อนันตรปัจจัย - สมนันตรปัจจัย


    สุรีย์   เรียนถามท่านอาจารย์สุจินต์ว่าทำไมมันถึงไม่สับสน โดยเฉพาะอย่างจิตที่ไม่ใช่วิถี มันตั้งตนด้วยอดีตภวังค์ ภวังคจลนะ ภวังคุปัจเฉทะ แล้วพอเข้าวิถีก็เป็นปัญจทวาราวัชชนะ แล้วเป็นทวิปัญจวิญญาณจิต

    ท่านอาจารย์    เป็นเรื่องของปัจจัย ซึ่งความจริงก็ถ้าจัดโดยปริจเฉทก็ปริจเฉทที่ ๘ ถ้าโดยคัมภีร์ก็เป็นอภิธรรมคัมภีร์สุดท้าย  คือว่าเมื่อได้ศึกษาเรื่องของสภาพธรรม คือ จิต  เจตสิก รูป แล้วการที่จะเห็นความเป็นอนัตตาจริงๆ ว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ก็จะต้องรู้ถึงสภาพที่เป็นปัจจัยของธรรมซึ่งต้องมีปัจจัยจึงเกิดขึ้น ถ้าไม่มีปัจจัยก็เกิดไม่ได้ แล้วปัจจัยก็ไม่ใช่มีแต่เฉพาะปัจจัยเดียว มีหลายๆปัจจัย

    เพราะฉะนั้นเราจะค่อยๆพูดถึงบางปัจจัยเริ่มต้น เพื่อให้ชินหูกับความเป็นปัจจัยว่า ปรมัตถธรรมมี ๔ คือ ๑ จิต ๒ เจตสิก ๓ รูป ๔ นิพพาน ส่วนธรรมที่ไม่ใช่ปรมัตถ์นั้นก็มีบัญญัติ

    เพราะฉะนั้นก็จะได้ทราบว่า สภาพธรรมที่เป็นปัจจัย ก็ไม่ใช่อื่นไปจากปรมัตถธรรมนั่นเอง จิตเป็นปัจจัยหลายอย่าง เจตสิกก็เช่นเดียวกัน รูปก็เช่นเดียวกัน แต่สำหรับบัญญัตินั้นเป็นปัจจัยได้ปัจจัยเดียว คือ เป็นอารัมมณปัจจัย เป็นอารมณ์เท่านั้น เพราะเหตุว่าไม่ใช่สภาพธรรมที่มีจริง

    เพราะฉะนั้นการที่เราจะศึกษาธรรม เราก็พยายามที่จะเข้าใจความละเอียดของธรรม แม้แต่ในเบื้องต้นประกอบไปด้วย เพื่อที่จะเห็นความเป็นอนัตตา อย่างเวลาที่ปฏิสนธิจิตเกิดเป็นขณะแรกในภพชาตินี้ สภาพของจิตที่เป็นปฏิสนธิจิตนั่นเองเป็นอนันตรปัจจัย เพราะเหตุว่าเมื่อปฏิสนธิจิตดับ ต้องมีจิตเกิดสืบต่อทันที

    สุรีย์   การเกิดสืบต่อนั่นคืออนันตรปัจจัย ทำให้เขาเป็นอย่างนั้น

    ท่านอาจารย์    ไม่ใช่ค่ะ ปฏิสนธิจิตเป็นปัจจัย ภวังคจิตที่เกิดต่อเป็นปัจจยุปันนธรรม หมายความถึงธรรมซึ่งเป็นผลของปัจจัย เกิดขึ้นเพราะปัจจัยนั้น เพราะว่าคำว่า “ปัจจยุปันนธรรม” ก็คงมาจากคำว่า ปัจจัย กับอุปปันนะ เพราะฉะนั้นสภาพธรรมที่เป็นปัจจัย เป็นเหตุที่จะทำให้สภาพธรรมที่เป็นผล  คือ ปัจจยุปันนธรรมเกิดสืบต่อ เมื่อปฏิสนธิจิต ดับลง จิตที่เกิดสืบต่อจะเป็นจักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ หรือจิตอื่นไม่ได้เลย ต้องเป็น ภวังคจิต โดยนัยของอีกปัจจัยหนึ่ง คือ สมนันตรปัจจัย หมายความว่าไม่มีการก้าวก่ายสับสน การเกิดขึ้นทำงานสืบต่อกันของจิตจะต้องเป็นไปตามลำดับ ตามปัจจัย ว่าเมื่อปฏิสนธิจิตเป็นอนันตรปัจจัยดับแล้ว ต้องมีจิตเกิดสืบต่อแล้วและจิตที่จะเห็นจิตสืบต่อจะเป็นจิตอื่นไม่ได้ นอกจากภวังคจิตโดยสมนันตรปัจจัย 

    สำหรับอนันตรปัจจัยและสมนันตรปัจจัย ได้แก่ ทั้งจิตและเจตสิก ไม่ใช่เฉพาะจิตเท่านั้นที่เป็นอนันตรปัจจัยและสมนันตรปัจจัย แม้เจตสิกที่เกิดร่วมกันก็เป็นอนันตรปัจจัย และสมนันตรปัจจัยด้วย นี่ข้อหนึ่ง แล้วอีกประการหนึ่งก็คือว่า รูปไม่เป็นอนันตรปัจจัย เพราะฉะนั้นก็ไม่เป็นสมนันตรปัจจัยด้วย เฉพาะนามธรรมที่รู้อารมณ์เท่านั้นที่เป็นอนันตรปัจจัยและสมนันตรปัจจัย

    บางทีเราอาจจะคิดว่า รูปเกิดขึ้นแล้วก็ดับ แล้วก็มีรูปเกิดแล้วก็ดับสืบต่อกัน แต่การเกิดดับสืบต่อกันของรูป ไม่ใช่เพราะรูปก่อนเป็นอนันตรปัจจัยดับไป แล้วก็ทำให้รูปต่อไปเกิดขึ้น เพราะเหตุว่าสมุฏฐานที่เกิดของจิตนั้นมี ๔ คือ บางรูปเกิดขึ้นเพราะกรรมเป็นสมุฏฐาน บางรูปเกิดขึ้นเพราะจิตเป็นสมุฏฐาน บางรูปเกิดขึ้นเพราะอุตุ ความเย็นความร้อนเป็นสมุฏฐาน และบางรูปเกิดขึ้นเพราะอาหารเป็นสมุฏฐาน

    เพราะฉะนั้นเมื่อรูปเกิดเพราะกรรมดับ กรรมนั่นแหละก็ทำให้รูปต่อไปเกิด หรือว่ารูปที่เกิดเพราะอุตุ อุตุดับ อุตุก็ทำให้รูปเกิดขึ้น ไม่เกี่ยวข้องกับรูปที่ดับไป เพราะฉะนั้นสำหรับอนันตรปัจจัยและสมานันตรปัจจัยนั้น ได้แก่ เฉพาะจิตและเจตสิกเท่านั้น


    หมายเลข 8887
    11 ก.ย. 2558