สมุฏฐานของเสียง


    บุตรสวงศ์   เราศึกษาพระอภิธรรมก็รู้แล้วว่า สัททนี้จากสมุฏฐาน ๒ เท่านั้น คือ จิตและอุตุ แต่ก็ในบางพระสูตรได้รู้ว่า คนมีเสียงไพเราะก็เพราะมีบุญ เป็นกรรมที่ทำให้เสียงไพเราะ แต่กรรมนั้นไม่เป็นสมุฏฐานให้เกิดเสียง

    ท่านอาจารย์    คือถ้าพูดถึงสภาวะของรูปต้องมีทั้งฝ่ายดีหรือฝ่ายไม่ดี เพราะเหตุว่าต้องเป็นเรื่องของกุศลวิบากและอกุศลวิบาก ไม่ว่าจะเป็นสีที่ปรากฏ หรือเสียง ก็ต้องมีที่ไพเราะ ที่ไม่ไพเราะ แม้ว่าเราจะชอบหรือเราไม่ชอบก็ตาม อย่างคนไทยเราอาจจะชอบเสียงสูงๆ เสียงแหลมๆ เสียงเล็กๆ แต่ต่างประเทศเขาต้องชอบเสียงห้าว เสียงต่ำ อย่างผู้หญิงก็ต้องไปหัดพูดให้เสียงต่ำๆ ถ้าเสียงแหลม เสียงเล็ก เขาจะบอกว่าเสียงไม่เพราะ  แต่นั่นหมายความว่า ตามอัธยาศัยว่าใครจะชอบเสียงอะไร แต่ลักษณะของเสียงเอง ต้องเป็นเสียงที่เพราะหรือไม่เพราะ มิฉะนั้นจะไม่มีคำว่า “อิฏฐารมณ์” หรือ “อนิฏฐารมณ์” ซึ่งเป็นผลของกุศลวิบากหรืออกุศลวิบากที่จะรู้เสียงนั้น ถ้าเสียงเป็นโสตวิญญาณกุศลวิบาก ต้องได้ยินเสียงที่เพราะ เราจะชอบหรือไม่ชอบก็ตามแต่ แต่เสียงนั้นต้องเป็นเสียงที่น่าฟัง แล้วถ้าเป็นอกุศลวิบาก เราก็จะได้ยินเสียงที่ไม่น่าฟัง แต่เราจะชอบหรือไม่ชอบ ไม่ใช่เอาชวนจิตของเราตัดสิน แต่หมายความว่า ต้องมีกรรมในอดีตที่ทำให้เกิดกุศลวิบากจิตที่จะได้ยินเสียง หรือจะเห็นสี หรือได้กลิ่นหอม หรือได้รสอร่อย หรือได้กระทบสัมผัสที่สบาย

    เพราะฉะนั้นสภาวะของรูปเองจะต้องมีลักษณะที่จำแนกเป็น   อิฏฐารมณ์หรืออนิฏฐารมณ์ โดยลักษณะของรูปนั้น ไม่เกี่ยวกับการที่เราจะพอใจ เพราะเราอาจจะพอใจในกลิ่นที่เป็นอนิฏฐารมณ์แล้วชอบก็ได้ นี่ประการหนึ่ง

    และอีกประการหนึ่ง ถ้าพูดถึงเรื่องของรูปซึ่งเกิดจากจิต เช่น เสียง เสียงเกิดจากจิต แต่เวลาที่เสียงเกิดจากจิตก็จริง แต่ไม่ได้หมายความว่ามีแต่เสียง ซึ่งเกิดจากจิตเท่านั้น เพราะว่าคนเราทำไมเสียงต่างกัน ทั้งที่จิตอาจจะเหมือนกันก็ได้ ใช่ไหมคะ เป็นกุศลจิตหรือเป็นอกุศลจิตก็ได้ แต่ว่าเหมือนกัน ทุกคนมีโลภมูลจิต และทำให้เกิดเสียงได้ โทสมูลจิต ทุกคนก็มี และทำให้เกิดเสียงได้ แต่ทั้งๆที่เป็นเสียงที่เกิดจากโทสะด้วยกัน เสียงก็ยังต่างกัน

