ความหมายของวิถีจิต


    สุรีย์   วันนี้เราใช้เวลาเกือบจะทั้งหมด  ในเรื่องของสติปัฏฐานซึ่งก็รู้สึกจะทำให้รู้สึกว่า อิ่มในเรื่องสติปัฏฐานขึ้นอีกสักเล็กน้อย เพราะว่าที่แล้วๆมาเราไม่ได้ปล่อย หรือเราไม่ได้ใช้เวลา หรือให้โอกาสที่จะมาพูดกันถึงเรื่องสติปัฏฐานมากนัก

    วันนี้ก็สรุปลักษณะจิตอันที่ ๑ เสร็จแล้ว คือ รู้แจ้งอารมณ์ ก็มาบวกกับการใช้เจริญสติปัฏฐานอย่างไร ก็ไปได้ไกลมาก  

    อันนี้ก็มาถึงข้อที่ ๒ คือ เป็นที่ชื่อว่า จิต เพราะสะสมสันดานตนด้วยสามารถแห่งชวนวิถี  เราก็ยังไม่ได้ขึ้นคำว่า “วิถี” เลย  อยากจะเรียนถามท่านวิทยากร เฉพาะ คำว่าวิถีคำเดียว  

    สมพร จิต หรือวิถีจิต  จิตเราก็เข้าใจแล้ว  คำว่าวิถีจิต ก็แนวทาง  ถ้าเป็นวิถีจิตก็แนวทางของจิต จิตจะเกิดขึ้นจะต้องดำเนินไปอย่างนี้ เป็นไปตามขั้นตอน เหมือนว่า เมื่อสีมากระทบอารมณ์แล้ว  อาวัชชนจิตก็เกิดขึ้น เมื่ออาวัชชนจิตเกิดขึ้น จักขุวิญญาณก็เกิดขึ้น จิตจะต้องเป็นไปโดยแนวทางอย่างนี้ ท่านจึงเรียกอีกอย่างว่า จิตนิยาม  เป็นของที่แน่นอน จะต้องเดินทางนี้ จะต้องเป็นไปอย่างนี้เสมอ คำว่า “วิถี” ก็หมายความว่าแนวทางของจิตนั่นเอง  

    สุรีย์   ทีนี้วิถีจิตก็เป็นแนวทางของจิต

    สมพร ครับ ใช่ครับ แนวทางของจิตที่จะต้องดำเนินไปอย่างนี้  เพราะว่าวิถีเราแปลได้หลายอย่าง บางทีก็แปลว่าทาง แต่ก็เหมือนอย่างวิถีทางที่เขาบอก  หรือแปลว่าแนว หรือแนวทาง ก็หมายความว่าแนวทางของจิต  แนวทางของจิตที่เกิดขึ้นแต่ละดวงจะต้องดำเนินไปอย่างนี้ เรียกว่าแนวทางของจิต

    สุรีย์   อยากจะเรียนถามท่านอาจารย์สุจินต์ วิถีจิตคืออะไร

    ท่านอาจารย์    อย่างที่อาจารย์บอกว่าเป็นทาง หรือว่าเป็นแนวทาง แต่ก็ต้องทราบว่าทางมีกี่ทาง และอะไรเป็นทาง คือ ทุกคำที่ผ่านมาก็ควรจะพิจารณาให้เข้าใจจริงๆ  ถ้าพูดถึงทางของจิตที่จะเกิดขึ้นรู้อารมณ์ ก็จะต้องมีทางตา ๑ ทางหู ๑ ทางจมูก ๑ ทางลิ้น ๑ ทางกาย ๑ ทางใจ ๑

    เพราะฉะนั้นก็สอดคล้องกันที่ว่า ถ้าเป็นวิถีจิตที่เป็นทางที่จิตจะเกิดขึ้นรู้อารมณ์ที่ไม่ใช่อารมณ์เดียวกับปฏิสนธิและภวังค์

