ขณะไหนชื่อว่ามีสติ


    ถาม   การที่ว่าจะใช้สติเอามาพิจารณา หรือว่าเอามาระลึกได้ เพื่อที่ให้เห็นโทษของกิเลสที่เกิดขึ้น หรือความทุกข์ที่เกิดขึ้น  มันเป็นสิ่งที่ยาก แล้วก็ผมก็คิดว่ามาฟังวันนี้ก็จะถามให้ชัดๆ  ว่าสติ ตามธรรมดาก็คิดว่า เราทำอะไรก็มีสติกันอยู่ คิดว่าตัวเองมีสติ แต่สติปกติธรรมดาในชีวิตประจำวันกับสติปัฏฐาน มีความแตกต่างอย่างไร ขอความกรุณาอาจารย์แยกให้ชัดครับ

    ท่านอาจารย์    การฟังต้องละเอียด  ไม่ใช่ว่าทุกขณะที่ทำอะไรๆ มีสติ  นั่นเข้าใจผิด  สติต้องเป็นธรรมฝ่ายดี ในขณะที่ระลึกเป็นไปในทาน การให้ มีการให้ขณะใด ขณะนั้นจึงมีสติที่เป็นไปในการสละวัตถุเพื่อประโยชน์สุขของคนอื่น ในขณะที่วิรัตทุจริต ขณะนั้นจึงเป็นสติ ในขณะที่มีจิตเมตตา หรือว่ามีกุศลจิตเกิดขึ้นขณะใด  ไม่ว่าจะทางกาย ทางวาจา ทางใจ ขณะนั้นจึงเป็นสติ แต่ถ้าเดินไปซื้อของ รับประทานอาหาร นี่ ไม่ใช่สติ  ต้องเข้าใจให้ถูกต้อง 

    ผู้ฟัง ก็เคยได้ฟังอยู่คำหนึ่งว่า สติเป็นโสภณเจตสิก  เป็นฝ่ายดี ทีนี้อย่างเวลาขับรถก็มีสติ แต่ก็รู้ว่าในเวลาที่ขับรถ  มีความต้องการ มีความรีบร้อน เพราะว่ามีความต้องการที่จะไปไหน ความต้องการนั้นเป็นความโลภ แต่ว่าก็มีสติที่จะระวังรถ ระวังอะไรไม่ให้ชน  ที่ผมพูดว่าเป็นสติที่ในชีวิตประจำวัน

    ท่านอาจารย์    ไม่ได้ ไม่ได้ค่ะ ที่กล่าวว่า กำลังขับรถมีสติ  ตอนไหนคะ ขณะที่ขับรถมีสติ  ตอนไหน

    ผู้ฟัง ก็ตอนที่เราระวังไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ หรือว่าในการใช้เกียร์ หรืออะไร

    ท่านอาจารย์    ไม่ใช่ค่ะ ต้องทราบว่า สติที่ว่าเป็นโสภณ  เพราะเหตุว่าต้องเป็นไปในกุศลธรรม คือ ต้องเป็นไปในทาน ในศีล หรือในความสงบของจิต หรือสติปัฏฐาน นอกจากนั้นแล้วไม่ใช่สติ กำลังคุยกันขณะที่กำลังขับรถ เป็นสติหรือเปล่า   ขณะที่กำลังระวังไม่ให้ชน เป็นสติหรือเปล่า ต้องพิจารณาแล้ว  ถ้าไม่เป็นไปในทาน ในศีล ในความสงบของจิต ซึ่งเป็นสมถภาวนา หรือในการเจริญปัญญาที่เป็นสติปัฏฐาน  ถ้าไม่ใช่ในทาน ศีล ภาวนาแล้ว  ไม่ใช่สติ ขณะที่นั่งอยู่นี่มีสติหรือเปล่า เดี๋ยวนี้มีสติหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ธรรมดานี้ก็คิดว่า   มีครับ มีที่ว่ารู้ตัว

    ท่านอาจารย์    เป็นกุศลหรือเปล่า

    ผู้ฟัง คือถ้าอย่างนั้นต้องมีการประกอบ ต้องมีการกระทำกรรมใช่ไหมครับ

    ท่านอาจารย์     ถ้ากำลังรับประทานอาหาร แล้วรู้ว่ากำลังรับประทานอาหารนั้น เป็นสติหรือเปล่า

    ผู้ฟัง เมื่อรู้รสของอาหารว่า เป็นรสอะไร  น่าจะจัดว่าเป็น

    ท่านอาจารย์    ขณะที่รับประทานส้มเปรี้ยว รู้ว่ารสเปรี้ยว ขณะนั้นเป็นสติหรือเปล่า

    ผู้ฟัง คิดว่าเป็นสติ

    ท่านอาจารย์    ไม่ใช่ค่ะ ถ้าอย่างนั้นวันหนึ่งๆ  กุศลจิตเกิดมาก  พอรับประทานของที่เค็ม ก็บอกว่าปลานี้เค็ม พอรับประทานขนมก็บอกว่า นี่หวาน ก็เลยเป็นสติหมด อย่างนั้นก็รวยสติ  สติเกิดเยอะวันหนึ่งๆ ไม่ได้ค่ะ ไม่ใช่ค่ะ

