รู้จักกามาวจรจิต


    ชวลิต ที่อาจารย์พูดถึงเรื่องว่าที่เบื่อ  เราเบื่อไม่จริง เพราะว่าเราไม่มีปัญญา แต่ที่เรามีมากนั้นก็คืออวิชชา  ความไม่รู้จริง เพราะฉะนั้นความไม่รู้จริง มันก็มีมากเหลือเกิน เมื่อมีมากแล้ว เมื่อฟังธรรมเพียงเท่านี้ เราก็ปรารถนาอยากจะให้มีปัญญามากๆ เพื่อจะทำลายอวิชชา ซึ่งมันก็คงเป็นไปไม่ได้ เพราะว่าเราสะสมไว้มาก สมบัติของเราจริงๆของเรา คือ ความไม่รู้ คือ อวิชชา มากมายเหลือเกินอุปมาก็ใหญ่เหมือนช้าง มโหฬารเหลือเกิน ตัวมันใหญ่เหลือเกิน แต่เราสะสมเพียงแค่คงจะเป็นมดน้อยๆ มีปัญญาแล้วก็อยากจะไปเอาชนะช้าง คงจะไม่ได้ อย่างที่อาจารย์อธิบายมา

    ท่านอาจารย์ ค่อยๆรู้ขึ้น ค่อยๆเข้าใจให้ถูกขึ้น ว่า สภาพธรรมที่กำลังปรากฏเป็นของจริง เป็นสัจธรรม แล้วสติจะได้ระลึกถูกต้อง เพราะเหตุว่าการอบรมเจริญปัญญานั้นก็จะพ้นจากสติปัฏฐานไม่ได้ หมายความว่าปัญญาอีกระดับหนึ่ง ก็คือว่าไม่ใช่เพียงขั้นฟังเรื่องของกามาวจรจิต แต่สามารถที่จะเข้าใจลักษณะของกามาวจรจิตในขณะนี้ ที่เป็นจิต ที่เราบอกว่าเป็นจิต แล้วเราก็ต้องพูดเรื่องนามธรรม พูดเรื่องจิตบ่อยๆ เพราะเหตุว่า ถึงแม้จะใช้คำว่า “จิต” ก็รู้จักเพียงชื่อของจิต แล้วก็บอกว่าจักขุวิญญาณ คือ จิตเห็น ก็รู้อีก เข้าใจอีก แต่จริงๆแล้วไม่ได้รู้ลักษณะสภาพที่เห็น ที่กำลังเห็นในขณะนี้

    เพราะฉะนั้นต้องอาศัยการฟังบ่อยๆ จนกระทั่งสามารถที่จะเข้าใจถึงลักษณะสภาพของนามธรรมว่า นามธรรมซึ่งเป็นธาตุรู้ หรือว่าสภาพรู้แจ้งลักษณะของอารมณ์นั้น ก็คือในขณะนี้ เพื่อสติจะได้ระลึก ขณะใดที่สติระลึก แล้วค่อยๆเข้าใจขึ้น นั่นคือการอบรมเจริญปัญญา ที่เป็นสติปัฏฐาน ที่เป็นมรรคมีองค์ ๘ โดยปกติก็จะเป็นมรรคมีองค์ ๕ แล้วในที่สุดก็จะไม่พ้นจากการรู้แจ้งสภาพธรรมที่กำลังปรากฏจริงๆ ตามปกติ

    ชวลิต เพราะฉะนั้นก็ต้องค่อยๆน้อมเข้ามาในเรื่องของกามาวจรจิตว่า ก็คือขณะนี้ ว่าลักษณะของจิตเป็นอย่างไร สังเกต สำเหนียก รู้ในเรื่องของจิต

    ท่านอาจารย์ ค่อยๆเข้าใจ

    ชวลิต ค่อยๆเข้าใจ เพราะฉะนั้นอันนี้ก็ ถ้าหากว่าค่อยๆเจริญ ค่อยๆหมั่นพิจารณาในเรื่องกามาวจรจิตบ่อยๆ เสมอๆ เนืองๆเช่นนี้ กระผมคิดว่า ท่านผู้ฟังทั้งหลายก็อาจจะเกิดความร่าเริงในธรรมีกถาที่อาจารย์ได้แสดง แล้วตัวของเราเอง สังเกตบ่อยๆ ก็คงจะไม่เบื่อง่ายๆ และคงจะรื่นเริงในธรรม มีความสนุกสนานในธรรม บันเทิงในธรรม

