เบื่อเพราะไม่รู้ ๒


    ท่านอาจารย์ เมื่อกี้ที่เบื่อ เบื่อเพราะไม่รู้ จริงๆแล้วก็คือว่า ในเมื่อกามาวจรจิตเป็นจิตในขณะนี้เอง ของทุกคนที่กำลังเห็น  ถ้าพูดถึงจิตเห็น เราเข้าใจ แต่ถ้าบอกว่าเป็นกามาวจรจิต เราเพิ่มความเข้าใจมาอีกขั้นหนึ่งว่า  จิตมีหลายประเภท มีถึง ๘๙ ชนิด ถ้าแยกแล้วเป็นกามาวจรจิต ๕๔ ประเภท

    นี่ก็แสดงให้เห็นว่ายังมีจิตอื่นนอกจากนี้ แต่ว่าถ้าจิตเหล่านั้นยังไม่ไม่เกิดขึ้น  เราก็ไม่สามารถที่จะรู้ลักษณะสภาพของจิตเหล่านั้นได้ ที่เราสามารถจะรู้ลักษณะก็คือเฉพาะจิตที่กำลังมีในขณะนี้ เพราะฉะนั้นเมื่อทราบว่าเป็นเรื่องของตัวเอง ตอนนี้คงจะไม่ค่อยเบื่อ เพราะว่าเริ่มจะเข้าใจตัวเองขึ้นในขณะที่กำลังเห็น กำลังได้ยินเป็นต้น

    นิภัทร ก็เป็นเรื่องของตัวเอง แต่ว่าเราก็ยังจะไม่พยายาม ที่จะเข้าใจตัวเอง มันก็ควรจะลงโทษตัวเอง

    ท่านอาจารย์ ก็มีอยู่ ๒ อย่าง คือ มีสภาพธรรมที่ตัวแล้วก็ไม่รู้ แล้วก็เบื่อ แต่ถ้าเริ่มรู้ว่าเป็นสภาพธรรมที่สามารถจะเข้าใจขึ้นได้ อันนี้เป็นจุดประสงค์ของการศึกษาพระธรรม คือเพื่อให้เกิดปัญญารู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ตามความเป็นจริงของทุกคนจะหนีไม่พ้นจิตประเภทนี้ คือ เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส แล้วคิดนึกตาม  คือคิดนึกตามสิ่งที่ปรากฏทางตา คิดนึกตามเสียงที่ปรากฏทางหู คิดนึกตามกลิ่น ตามรส ตามสิ่งที่กระทบสัมผัส ตามเรื่องราวต่างๆ วนเวียนอย่างนี้เอง

    เพราะฉะนั้นถ้าเราสามารถที่จะเกิดปัญญาขึ้น จะดีกว่าการที่เราเกิดมาแล้วจะเห็นไป ได้ยินไป แล้วก็ไม่รู้เรื่องสภาพธรรมเหล่านี้เลย แล้วสำหรับเรื่องของกามาวจรจิตก็เป็นเครื่องยืนยันปัญญาที่จะเกิด ว่าปัญญาที่จะเกิดไม่ได้รู้อย่างอื่น นอกจากสิ่งที่กำลังปรากฏ

    เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรมกับการอบรมเจริญปัญญา หรือที่ใช้คำว่า ”ปฏิบัติ” ก็ต้องสอดคล้องกัน ไม่ใช่ว่าปัญญาไปรู้อย่างอื่น เมื่อขณะนี้สภาพที่ปรากฏเป็นกามาวจรจิต ปัญญาก็จะต้องรู้กามาวจรจิต พูดง่ายๆ ก็คือขณะที่กำลังเห็น แล้วก็ไม่เคยรู้เลยว่า เห็นไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงธาตุหรือสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งต้องมีปัจจัยจึงเกิดได้ แล้วก็ถ้าศึกษาต่อไปจะเห็นความน่าอัศจรรย์ว่า จิตเพียงขณะเดียวก็ยังต้องอาศัยปัจจัยหลายปัจจัยทำให้เกิดขึ้น แล้วเกิดขึ้นทำกิจนิดเดียวแล้วดับ

    นี่คะที่ว่าจะเบื่อหรือน่าเบื่อ ต้องเป็นปัญญาที่ประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรม ที่ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา เพียงเกิดขึ้นแล้วดับไปอย่างรวดเร็ว แล้วถึงจะเกิดปัญญาที่คลาย หน่าย การที่เคยติดในการเห็น การได้ยิน โดยที่วันหนึ่งๆก็ผ่านไป โดยไม่รู้ความจริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    เพราะฉะนั้นการปฏิบัติธรรม หรือที่ใช้คำว่า “วิปัสสนา” หรือที่ใช้คำว่า “สติปัฏฐาน” ไม่ใช่รู้อย่างอื่น สอดคล้องกับการศึกษาที่เรากำลังศึกษาเรื่องกามาวจรจิต คือ ต้องรู้ทางตาที่กำลังเห็น ในลักษณะของนามธรรมซึ่งเห็น และในลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาในขณะนี้ เป็นการยืนยันว่า ต้องตรงอย่างนี้จึงจะถูก ถ้าไม่รู้สิ่งต่างๆเหล่านี้ จะชื่อว่าปัญญาไม่ได้

    นิภัทร หมายความว่าที่เราศึกษาเรื่องกามาวจรจิต ก็เพื่อจะให้เป็นแนวทางที่จะให้เรารู้ ถ้าเราไม่รู้เรื่องกามาวจรจิต ก็ไม่ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติธรรม

    ท่านอาจารย์ ปฏิบัติไม่ได้เลย เพราะเหตุว่าปัญญาจะต้องรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง

    นิภัทร คงจะเห็นความจำเป็นและสำคัญของกามาวจรจิต อาจจะหายเบื่อไปบ้าง


    หมายเลข 8980
    13 ก.ย. 2558