โลภะมูลจิตที่ไม่มีความเห็นผิด


    ผู้ฟัง ในขณะที่ฟังธรรมก็ดูเหมือนว่าปัญญาจะรู้ว่าไม่ใช่ตัวตน แต่คล้อยหลังไปไม่นานความเห็นผิดที่เชื่อว่ามันมีตัวตนเกิดขึ้น จะเรียกว่าต่อกันทันทีทันใดก็ได้ และก็เป็นอย่างนี้เกิดขึ้นมาก และเป็นเรื่องเป็นราวไปเลย ก็ยากมาก เหมือนไม่มีทางเลยที่ปัญญาจะเจริญได้ ในขณะนั้นปัญญารู้อะไร

    ท่านอาจารย์ นี่ก็เป็นเรื่องที่แสดงให้เห็นว่าต้องพิจารณาสภาพธรรมโดยละเอียด มิฉะนั้นเราก็จะคิดแต่เพียงว่ามีโลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์ทุกครั้งที่เป็นอกุศลประเภทโลภะ เพราะฉะนั้น เวลาที่บอกว่าเวลาฟังก็มีความคิดที่ค่อยๆ เข้าใจว่าไม่ใช่เรา เป็นสภาพธรรมที่มีจริง คือ จิตก็เป็นสภาพรู้เป็นใหญ่เป็นประธาน สามารถเห็น กำลังได้ยินเหล่านี้ก็เป็นจิต ส่วนเจตสิกก็เป็นสภาพธรรมที่เกิดกับจิตมีลักษณะต่างๆ กันไป ในขณะที่ฟังมีความเข้าใจอย่างนี้ แล้วที่บอกว่า เมื่อไม่ได้ฟังก็มีความเป็นเราในทันทีตลอด นี่แสดงให้เห็นว่า เรายังไม่ได้พิจารณาโดยละเอียดว่าจริงๆ แล้วความเห็นที่ว่าเป็นเราเมื่อไหร่ เช่น ขณะที่เรากำลังเห็นสิ่งที่สวยงาม กำลังติดข้อง กำลังพอใจ ลักษณะของความพอใจปรากฏเลย เราชอบสิ่งนี้เหลือเกิน สมมติว่าเป็นผ้าไหมสีสวย เราก็เห็นว่าสีนี้ยาก ไม่ค่อยจะมี ถูกใจ ความแก่ความอ่อนของสี ลักษณะของผ้าไหมก็เบาบางลึกแล้วแต่จะเป็นเนื้อยังไง นั่นคือความพอใจปรากฏ ขณะนั้นมีความเห็นอะไรที่เกี่ยวกับความเป็นเราหรือไม่ หรือว่าลักษณะของความพอใจกำลังปรากฏให้รู้ว่ากำลังพอใจในสิ่งที่ปรากฏ

    ผู้ฟัง ก็มีลักษณะของความพอใจ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นในขณะนั้นไม่มีความเห็นใดๆ ที่เกิดร่วมกับจิตที่กำลังพอใจในขณะนั้น ต่างกับที่บางคราว บางขณะ บางคน ก็จะมีความเห็นว่าเป็นเราที่ทำได้ ทำกุศลฉันก็ทำได้ ทำอกุศลฉันก็ทำได้ ฉันสามารถที่จะทำอะไรก็ได้โดยที่ไม่เข้าใจว่าแท้ที่จริงแล้วก็คือว่า “ฉันอยู่ที่ไหน” “เราอยู่ที่ไหน” ในเมื่อเป็นสภาพธรรมแต่ละอย่าง นี่ก็แสดงให้เห็นว่าขณะที่มีความเห็นอย่างนั้น ก็ขณะที่เป็นความเห็นในเรื่องของความเห็น ในเรื่องของความเป็นตัวตน แต่ขณะที่กำลังพอใจก็ไม่มีความเห็นอย่างนั้นเลย เพราะฉะนั้นจิตเกิดขึ้นเพียงหนึ่งขณะ ทีละขณะ แล้วก็ดับไปอย่างเร็วมาก เมื่อจิตขณะนี้ดับไปแล้วก็เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดขึ้น หรือว่าบางคนก็อาจจะเชื่อว่าคนอื่นสามารถจะดลบันดาลให้เราได้ ให้เขาได้ ให้ฉันได้ หรือใครก็ตาม ก็คิดว่าคนอื่นสามารถจะกระทำได้ ขณะนั้นถ้ามีความเข้าใจอย่างนั้น มีความเชื่ออย่างนั้น ถูกหรือผิด นี่ก็แสดงให้เห็นว่าขณะนั้นมีความเห็นเกิดขึ้น ซึ่งเวลาที่มีความเห็นเกิดขึ้นจะต้องมีความพอใจในความเห็นนั้นด้วยจึงเชื่อในความเห็นนั้น แต่ลักษณะของความเห็นปรากฏ แต่ลักษณะความติดข้องในความเห็นนั้นไม่ปรากฏเหมือนกับความเห็นที่กำลังปรากฏ เช่นเดียวกับเวลาที่กำลังพอใจสิ่งหนึ่งสิ่งใด แล้วไม่มีความเห็นผิดใดๆ เกิดร่วมด้วย เมื่อไม่มีความเห็นผิดใดๆ เกิดร่วมด้วยก็จะมีลักษณะของความเห็นผิดปรากฏไม่ได้ในขณะที่กำลังพอใจใ นรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ซึ่งขณะนั้นไม่มีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วยจึงไม่มีลักษณะของความเห็นผิด แต่เวลาที่มีความเห็นผิดว่าคนอื่นสามารถบันดาลได้ หรือว่าเรานี่เองสามารถจะบันดาลได้ทุกอย่างให้เกิดขึ้นในชีวิตของเรา ทำได้ทุกอย่าง ไม่รู้เรื่องเหตุ เรื่องปัจจัย เรื่องขณะที่จิตแต่ละขณะจะเกิดขึ้นได้จะต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเท่าไหร่ และจิตประเภทนี้จะไปมีเจตสิกประเภทอื่นมาเกิดร่วมด้วยไม่ได้ ถ้าไม่มีความเข้าใจอย่างนี้ขณะนั้นก็มีความเห็นผิด เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องที่ละเอียด ขณะที่เห็นถูกคือความเข้าใจ แต่ขณะที่ไม่มีความเข้าใจในขณะนั้นแล้วเป็นอกุศล ไม่ใช่หมายความว่าจะต้องมีทิฏฐิเจตสิกเกิดร่วมด้วยทุกครั้ง

    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 119


    หมายเลข 8768
    27 ม.ค. 2567