    ต้องเข้าใจจริงๆ ว่า ขณะใดที่เป็นกุศลจิต  ขณะนั้นเป็นสติหรือว่ามีสติ เพราะว่าเรื่องสติที่เป็นโสภณธรรมที่เกิดกับวิบาก  เป็นเรื่องละเอียดข้างหน้า เอาเพียงว่าในชีวิตประจำวันที่จะรู้ว่า มีสติหรือไม่มีสติ ก็ต่อเมื่อขณะใดเป็นกุศลเท่านั้น รับประทานอาหารเป็นกุศลหรือเปล่า  รู้ว่าจานอยู่ที่ไหน ช้อนส้อมอยู่ที่ไหน แกงเผ็ด แกงจืด นี่เป็นกุศลหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ก็ถ้าเอาทาน การบริจาคเข้ามาเทียบ ยังไม่ได้ให้ทาน ก็คงจะไม่เป็น

    ท่านอาจารย์    ไม่เป็น ใช่ไหมคะ แล้วก็ไม่ได้วิรัตทุจริต  แล้วขณะนั้นก็เป็นโลภะด้วย

    ผู้ฟัง ขณะที่ยังไม่ได้ทำทุจริต  ยังไม่ได้ถือว่าเป็น

    ท่านอาจารย์    ไม่ค่ะ ต้องวิรัตทุจริต ไม่ใช่ไม่ทำทุจริต ถ้านั่งอยู่เฉยๆ  ไม่พูดไม่จา แล้วก็คิดสนุกสนานเพลิดเพลินในใจ  ขณะนั้นมีสติหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ก็ต้อง

    ท่านอาจารย์    นั่งเฉยๆ ไม่ได้ทำกรรม ไม่ได้ฆ่าสัตว์ ไม่ได้ลักทรัพย์

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้น ถ้าจะให้มีสติก็ต้องมีสติต่อสิ่งที่มากระทบ เช่นนั่งอยู่ มีกายกระทบเก้าอี้อย่างนี้ จะต้องให้มีสติแบบนี้

    ท่านอาจารย์    ไม่ใช่จะต้องให้มีสติ  อันนี้ขอความกรุณา  เมื่อกี้นี้ใช้ ๒ – ๓ คำ เช่นว่าใช้สติ  ก็ไม่ถูก  ไม่มีใครไปใช้สติได้เลย สติเกิดเพราะเหตุปัจจัย แล้วก็ดับไป ไม่มีใครไปใช้สติ ใช้สติก็ไม่ถูก ใช้ไม่ได้

    ผู้ฟัง สติเกิดเอง

    ท่านอาจารย์    สติเกิดหรือไม่เกิด  สติขั้นไหน สติขั้นทาน หรือขั้นศีล หรือขั้นความสงบที่เป็นสมถะ หรือว่าขั้นสติปัฏฐาน

    ผู้ฟัง ครับ แล้วทีนี้ก็ยิ่งสงสัยใหญ่ว่า ที่นั่งก็ต้องมีการกระทบ อย่างน้อยๆ ก็กายต้องสัมผัสกับความอ่อน ความแข็ง ก็รู้ ก็ต้องรู้  เพราะว่าธรรมดาก็ต้องรู้อยู่แล้วว่ากายได้สัมผัสอ่อนหรือแข็ง เย็นหรือร้อน ก็ต้องรู้ ทีนี้เมื่อรู้ตรงนี้ ก็ยังไม่ทราบว่า เป็นสติไหม

    ท่านอาจารย์    ไม่ใช่สติปัฏฐาน  เพราะใครๆก็รู้ ถามเด็ก เด็กๆรู้ไหมคะ  เด็กก็บอกว่าแข็ง ก็จะเป็นสติปัฏฐานไม่ได้

    เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่า สภาพธรรมมีอยู่ตลอดเวลา มีการรู้อารมณ์ เช่น เด็กก็รู้ว่า อะไรอ่อน อะไรแข็ง อะไรหวาน เปรี้ยว เสียงต่างๆ   แต่ว่าขณะที่สติเกิด ต้องต่างจากเพียงรู้ด้วยจักขุวิญาณ หรือโสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาน  กายวิญญาณ เวลาที่กระทบสิ่งที่แข็ง สภาพรู้แข็ง  มี เป็นของธรรมดาเหลือเกิน ไม่ว่าใครก็จะต้องมีสภาพรู้แข็ง เป็นปรมัตถธรรม ถ้าใช้ภาษาบาลีก็คือ กายวิญญาณ เป็นจิตที่อาศัยกาย คือ กายปสาท  จึงรู้สิ่งที่กระทบ ลักษณะแข็งที่กระทบกาย เป็นของธรรมดา แต่เวลาที่สติปัฏฐานเกิด จะเห็นได้ว่า ในชีวิตธรรมดาประจำวันที่กระทบอ่อน แข็ง  มีขณะที่หลงลืมสติ สติปัฏฐานไม่ได้เกิดเลย กับขณะที่สติปัฏฐานเกิด ผู้นั้นจะรู้เลยว่า กระทบแข็งมาหลายครั้ง แต่ว่าก่อนๆ นี้ สติปัฏฐานไม่ได้เกิด แต่ขณะนี้สติปัฏฐานเกิด ซึ่งต่างกับเพียงกระทบแล้วรู้แข็ง แต่จะมีอาการที่ค่อยๆ รู้ กำลังรู้ตรงแข็ง หรือว่าสภาพที่รู้แข็ง ซึ่งขณะนั้นกำลังมี ใช่ไหมคะ รู้แข็งก็มี แข็งก็มี เป็นปกติ แต่มีสติ คือ มีการรู้ที่ลักษณะที่รู้ หรือว่าลักษณะที่แข็ง จึงจะกล่าวได้ว่า สติเกิดระลึกที่รู้แข็ง หรือว่าระลึกที่แข็ง ไม่ใช่เพียงกายวิญญาณที่รู้แข็งเท่านั้น


    หมายเลข 8847
    11 ก.ย. 2558