิ ภูมิ ลำดับของจิต พวกเรามีกามาวจรจิต บริบูรณ์ แต่ไม่มีรูปาวจรจิต ก็เพราะว่าเดี๋ยวก็เห็น เดี๋ยวก็ได้ยิน จิตเราก็เปลี่ยนไปตาม อำนาจกรรมที่ทำให้เราเห็น เห็นชอบใจ จิตเราก็เปลี่ยนไปแล้ว เห็นชอบใจ หรือเห็นสิ่ง ที่ไม่ชอบใจ จิตเราก็เปลี่ยนไปตามนั้น ทั้งๆ ที่จิตเกิดติดต่อกันไปหลายดวงแต่เราก็ไม่ รู้สึกเลย กามาวจรจิตเป็นจิตที่ติดต่อเสมือนหนึ่งเป็นจิตดวงเดียวกัน แท้จริงการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น เป็นจิตคนละดวง ไม่เหมือนรูปาวจรจิต รูปาวจรจิตเป็นจิตที่มั่น คงในกุศล กุศลหมายความว่า เมื่อกำลังเข้าฌานอยู่ ฌานกำลังเป็นไปอยู่ กุศลเกิด ติดต่อกันไป ๑ วัน ก็ ๑ วันกุศลเกิด ๑ วัน เป็นกุศลจิตที่มีกำลังนับประมาณไม่ได้ถ้าเป็น คนนั้นได้ฌานชำนาญแล้ว กุศลที่เกี่ยวกับฌาน หรือเรียกว่ารูปาวจรจิต จิตที่ท่องเที่ยว ไปในรูป มีรูปเป็นอารมณ์ จึงเป็นจิตที่ประเสริฐกว่ากามาวจรจิต แต่ว่าเป็นสิ่งที่ได้ยาก ได้ยากแล้วก็เสื่อมง่ายด้วย ได้ยากแล้วก็เสื่อมยาก ก็ค่อยยังชั่วหน่อย ได้ยากแล้วก็เสื่อม ง่าย ดังนั้นเราควรจะศึกษาสิ่งใดที่จะดีกว่า


    หมายเลข 8983
    25 ก.ย. 2566