พิจารณาด้วยสติสัมปชัญญะ


    หมอสัญชัย ที่จะเป็นโพชฌงค์ คือจะพูดไปก็เหมือนจะเอาอะไรมาเป็นบรรทัดฐาน เพราะว่าอย่างการมีสติธรรมดา จะเรียกว่าเป็นโพชฌงค์ได้หรือไม่ หรือการที่จะวิจัยธรรม ธรรมดาๆ จะเป็นโพชฌงค์ได้หรือไม่ หรือว่าการวางเฉย อย่างที่ว่า อุเบกขาสัมโพชฌงค์ จะเป็นขั้นไหนถึงจะเรียกว่า โพชฌงค์ หรือว่าขั้นไหนถึงจะไม่เรียกว่า โพชฌงค์

    ท่านอาจารย์ เจริญโพชฌงค์ไม่ได้หมายความว่า โพชฌงค์สมบูรณ์แล้ว ถูกไหมคะ เจริญสติ ไม่ได้หมายความว่า สติสมบูรณ์แล้ว เจริญปัญญา ไม่ได้หมายความว่า ปัญญาสมบูรณ์แล้ว

    เพราะฉะนั้นในขณะนี้ที่สติเกิด แล้วกำลังศึกษารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏเพิ่มขึ้น ก็กำลังเจริญ แต่ยังไม่สมบูรณ์

    หมายความว่า ฌานมีองค์ ๕ ฉันใด องค์ ๗ นี้ก็เป็นองค์ของการตรัสรู้ เป็นสัมโพชฌงค์ เพราะเหตุว่าฌาน ไม่ใช่วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา ไม่มีตั้งแต่ต้น มี ใช่ไหมคะ เป็นองค์ของการที่จะเจริญขึ้น จนกว่าจะถึงขั้นอัปปนาที่จะแนบแน่นในอารมณ์นั้น ฉันใด พวกโพธิปักขิยธรรมทั้ง ๓๗ ก็จะต้องค่อยๆ เจริญขึ้นจนกว่าจะถึงความสมบูรณ์ ก็รู้แจ้งอริยสัจธรรม

    ค่ะ เพราะฉะนั้นจะเอาตอนไหน อย่างไร คล้ายๆ กับจะมีเครื่องวัดว่า ตอนนี้จะเป็นโพชฌงค์ไหม หรืออะไรอย่างนี้ ไม่ต้องไปห่วงค่ะ เจริญโพธิปักขิยธรรม

    หมอสัญชัย ท่านผู้หนึ่งบอกว่า อย่างอุเบกขาสัมโพชฌงค์ถึงระดับไหน ท่านก็ตอบว่า ต้องเป็นวิปัสสนาญาณ ถึงขั้นสังขารุเบกขาญาณ ถึงจะเป็นอุเบกขาสัมโพชฌงค์ ท่านตอบว่าอย่างนี้ ผมก็เลยคิดว่า อย่างสติที่เราระลึกกันธรรมดาๆ อย่างนี้ บอกว่านี่เจริญสติสัมโพชฌงค์ จะถูกหรือไม่ หรือว่าวันหนึ่งๆ ขณะที่มีความเห็นถูก แล้วก็พิจารณาไตร่ตรองธรรม อันนี้จะเป็นธัมมวิจยสัมโพชฌงค์หรือไม่

    ท่านอาจารย์ เหมือนกับกำลังเจริญสติปัฏฐาน คือ ทั้ง ๓๗ ประการกำลังเจริญ

    ประทีป ขอเรียนถามรายละเอียดเพิ่มเติมอีกนิดหนึ่งว่า ในขณะที่องค์ทั้ง ๗ ของสัมโพชฌงค์ จะต้องเกิดพร้อมกันทั้ง ๗ องค์ ใช่ไหมครับ แล้วก็แล้วแต่สติหรือปัญญาจะระลึกรู้แต่ละองค์ที่ปรากฏ ใช่ไหมครับ

