ตั้งมั่น (สมาธิ) ต่างจากสงบ


    ท่านอาจารย์ สัมโพชฌงค์หมายถึงองค์ธรรมในขณะที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม เหมือนกับองค์ฌานมี ๕ แต่เวลาที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม องค์ของการตรัสรู้มี ๗ นี่เป็นการแสดงความต่างกันของการเจริญสมถภาวนากับการเจริญวิปัสสนาภาวนา

    ถ้าเจริญสมถภาวนาต้องอาศัยวิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตาที่จะถึงปฐมฌาน ฉันใด การที่มัคคจิตจะเกิด องค์เหล่านั้นทั้ง ๗ องค์ก็จะต้องพร้อมเป็นองค์ของการที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม

    ซึ่งคำถามเป็นเรื่องของเอกัคคตาเจตสิกซึ่งเป็นสมาธิสัมโพชฌงค์ กับปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ ใช่ไหมคะ องค์ธรรมต่างกัน เพราะเหตุว่าปัสสัทธิเป็นเจตสิกที่ทำให้จิตสงบ เจตสิกดวงหนึ่งชื่อว่า จิตตปัสสัทธิ ทำกิจให้จิตสงบระงับ แล้วกายปัสสัทธิ ก็เป็นเจตสิกอีกดวงหนึ่ง ให้ทราบว่า การที่จะสงบได้ หรือลักษณะสภาพความสงบจะเกิด ก็จะต้องเป็นเพราะลักษณะของเจตสิกทั้ง ๒ ปรากฏหรือเกิด ถ้าเจตสิกทั้ง ๒ ไม่เกิด เราจะไปเข้าใจว่า ขณะที่เป็นสมาธินั่นสงบ แต่ไม่มีอาการของจิตตปัสสัทธิหรือกายปัสสัทธิเลย ซึ่งความจริงแล้วลักษณะของสมาธิเป็นสภาพที่ตั่งมั่นในอารมณ์ ไม่ใช่ลักษณะของความสงบเลย ใครที่เข้าใจว่า ทำสมาธิแล้วสงบ จะรู้ได้ว่า ถ้าเป็นมิจฉาสมาธิ ไม่มีจิตตปัสสัทธิและไม่มีกายปัสสัทธิ เพราะเหตุว่าจิตตปัสสัทธิและกายปัสสัทธิเป็นโสภณสาธารณเจตสิก ต้องเกิดกับกุศลจิตหรือโสภณจิตทุกประเภท

    นี่ก็แสดงให้เห็นว่า ถ้าไม่ศึกษา เราก็จะเอาสมาธินั้นมาเป็นปัสสัทธิ แต่ตามความเป็นจริงปัสสัทธิต่างหากจากสมาธิ สมาธิเป็นอกุศลได้ เป็นมิจฉาได้ แต่ปัสสัทธิเป็นอกุศลไม่ได้ เป็นมิจฉาไม่ได้ เพราะเหตุว่าต้องเป็นโสภณสาธารณเจตสิก เกิดกับโสภณจิตทุกประเภท

    ถาม   ...

    ท่านอาจารย์ แน่นอนค่ะ ไม่มีค่ะ เพราะเหตุว่ามิจฉาสมาธิเป็นอกุศล ลักษณะของสมาธิไม่เปลี่ยน คือ ตั้งมั่น แต่ในขณะที่ตั้งมั่น แล้วคิดว่าสงบ  เข้าใจผิด เพราะเหตุว่าเป็นกุศล ตราบใดที่สัมมาสมาธิไม่เกิด หรือเวลาที่สัมมาสติเกิดเล็กๆน้อยๆ แม้ว่าจะมีสมาธิ คือเอกัคคตาเจตสิกซึ่งเป็นกุศล แล้วก็มีกายปัสสัทธิ มีจิตตปัสสัทธิ แต่เร็วแล้วก็น้อยมากจนไม่ปรากฏ ต่อเมื่อใดความสงบเพิ่มขึ้น เมื่อนั้นจึงจะรู้ว่า ความสงบคืออย่างนี้ ไม่ใช่สมาธิ

    เพราะฉะนั้นผู้ที่เจริญปัญญาที่ลักษณะของกายปัสสัทธิและจิตตปัสสัทธิจะไม่ปรากฏ ไม่มี จึงได้รู้ความต่างกันว่า สมาธิไม่สงบ สมาธิเป็นแต่เพียงสภาพที่ตั้งมั่นในอารมณ์

    เพราะฉะนั้นถ้าเป็นสัมมาสมาธิที่เกิดกับสัมมาทิฏฐิและสัมมาสติ ขณะที่ตั้งมั่นจะทำให้มีความชัดเจนของการรู้แจ้งในลักษณะของอารมณ์นั้น ด้วยกำลังของสมาธิที่เกิดร่วมด้วยในขณะนั้นซึ่งตั้งมั่นในอารมณ์นั้น แต่ในขณะนั้นก็จะต้องมีลักษณะความสงบจริงๆ ซึ่งไม่ใช่ลักษณะของสมาธิ

