มีชีวิตอยู่ก็เหมือนตาย


    ท่านอาจารย์ จิตทุกขณะเกิดแล้วดับ ปัญจทวาราวัชชนจิตนั่นเองเป็นอนันตรปัจจัย คือ ทันทีที่ดับเป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิด แล้วจิตอื่นก็จะเกิดไม่ได้ เพราะเหตุว่าปัญจทวาราวัชชนจิตเองเป็นทั้งอนันตรปัจจัยและสมันตรปัจจัยซึ่งเมื่อดับไปแล้ว ถ้าเป็นทางตา รูปกระทบกับจักขุปสาท จิตต่อจากปัญจทวาราวัชชนจิตต้องเป็นจักขุวิญญาณ คือ จิตที่กำลังเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตาในขณะนี้

    นี่ก็เป็นวิถีจิตที่ ๒ ต่อจากปัญจทวาราวัชชนจิต

    นี่คือการเกิดดับที่เร็วมาก ถ้าไม่ศึกษาพระธรรมแล้ว ไม่สามารถที่จะเห็นความไม่ใช่ตัวตนของสภาพธรรม ซึ่งเป็นแต่เพียงธาตุแต่ละชนิดซึ่งเกิดแล้วก็ดับ เพราะฉะนั้น เวลานี้กำลังจะพิจารณาให้เข้าใจลักษณะของเห็น คือ วิถีจิตทางตา ซึ่งไม่ใช่มีแต่ เฉพาะจักขุวิญญาณ ปัญจทวาราวัชชนจิตก็มีสิ่งที่กระทบตาเป็นอารมณ์ ไม่ใช่มีอารมณ์ของภวังค์ ถ้าไม่ใช่ภวังคจิตแล้ว ต้องมีอารมณ์อื่น เพราะฉะนั้นถ้าเป็นทางตา ปัญจทวาราวัชชนจิต ก็มีสีที่กำลังปรากฏเป็นอารมณ์ แต่ไม่เห็น

    นี่คือความต่างกันของจิตแต่ละขณะซึ่งเกิดดับทำหน้าที่เฉพาะรู้อารมณ์เดียวกัน แต่กิจต่างกัน คือ ปัญจทวาราวัชชนจิตก็รู้สิ่งที่ปรากฏทางตา แต่ไม่เห็น เพราะเหตุว่าไม่ใช่กิจเห็น จิตนี้ไม่ได้เกิดขึ้นทำทัศนกิจ แต่ทำอาวัชชนกิจ เพราะเหตุว่าจิตทุกขณะที่เกิดต้องทำกิจ แล้วสำหรับจักขุทวาราวัชชนจิตก็คือ ทำกิจนึกคิดรู้อารมณ์ที่กระทบ ซึ่งอารมณ์นั้นจะเป็นอื่นไม่ได้นอกจากสีสันวัณณะ แต่ไม่เห็น

    ชวลิต ครับ ก็คงจะหมายถึงว่า อาวัชชนะจิตยังไม่เห็น ยังไม่ได้ยิน ยังไม่ได้รับรส กายสัมผัสต่างๆ ยังไม่ถึงจุดนั้น

    ท่านอาจารย์    เพียงแต่ทำอาวัชชนกิจ ถ้าได้ยินคำว่า วิถีปฏิปาทกมนสิการ อย่าคิดว่าเป็นเจตสิก เพราะมีคำว่า มนสิการ หรือว่าได้ยินคำว่า ชวนปฏิปาทกมนสิการ ก็อย่าคิดว่าเป็นเจตสิก ให้ทราบว่า ที่นั่นต้องหมายถึงปัญจทวาราวัชชนะ หรือมโนทวาราวัชชนะ เพราะเหตุว่าเหตุให้เกิดจักขุวิญญาณมี ๔ คือ ๑. รูปารมณ์ ๒. จักขุปสาท ๓. อาโลกะ แสงสว่าง ๔. ใช้คำว่า มนสิการ เฉยๆ

    เพราะฉะนั้นบางคนก็อาจจะคิดว่า ที่นี่หมายความถึงเจตสิก แต่ไม่ใช่ เพราะเหตุว่า เจตสิกเขาเป็นสัพพจิตสาธารณะอยู่แล้ว ที่นี่หมายความถึงปัญจทวาราวัชชนจิต ซึ่งถ้าปัญจทวาราวัชชนจิตไม่เกิด เป็นเหตุใกล้ จักขุวิญญาณเกิดไม่ได้ เพราะฉะนั้นจึงต้องมีปัญจทวาราวัชชนจิตก่อน เพราะเหตุว่าไม่ว่าจะเป็นการเห็น หรือการได้ยิน ให้ทราบว่าเป็นวิบาก เรื่องของกรรมเป็นเรื่องที่เห็นความวิจิตรจริงๆว่า ไม่มีใครสามารถจะทำอะไรได้เลย แต่ว่ากรรมทำได้ แม้แต่จักขุปสาทรูปก็กรรมเป็นสมุฏฐานให้เกิดขึ้น แล้วเมื่อกรรมเป็นสมุฏฐานให้เกิดจักขุปสาทรูปแล้ว การเห็นของแต่ละคน หรือการได้ยินของแต่ละคนก็ต้องแล้วแต่กรรม อย่างเมื่อเช้านี้มีฝนตกบางแห่ง แล้วก็มีเสียงฟ้าร้อง แต่ว่าที่อื่นเงียบ ไม่มีกรรมที่จะทำให้เกิดได้ยินเสียงนั้นเลย หรือว่าคนที่นอนหลับสนิท กรรมทำให้หลับ วิบากจิตเกิดดับสืบต่อดำรงภพชาติ ยังไม่ได้ทำให้ได้ยินเสียง หรือว่าได้เห็นอะไรเลย แต่สำหรับคนที่นอนไม่หลับ หรือว่าบังเอิญตื่นขึ้นมาก็เพราะกรรมทำให้ต้องเห็น หรือว่าได้ยิน ได้กลิ่น รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส

    เพราะฉะนั้นแสดงให้เห็นว่า ถ้าเราเข้าใจเรื่องสภาพธรรมจริงๆ  แม้แต่เหตุที่จะให้เราเกิดมา แล้วก็เป็นภวังค์โดยที่ว่าบังคับไม่ได้ แล้วก็ตื่นขึ้นที่จะให้เห็นบ้าง ได้ยินบ้างก็บังคับไม่ได้

    นี่ก็แสดงให้เห็นว่า ทุกอย่าง อย่าเสียเวลาไปเป็นห่วงกังวล คิดมาก เพราะว่าอะไรจะเกิดก็มีเหตุปัจจัยที่จะต้องให้เกิดจริงๆ นอกจากว่าจะทำดีที่สุด คิดดีที่สุด แล้วก็เจริญกุศล ซึ่งเป็นเหตุที่จะทำให้เกิดปัญญาสามารถที่จะรู้แจ้งสภาพธรรม มิฉะนั้นแล้วก็ ที่ชาวกุรุบอกว่า มีชีวิตอยู่ก็เหมือนตาย เพราะว่ามีชีวิตอยู่แล้วก็มีแต่โลภะ โทสะ โมหะไปเรื่อยๆ ก็ยิ่งเสียกว่าตาย เพราะเหตุว่าคนตายก็ไม่ได้สะสมอกุศล


    หมายเลข 8886
    11 ก.ย. 2558