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ไประลึกรู้องค์นะคะ รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แล้วไม่ต้องไปห่วงสัมโพชฌงค์ ไม่สัมโพชฌงค์ทั้งนั้นแหละค่ะ ให้มีปัญญาค่อยๆ รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมขึ้น

    โดยทฤษฎีก็คือว่า เจริญโพธิปักขิยธรรม ไม่ใช่ไม่มีสัมมัปปธาน ไม่ใช่ไม่มีสติปัฏฐาน ไม่ใช่ไม่มีอินทรีย์ ไม่ใช่ไม่มีพละ ค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป

    เวลาที่โลกุตตรจิตเกิด หมายความว่าโพธิปักขิยธรรม ๓๗ บริบูรณ์ ทีนี้ บริบูรณ์ ถ้าไม่ค่อยเจริญมาเรื่อยๆ แล้วจะบริบูรณ์ได้อย่างไร จะไปเอาอันไหนทิ้งไว้ตรงไหน เป็นเรื่องที่เราจะต้องเข้าใจสภาพจิตด้วยสติสัมปชัญญะ ไม่อย่างนั้นก็เหมือนเราอยู่ในหนังสือ หรือเป็นเรื่องข้างนอกตัว แต่เวลาที่เกิดกับเราจริงๆ เราอาจจะไม่ทราบว่า ขณะนั้นเป็นกุศลจิตหรือว่าเป็นอกุศลจิต เพราะเหตุว่าต้องคิดถึงศัตรูใกล้ อย่างโลภะกับเมตตา เวลาที่เรารักใคร ญาติ พี่น้อง มิตรสหายใกล้ชิด เราจะทำทุกอย่างให้เขา แต่กับคนอื่นเราทำได้หรือเปล่า

    นี่เป็นเครื่องที่จะเปรียบเทียบว่า เป็นโลภะ หรือเป็นเมตตา คนในบ้านก็ใกล้ชิดกันตามลำดับ ตั้งแต่พ่อ แม่ ลูก ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อ แม่ ลูก เป็นเมตตาหรือว่าเป็นโลภะ ธรรมต้องเป็นธรรม

    เพราะฉะนั้นเราจะต้องมีสติสัมปชัญญะที่จะรู้ขณะจิตว่า ขณะใดเป็นโลภะกับบุคคลนี้ ขณะใดเป็นเมตตาแม้กับบุคคลคนเดียวกัน เพราะเหตุว่าเราจะมีแต่โลภะตลอด ถ้าเราไม่เข้าใจเรื่องเมตตา สำหรับคนที่เรารัก ใช่ไหมคะ อย่างลูก พ่อแม่จะรักใครยิ่งกว่าลูก แต่ว่าความรักเป็นอกุศล ถ้าพ่อแม่คนไหนเข้าใจจริงๆ ว่า แม้ความรักลูกที่ว่าสะอาดที่สุด หรือว่าหวังดีที่สุด ยิ่งกว่าใครก็ตามแต่ แต่ว่าขณะนั้นเป็นโลภะ หรือว่าเป็นเมตตา

    เพราะฉะนั้นความรักคนอื่นก็ไม่ต้องพูดถึง หมายความว่า ก็ยิ่งจะรู้ว่าเป็นโลภะหรือว่าเป็นเมตตาได้ แต่สำหรับลูก ถ้าเราฉลาดพอที่จะรู้ว่า เรารัก ไมใช่เมตตา ก็คือในขณะที่ทำให้เราเกิดความทุกข์ ถ้าเราคิดว่าลูกเรา ที่จะเป็นเมตตา คือ เหมือนลูกคนอื่น หรือว่าไม่ต้องลูกหรอกค่ะ เหมือนคนอื่น แล้วสิ่งที่เราทำต่อลูกเรา เหมือนกับที่เราสามารถทำให้กับคนอื่น ตัดเยื่อใยความผูกพันว่าของเรา หรือว่าลูกของเราออก