    ท่านอาจารย์ เพราะว่าถ้ามีใครมาบอกเราว่า นั่งๆแล้วก็ได้ฌาน เราก็จะรู้ได้ว่าไม่จริงเพราะเหตุว่าปัญญาไม่มีเลย แล้วฌานจิตจะเกิดขึ้นได้อย่างไร ไม่ว่าจะเป็นการอบรมเจริญสมถภาวนา หรือว่าวิปัสสนาภาวนาก็ตาม จะต้องเป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์ คือจะต้องประกอบด้วยปัญญา

    เพราะฉะนั้นเราก็ต้องค่อยๆเรียนรู้เรื่องกามาวจรจิตว่า มีกี่ประเภท แล้วก็เป็นชีวิตประจำวันของเราจริงๆทุกวัน ซึ่งวันนี้เราก็จำแนกโดยภูมิว่า จิตทั้งหมด ๘๙ เป็นกามาวจรจิต ๕๔ ซึ่งเราก็มีไม่ครบ น้อยนะคะ ลดลงมาจาก ๕๔  ต่อไปจะรู้ว่ามีจิตของพระอรหันต์รวมอยู่ด้วยที่เป็นกามาวจรจิต เพราะฉะนั้นปกติธรรมดาของเราไม่ครบ ๕๔ การที่จะศึกษาเข้าใจเรื่องของจิตน้อยกว่า ๕๔ ก็ไม่ยากเท่าไร

    ชวลิต จำแนกจิตไปละเอียดถึงขนาด แต่ละประเภทของจิต

    ท่านอาจารย์ ต้องให้รู้กามาวจรจิต ๕๔

    ชวลิต แล้วขณะที่รู้นั้น ก็ต้องสังเกต

    ท่านอาจารย์ อันนี้สั่งไม่ได้ หรือบอกไม่ได้ หมายความว่าเมื่อมีความเข้าใจขึ้น แล้วก็สติจึงจะระลึกได้ แต่ถ้าไม่มีความเข้าใจเรื่องของจิตเลย แล้วก็จะให้จิตทำวิปัสสนาหรือว่าเจริญสติปัฏฐาน หรือปฏิบัติ เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะว่าขณะนั้นไม่มีปัญญา การอบรมเจริญภาวนาต้องเป็นปัญญา

    ชวลิต ทีนี้ก็จะพูดถึงเรื่องที่เกิดของ

    ท่านอาจารย์ จิตเกิดขึ้นเป็นไปกามาวจร หมายความว่า จิตเกิดเป็นจิตที่เป็น กามาวจรจิต จึงเป็นกามาวจรภูมิ หรือกามภูมิ

    ชวลิต เป็นกามภูมิ แล้วภพภูมิที่เกิด หมายความถึงอย่างไร

    ท่านอาจารย์ จิตเกิดเป็นกามาวจรจิต

    สมพร กามาวจรจิตก็หมายความว่ากามาวจรภูมิ ภูมิในที่นี้ก็หมายความว่าจิตที่เกิดขึ้น จิตชั้นต่ำที่สุดที่มีอานุภาพน้อย เช่น จิตเห็น จิตได้ยิน จิตอะไรเหล่านี้เป็นต้น เป็นจิตชั้นต่ำ บางครั้งก็เป็นอกุศล ถึงเป็นกุศลก็มีอานุภาพน้อย เป็นจิตชั้นต่ำ เรียกว่า ท่านใช้คำเรียกว่า หีนจิต จิตต่ำ คือ ต่ำกว่าเขาหมดเลย เป็นกามาวจร กามาวจรจิตนั่นเอง เกิดอยู่ในกามภูมิ หรือเกิดในภูมิอื่นท่านก็เรียกว่ากามาวจรจิต เพราะว่าท่านกล่าวถึงส่วนมาก ในพรหมโลกก็มี รูปภูมิก็มีกามาวจรจิต ถึงอย่างนั้นท่านก็บอกว่า จิตนี้เป็นกามาวจรจิต เป็นกามาวจรภูมิ เอาส่วนมากเป็นเกณฑ์ พวกพรหมก็มีการเห็น การเห็นก็จิตเห็นก็เป็นกามาวจรจิต จิตได้ยินก็เป็นกามาวจรจิต ถึงในรูปพรหมก็ตาม จิตในรูปพรหม โดยมากท่านกล่าวว่า ส่วนมากเป็นไปในกามภูมิ เป็นไปในรูปภูมิก็ได้ แต่ว่าส่วนมากเป็นไปในกามภูมิ


    หมายเลข 8981
    13 ก.ย. 2558