ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด ก็ไม่รู้ลักษณะของสักกายทิฏฐิ


    เพราะแม้สักกายทิฏฐิก็จะละเอียดไปอีก ขณะใดที่มีความคิดว่าเป็นเราแน่นอน ขณะนั้นก็เป็นสักกายทิฏฐิที่เกิดร่วมด้วย อย่างเราทำได้ มีเราที่ทำได้ เราบันดาลได้ หรือคิดว่าคนอื่นสามารถทำให้เราได้ ก็มีความเป็นตัวตน ซึ่งในขณะที่กำลังชอบสิ่งหนึ่งสิ่งใด อาหารอร่อยก็ไม่ได้มีความคิดอย่างนี้ เพราะฉะนั้นจึงจำแนก แม้โลภะความติดข้องว่าต่างกันเป็น ๒ ประเภท คือโลภะที่มีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย พอใจในความเห็นนั้น ขณะนั้นเชื่อมั่นในความเห็นนั้น ลักษณะของโลภะไม่ได้ปรากฏ มีแต่ลักษณะของความเห็นปรากฏ แต่เวลาที่ไม่มีลักษณะของความเห็นใดๆ เกิดร่วมด้วยก็จะมีลักษณะของความพอใจความติดข้องในสิ่งที่ปรากฏ เพราะฉะนั้นการที่จะรู้ลักษณะของสักกายทิฏฐิได้จริงๆ ถ้าไม่ใช่สติปัฏฐานรู้ไม่ได้เลย แต่ต้องเป็นขณะใดก็ตามซึ่งกำลังมีลักษณะหนึ่งลักษณะใดปรากฏ แล้วก็มีลักษณะของสภาพธรรมที่ยึดถือ ติดข้องว่าสิ่งนั้นเป็นเรา มิฉะนั้นเราจะไม่สามารถละสักกายทิฏฐิได้ ถ้าปัญญาไม่รู้ลักษณะของสักกายทิฏฐิในขณะนั้นว่ามีอยู่เมื่อไหร่ ขณะไหน และกำลังเกิดขึ้นปรากฏให้รู้ ซึ่งขณะหนึ่งขณะใดก็ตามแม้สักกายทิฏฐิจะเกิดหรือทิฏฐิอื่นใดจะเกิดก็ตาม ไม่ได้ปรากฏให้รู้ลักษณะเพียงแต่จำชื่อ เหมือนอยู่ในความมืด เราจำชื่อเรื่องต่างๆ ไว้หมดเลย แต่ยังไม่ได้กระทบสัมผัส ไม่ได้ระลึกตรงลักษณะของสภาพธรรมหนึ่งลักษณะสภาพธรรมใด เพราะฉะนั้นเวลาที่สติสัมปชัญญะเกิด และก็มีลักษณะของสภาพธรรมหนึ่งลักษณะสภาพธรรมใด ขณะนั้นเป็นขณะที่จะรู้ว่าจิตเป็นอะไร เป็นกุศลหรือเป็นอกุศลในขณะไหน และกุศลอกุศลในขณะนั้นมีลักษณะต่างกันอย่างไร แล้วก็ถ้าเป็นอกุศลที่เป็นโลภะความติดข้อง เป็นความติดข้องที่ยึดถืออะไรที่กำลังเป็นอารมณ์ในขณะนั้นว่าเป็นเรา ต้องมีความชัดเจน

    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 119


    หมายเลข 8771
    27 ม.ค. 2567