    ถ้าสมมติคนในบ้านเรา เป็นแม่ ก็มีลูก เป็นพี่ก็มี เป็นน้องก็มี เป็นคนรับใช้ก็มี คนในบ้าน ถ้าเราสามารถทำกับบุคคลทั้งหมดเสมอกัน ด้วยจิตใจที่โอบอ้อมอารี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ หวังดี คิดถึงเขาว่า ลูกเราก็อยากรับประทานอาหารอร่อย พี่เราก็รับประทานอาหารอร่อย น้องเรา จะไม่ใช้คำว่า น้อง พี่ อะไรๆ ได้หมด เพราะว่าทุกคนเหมือนกันหมด

    เพราะฉะนั้นการกระทำของเราที่มีต่อบุคคลในบ้านทุกคนเสมอกันขณะไหน ขณะนั้นเป็นเมตตา แต่ถ้ามีความไม่เสมอกัน ส่วนที่ไม่เสมอ อะไรทำให้ไม่เสมอ สามารถที่จะจับได้ว่า อะไรทำให้ไม่เสมอ ซึ่งความจริงแล้วถ้าเป็นกุศลแล้ว เสมอค่ะ กุศลก็ต้องหวังดีต่อทุกคนเท่าๆ กัน เสมอกัน แต่ถ้ามีความไม่เสมอ เราก็ต้องมีเหตุผลว่า ที่ไม่เสมอนั้นเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล ถ้าสมมติว่าไม่เสมอกับมารดา เพราะเหตุว่ามารดาเป็นผู้มีพระคุณ อันนั้นเป็นกุศล ไม่ใช่เป็นโลภะค่ะ แต่ต้องมีเหตุผลว่า ที่ไม่เสมอ เป็นเพราะเหตุว่าระลึกถึงพระคุณของท่าน เพราะฉะนั้นท่านเป็นผู้มีคุณมากกว่าคนอื่น

    เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราทำต่อมารดาก็ต้องมากกว่าคนอื่น ถ้าขณะนี้ก็เป็นกุศล แต่ถ้าเรารักแม่เรามาก ขณะนั้นเราไม่ได้คิดถึงพระคุณของแม่เลย แต่ว่าเป็นแม่ของเรา เราก็ต้องรักแม่ล่ะ ขณะนั้นก็ต้องเป็นโลภะ ฉันใด กับลูกก็ต้องเหมือนกัน ฉันนั้น หรือกับญาติพี่น้อง แล้วก็ขยายวงกว้างออกไปจนถึงเพื่อนฝูงมิตรสหาย ก็ต้องเป็นอย่างนั้น

    คือ เมตตานี่ไม่ใช่แต่เฉพาะต่อหน้า แม้ลับหลังเวลาที่คิดถึง ก็คิดถึงด้วยเมตตา ไม่ใช่คิดถึงด้วยโลภะ

    สามารถเมตตาได้ ไม่เห็นจะยากอะไรนี่ค่ะ ก็หัดค่ะ หัดแล้วเราจะไม่มีศัตรูเลย เป็นสิ่งที่สบายมาก คือว่า ศัตรูก็อยู่ที่ใจของเรา ในเมื่อเราคิดว่า เขาเป็นศัตรู แต่เมื่อไรที่เราไม่ได้คิดว่า เขาเป็นศัตรู แม้ว่าเขาเป็นศัตรู เพราะว่าเขาไม่ชอบเรา ใช่ไหมคะ แต่เราไม่ได้มีจิตเหมือนกับเขา เรายังมีความหวังดี ยังมีการคิดที่จะช่วยเหลือเกื้อกูล ขณะนั้นเราสบาย แล้วเราก็ไม่ถือว่า เขาเป็นศัตรู เขาไม่ชอบเรา เรื่องของเขา เราจะให้คนทั้งโลกชอบเราได้อย่างไร เราก็ต้องมีคนไม่ชอบเราล่ะ ใช่ไหมคะ ไม่ชอบเรา เรื่องของเขา แต่เรื่องของเราไม่เดือดร้อนเลย ใช่ไหมคะ ถ้าคนที่ไม่ชอบเรา จะอยู่ตรงนี้ เราก็ยังเป็นเพื่อนกับเขาได้ หวังดีต่อเขาดี ทำดีต่อเขาได้


    หมายเลข 8661
    25 ก.ย. 2566