    ธงชัย  ธรรมดาๆก็ต้องมีอยู่แล้ว เพราะเป็นสัพพจิตตสาธารณเจตสิก

    ท่านอาจารย์ แต่เล็กน้อยมากเหลือเกินค่ะ

    ธงชัย  ที่พูดนี่หมายความว่า จวนจะได้บรรลุมรรคผลแล้วใช่ไหมครับ องค์ธรรมนี้

    ท่านอาจารย์ องค์ธรรมของการตรัสรู้

    ธงชัย  ถ้ามาพูดระดับล่าง นี่ก็แสดงว่า

    ท่านอาจารย์ แน่นอนค่ะ แล้วก็ต้องค่อยๆเจริญขึ้น ข้อสำคัญที่สุด คือ กุศลเล็กๆน้อยๆ ในวันหนึ่งๆ น้อยมากจนไม่ได้สังเกตลักษณะที่ต่างกันของกุศลจิตกับอกุศลจิต แล้วพออบรมเจริญปัญญาที่เป็นสติปัฏฐาน ความรู้ที่ค่อยๆเพิ่มขึ้นก็น้อยมาก เพราะเหตุว่าต้องเป็นการรู้ชีวิตจริงๆ เพราะว่าทุกคนมีโลภะ ทุกคนก็ยังทิ้งโลภะไม่ได้ แล้วบางคนก็อาจจะคร่ำครวญกับโลภะของตัวเองว่า ทำไมถึงได้มากอย่างนี้ แต่ไม่ใช่เรื่องคร่ำครวญค่ะ เป็นเรื่องปัญญาที่จะต้องอบรมแล้วก็รู้ลักษณะของโลภะตามความเป็นจริง

    เพราะฉะนั้นการเจริญสติปัฏฐาน คู่กันไประหว่างอกุศลกับกุศล  จะทิ้งอกุศลทันทีไม่ได้ ไม่มีใครทิ้งได้ เพราะเหตุว่ามีปัจจัยที่อกุศลจะเกิด เรายังรับประทานอาหารอร่อย เรายังฟังเสียงนกแล้วรู้สึกว่าเพราะดี เพราะฉะนั้นอกุศลจิตก็เกิดเพราะมีเหตุปัจจัย แต่ก็มีปัจจัยให้ปัญญาค่อยๆเจริญขึ้น ค่อยๆเพิ่มขึ้น ค่อยๆสังเกต ค่อยๆรู้ขึ้นในสภาพธรรมตามปกติตามความเป็นจริง

    เพราะฉะนั้นใครก็ตามที่จะหนีชีวิตจริงๆในขณะนี้ หรือขณะอื่นๆ ซึ่งมีปัจจัยเกิดขึ้น แล้วก็จะไปบังคับ ไปข่ม ไปทำอะไรก็ตามด้วยความไม่รู้ นั่นไม่ใช่ปัญญาเลย เพราะเหตุว่าการที่จะละคลายการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน แต่ละคนต้องรู้สภาพธรรมจริงๆ ซึ่งเกิดกับตน ตามเหตุตามปัจจัย จึงจะรู้ได้ว่า ธรรมทั้งหลายเกิดเพราะเหตุปัจจัย อย่างโทสะจะเกิด ความขุ่นใจจะเกิด ก็ห้ามไม่ได้ มีเหตุปัจจัยก็เกิดแล้วจึงปรากฏ แต่ปัญญาจะต้องรู้ว่า ขณะนั้นเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ไม่มีใครไม่รู้เวลาโกรธ ใช่ไหมคะ ความโกรธมีลักษณะอย่างไร ไม่สบายใจอย่างไร เดือดร้อนใจอย่างไร หงุดหงิดอย่างไร เป็นห่วง เป็นทุกข์อย่างไร ทุกคนรู้จัก แต่ว่าเมื่อเกิดแล้ว ผู้ที่อบรมเจริญปัญญาก็จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมลักษณะนั้นว่า เป็นแต่เพียงธรรมชนิดหนึ่ง ลักษณะหนึ่ง ไม่มีใครต้องการให้เกิดก็เกิด หรือว่าธรรมอื่นมีใครอยากให้เกิดก็ไม่เกิด เพราะเหตุว่าแต่ละขณะจิตต้องอาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้น

    การที่รู้ถึงเหตุปัจจัยจะทำให้คลายการที่จะไปพยายามทำอย่างอื่น แล้วก็ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ตามความเป็นจริง

    เพราะฉะนั้นการเจริญกุศลจึงต้องเป็นปกติในชีวิตประจำวัน การละคลายก็ละคลายจากการยึดถือโลภะบ้าง โทสะบ้าง เห็นบ้าง ได้ยินบ้าง ว่าเป็นตัวตน เจริญคู่กันไปค่ะ แต่ทางฝ่ายอกุศลก็จะต้องมากกว่า เพราะเหตุว่ามีปัจจัยที่จะเกิดบ่อยกว่า แต่ทางฝ่ายกุศล จริงๆแล้วมีกำลัง แต่กำลังน้อยหรือกำลังมาก ถ้าในขณะที่ยังไม่เจริญมาก ก็มีกำลังเล็กๆน้อยๆ พอที่จะแทรกเกิดได้ อย่างวันนี้เราก็มีกุศลแทรกเกิดขณะที่ฟังวิทยุ หรือขณะที่สนทนาธรรม ก็ยังมากกว่าหลายคนที่เกิดมาในชาตินี้ แต่ก็ประมาทไม่ได้ เพราะถึงมากอย่างไรก็ลองเทียบกับอกุศลในวันนี้ว่า มากแค่ไหน

    เพราะฉะนั้นก็ต้องค่อยๆขยับไป คู่กันไปเรื่อยๆ จนกว่าทางฝ่ายกุศลมีกำลังเมื่อไร ก็สามารถดับอกุศลตามลำดับขั้นได้ แต่ไม่ผิดปกติ ต้องเป็นปกติจริงๆ


    หมายเลข 8660
    11 ก.ย. 2558