มนสิการ มี ๓ อย่าง


    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นคำว่า “มนสิการ” มี ๓ อย่าง ได้แก่ วิถีปฏิปาทกมนสิการ ๑ แล้วก็ชวนปฏิปาทกมนสิการ แล้วก็อารัมมณปฏิปาทกมนสิการ ซึ่งก็คงจะขอให้อาจารย์ช่วยแปลคำว่า  ปฏิปาทกะ ความหมายที่ ๑ ที่ ๒

    สมพร ปฏิปาทกะ อันที่ ๑ แปลว่าเป็นทาง อันที่ ๒ แปลว่าให้สำเร็จ อันที่ ๓ แปลว่าเป็นบาท ภาษาบาลีมีการแปลได้หลายอย่าง ศัพท์ๆเดียวกันก็แปลได้หลายอย่าง ปฏิ ก็ถ้าจะแยกศัพท์ก็แปลว่า เฉพาะ  ปาทกะ แปลว่าทาง ทางเฉพาะ  ถ้าจะแยกอย่างนั้น  ถ้าเรารวมกันบางทีก็ ปฏิปาทกะ ก็แปลว่า ให้สำเร็จ หรือเป็นบาท อะไรก็แปลได้ทั้งนั้น

    ชวลิต ขอเรียนถามอาจารย์สุจินต์  เพราะว่าผมก็ยังสงสัยอยู่เหมือนกัน คำว่า “นมสิการ” มีทั้งจิต มีทั้งเจตสิกด้วย คนฟังก็คงสับสนแน่นอน เพราะว่าพอเราเรียนมาเจตสิก มันก็มนสิการ ก็เห็นชัดๆอยู่แล้ว เดี๋ยวก็มีโยนิโสมนสิการ เดี๋ยวก็มีอันนี้เพิ่มมาอีกแล้ว ปฏิปาทกมนสิการ แล้วก็จะมีมนสิการอะไรอีกก็ไม่รู้ ก็ชักจะสับสนเหมือนกัน  ช่วยกรุณาให้ชัดๆ

    ท่านอาจารย์ คือเอาตั้งต้นตั้งแต่ว่าวิถีจิต เพราะเหตุว่าถ้าใช้คำว่า ปัญจทวาราวัชชนจิต หรือจิตอื่นนอกจากปฏิสนธิ ภวังค์ จุติ แล้วละก็เป็นวิถีจิต

    เพราะฉะนั้นวิถีจิตก็จะต้องเกิดกันตามลำดับ ไม่ใช่ว่าสับสน 

    เพราะฉะนั้นสำหรับทางตา วิถีจิตแรก  ต้องจำไว้เลยว่า วิถีจิตแรกทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ได้แก่ ปัญจทวาราวัชชนจิต ตามชื่อ  ปัญจ แปลว่า ๕ ทวารก็เป็นทางหรือประตู อาวัชชนะก็รำพึงถึง ซึ่งในที่นี้ไม่ได้หมายความว่า ต้องรำพึงยาวเลย เพียงแต่ว่ารู้หรือนึกถึงอารมณ์ที่กระทบ

    เพราะฉะนั้นก่อนที่จะมีการเห็น การได้ยิน พวกนี้ จิตกำลังเป็นภวังค์อยู่ แล้วจะเกิดเห็น เกิดได้ยินขึ้นทันทีไม่ได้ เพราะว่าจิตที่ไม่ใช่ภวังค์แล้วเป็นวิถีจิตทั้งหมด ไม่ว่าจะได้ยินคำว่า โลภมูลจิต หรือว่ามหากุศลจิต หรืออะไรก็ตามแต่ ซึ่งไม่ใช่ปฏิสนธิ ภวังค์ จุติแล้ว ต้องเป็นวิถีจิต แล้วให้ทราบว่าวิถีจิตในขณะนี้ ตั้งแต่เกิดจนตาย ต้องเกิดตามลำดับ

    เพราะฉะนั้นการที่จะเห็นความไม่ใช่ตัวตนของธรรมก็คือว่า ไม่มีใครสามารถที่จะไปเปลี่ยนแปลงลำดับการเกิดของจิตได้ โดยอนันตรปัจจัยและสมันตรปัจจัย ธรรมทั้งหลายต้องมีปัจจัยจึงจะเกิดขึ้นได้ และต้องเกิดตามปัจจัยด้วย แล้วปัจจัยก็มีกำกับไว้ว่า ต้องเกิดตามลำดับด้วย แล้วก็ต้องเกิดติดต่อกันด้วย หมายความว่าจิตขณะหนึ่งซึ่งดับ จะเป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิด นี่โดยอนันตรปัจจัย

    เพราะฉะนั้นในขณะนี้ให้ทราบว่า เป็นปัจจัย ซึ่งเป็นธรรม ซึ่งเปลี่ยนแปลงไม่ได้ คือเมื่อจิตขณะหนึ่งเกิดแล้วก็ดับไป แต่ว่าเมื่อจิตขณะนั้นดับแล้ว จิตอะไรจะเกิดต่อ ก็ไปสับสนอีกไม่ได้เหมือนกัน เพราะว่าโดยสมันตรปัจจัย คือ ถ้าจิตนี้ดับแล้ว จิตต่อไปต้องเป็นจิตประเภทไหน เช่น เมื่อภวังคุปเฉทะดับทางจักขุทวาร โสตทวาร ฆานทวาร ชิวหาทวาร กายทวารแล้วละก็ ปัญจทวาราวัชชนจิตต้องเกิดก่อน จำชื่อไว้ด้วย ปัญจทวาราวัชชนจิตเป็นวิถีจิตแรกทางปัญจทวาร เพราะฉะนั้นจิตดวงนี้มีอีกชื่อหนึ่งว่า วิถีปฏิปาทกมนสิการ คือให้จำไว้กำกับกันนั่นเองว่า ที่ว่าเป็นวิถีปฏิปาทกมนสิการ ก็คือยืนยันว่าต้องเป็นจิตดวงนี้ ถ้าจิตดวงนี้ไม่เกิดแล้วละก็ วิถีจิตต่อไปจะเกิดไม่ได้เลย

    เพราะฉะนั้นคำว่า วิถีปฏิปาทกมนสิการไปใช้กับจิตดวงอื่นไม่ได้ ต้องได้แก่ปัญจทวาราวัชชนจิตดวงเดียวเท่านั้น

    ชวลิต อันนี้ก็เป็นระเบียบของลักษณะจิตอย่างนั้น ใช่ไหมครับ

    ท่านอาจารย์    เป็นนิยามหรือธรรมเนียม ซึ่งสภาพธรรมต้องเกิดเพราะปัจจัย แล้วก็มีปัจจัยกำกับไว้ว่า หลังจากภวังค์คุปเฉทแล้วถ้าเป็นทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ต้องเป็นปัญจทวาราวัชชนจิตเท่านั้นที่จะเกิดต่อจากภวังคุปเฉท

    เพราะฉะนั้นจึงเป็นวิถีปฏิปาทกมนสิการ เพราะว่าถ้าจิตดวงนี้ไม่เกิด วิถีจิตต่อๆไปเกิดไม่ได้ เห็นไม่ได้ ได้ยินไม่ได้ รู้เรื่องไม่ได้ ชอบไม่ได้ อะไรทั้งหมด


    หมายเลข 8884
    11 ก.ย. 2558