    เพราะฉะนั้นนี่ก็แสดงว่า มีสมุฏฐาน คือ ความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกันของรูปที่ทำให้เกิดจิตนั้น ซึ่งก็ไม่พ้นจากกรรมด้วย เพราะเหตุว่าจริง รูปที่เกิดจากกรรมก็มีกรรมเป็นสมุฏฐาน  แล้วดับ กลุ่มนั้นทั้งหมดดับ รูปที่เกิดจากจิตก็มีจิตเป็นสมุฏฐาน แล้วก็ดับ รูปที่เกิดจากอุตุก็มีอุตุเป็นสมุฏฐานแล้วดับ ไม่ก้าวก่ายกันเลยสักกลุ่มเดียวของรูปก็จริง แต่แม้กระนั้นเมื่อเป็นรูปที่เกิดเพราะจิต แต่ส่วนสัมพันธ์ของรูปอื่นๆ เช่น ลิ้น หรือกายปสาท หรืออะไรเหล่านี้ ก็จะทำให้เสียงนั้นเปลี่ยนไปได้ อย่างคนเดียว เสียงเดียว เวลาที่ไม่สบาย ไอ เจ็บคอ แม้แต่เสียงเป็นคนเก่า แล้วจิตก็เหมือนเดิม คือ เป็นกุศลจิตที่กำลังจะพูดธรรม แต่เกิดเจ็บคอขึ้นมา เสียงของคนนั้นก็ต้องเปลี่ยนไปแล้ว

    นี่ก็แสดงให้เห็นว่า ต้องอาศัยความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับรูปอื่นด้วย เพราะว่าฐานของเสียงไม่ได้เกิดจากจิต แต่เวลาที่วจีวิญญัติจะเกิด เฉพาะกลุ่มรูปที่ทำให้เกิดเสียงเกิดจากจิต

    ที่ร่างกายทั้งหมด บางกลุ่มเกิดจากกรรม บางกลุ่มเกิดจากจิต บางกลุ่มเกิดจากอุตุ บางกลุ่มเกิดจากอาหาร เพราะฉะนั้นแสดงให้เห็นว่า กลุ่มที่เกิดจากอุตุก็เป็นสมุฏฐานด้วย

       ธงชัย  เพราะฉะนั้นถ้ามีกรรมเป็นสมุฏฐาน และจิตขณะนั้นต้องเป็นจิตที่ดีด้วย จึงจะทำให้เสียงไพเราะ

    ท่านอาจารย์    ไม่แน่ค่ะ เพราะว่าถ้าคนเสียงดี จะพูดคำอะไรเสียงก็เพราะ เฉพาะตัวเสียง ใช่ไหมคะ

    ธงชัย  แต่ก็เพราะกว่าตอนที่จิตไม่ดี

    ท่านอาจารย์    ไม่แน่อีกเหมือนกัน ถ้าจิตเป็นโลภะล่ะคะ อยากจะให้เสียงเพราะ แล้วก็ร้องเพลงเสียงดีๆ ก็ได้ ขณะนั้นร้องด้วยโลภะก็ได้

    ธงชัย  ก็ได้ครับ

    ท่านอาจารย์    ค่ะ ทั้งๆที่เป็นอกุศล

    ธงชัย  กล่องเสียงนั้นต้องมาจากกรรม

    ท่านอาจารย์    ถ้าพูดถึงเสียงที่เกิดเพราะจิตเป็นสมุฏฐาน ก็คือวจีวิญญัติรูปที่กระทบฐาน ที่ไหวไปแล้วก็กระทบฐานต่างๆ ของเสียง เพราะฉะนั้นฐานของเสียงก็ต้องแล้วแต่กรรม


    หมายเลข 8657
    11 ก.ย. 2558