    เพราะฉะนั้นเราก็แยกชีวิตประจำวันของเราตั้งแต่เกิดจนตายได้ว่า ขณะปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นเป็นวิบาก เป็นผลของกรรม ขณะนั้นไม่ได้รู้อารมณ์ของโลกนี้เลย ไม่ได้อาศัยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ใดๆทั้งสิ้น  เพราะว่าเป็นเพียงชั่วขณะแรกขณะเดียวที่แสนสั้น ซึ่งกรรมหนึ่งเป็นชนกกรรมทำให้จิตที่เป็นวิบากประเภทนี้เกิดขึ้น ขณะนั้นถ้าเป็นในภูมิมนุษย์ซึ่งเกิดในครรภ์ หรือว่าจะไม่ใช่ภูมิมนุษย์ก็ตามแต่  การเกิดในครรภ์ของสัตว์  ขณะนั้นก็ยังไม่มีรูปร่างครบ เพราะฉะนั้นก็มีกลุ่มของรูปเล็กๆ เล็กมาก  พร้อมกับปฏิสนธิจิต ซึ่งขณะนั้นก็ไม่ใช่ตา ไม่ใช่หู ไม่ใช่จมูก ไม่ใช่ลิ้น แต่มีกายปสาทรูปกลุ่มหนึ่งเกิดพร้อมกับปฏิสนธิ แล้วก็มีอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งเกิดพร้อมกับปฏิสนธิ คือ หทยรูป แล้วก็มีอีกกลุ่มหนึ่ง คือ ภาวะรูป

    อันนี้ก็เพียงแต่แสดงให้เห็นว่า ทันทีที่ปฏิสนธิจิตเกิด  ยังไม่รู้อารมณ์ในโลกนี้เลย ขณะสั้นๆขณะเดียว โลกนี้เป็นอย่างไรไม่สามารถจะรู้ได้ เพราะไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่ได้กระทบสัมผัสโลกนี้เลย  แต่หลังจากนั้นเมื่อภวังคจิตเกิดดับสืบต่อดำรงภพชาติ ก็ไม่ได้อาศัยทางหนึ่งทางใดเกิดขึ้นรู้อารมณ์ แต่การที่จะเห็นโลกนี้ได้ต้องอาศัยตา การที่จะได้ยินโลกนี้ หรือเสียงของโลกนี้ต้องอาศัยหู เพราะฉะนั้นจึงมีทางหรือทวารซึ่งวิถีจิตจะเกิด

    ด้วยเหตุนี้ก็แยกคร่าวๆ เป็นชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย มีจิตที่ไม่ใช่วิถีจิตประเภทหนึ่ง จำพวกหนึ่ง กับจิตที่เป็นวิถีจิตอีกจำพวกหนึ่ง ถ้าเป็นจิตที่เป็นวิถีจิตแล้วจะต้องอาศัยทางหนึ่งทางใดใน ๖ ทาง เกิดขึ้นรู้อารมณ์อื่น ซึ่งไม่ใช่อารมณ์เดียวกับปฏิสนธิ ภวังค์ จุติ

    ซึ่งทุกท่านจะเห็นได้  ขณะที่เราเกิดมาแล้วผ่านไปแล้ว ไม่มีใครสามารถจะไปทบทวนได้ แต่ชีวิตประจำวันจะมีขณะที่หลับสนิท ซึ่งขณะนั้นจะไม่มีการรู้เลยว่า อยู่โลกไหน ชื่ออะไร  มีญาติพี่น้องเท่าไร เป็นใคร นั่นแสดงให้เห็นแล้วว่า เป็นจิตที่ไม่ใช่วิถีจิตหรือทางภาษาบาลีก็ใช้คำว่าทวารวิมุติ ทวารวิมุตตจิต หมายความว่า จิตนี้ คือ  ปฏิสนธิจิต ภวังคจิต ไม่ต้องอาศัยทวาร พ้นจากทวาร จึงเป็นทวารวิมุติ  แต่เวลาตื่น ที่ใช้คำว่าตื่น  รู้ว่าอยู่ที่ไหน  โลกมนุษย์ ไม่ใช่พระอาทิตย์ พระจันทร์ ต่างๆเหล่านี้ ก็แสดงให้เห็นต้องอาศัยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจก็คิดนึก แล้วก็ถึงขณะที่หลับสนิท ก็ไม่รู้อีก ก็เป็นอย่างนี้ ตื่นขึ้นมาในโลกนี้ ๑๒ ชั่วโมง หรือกี่ชั่วโมงก็ตามแต่  แล้วก็กลับไม่รู้จักโลกนี้อีก แล้วก็ตื่นขึ้นมาอีก แล้วก็เห็นอีก ได้ยินอีก

    นี่ก็แสดงให้เห็นถึงความต่างกันของจิตที่เป็นวิถีจิตกับจิตที่ไม่ใช่วิถีจิต ที่เป็นทวารวิมุตตจิต


    หมายเลข 8849
    11 ก.ย. 2558