อกุศลวิบากนำมาซึ่งอิฏฐารมณ์


    คุณหญิงณพรัตน์   กายวิญญัติรู้สึกจะเห็นได้ถนัด อย่างเช่นเราดูทีวี เขาจะแสดงให้เห็นจากตา แสดงอาการโกรธ แสดงอาการชอบใจ รู้สึกว่าง่ายกว่าวจีมั้งคะ

    ท่านอาจารย์    เราอาจจะคิดว่า เราเห็นกายวิญญัติของเขา แต่ความจริงถ้าจะเห็นได้ คือเพียงสี ซึ่งกายวิญญัติมีค่ะ แล้วทำให้สีเปลี่ยนจากปกติที่เราเคยเห็น เพราะฉะนั้นความที่จิตเป็นมนินทรีย์สามารถรู้แจ้งอารมณ์ อย่างทางตา สีของตาจะไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นเขาแสดงอารมณ์ต่างๆทางตาได้ แต่ที่เห็นคือสี เพราะฉะนั้นเมื่อเห็นสีอย่างนี้ ความจำจึงจำความหมายว่า สีอย่างนี้ ความหมายของใจที่เป็นเหตุให้เกิดสีอย่างนี้คืออะไร เพราะว่าจะรู้ความหมายของใจที่ทำให้เกิดสีนั้น ซึ่งเป็นกายวิญญัติ แต่ต้องเห็นสีอย่างเดียว

    ประทีป   วจีวิญญัติรูปทำให้เกิดเสียงขึ้น นาย ก. อาจจะเป็นอนิฏฐารมณ์ นาย ข. อาจจะเป็นอิฏฐารมณ์ ใช่ไหมครับ

    ท่านอาจารย์    สภาพของรูปจะมี ๒ อย่าง คือ อิฏฐารมณ์กับอนิฏฐารมณ์ ถ้ามิฉะนั้นแล้วก็จะไม่มีกุศลวิบาก อกุศลวิบาก ถ้าเป็นกุศลวิบาก ก็จะเห็นรูปที่น่าพอใจ ได้ยินเสียงที่น่าพอใจ ได้กลิ่นที่น่าพอใจ ลิ้มรสที่น่าพอใจ กระทบสัมผัสสิ่งที่น่าพอใจ นั่นคือกุศลวิบาก ถ้าเป็นอกุศลวิบาก ก็ตรงกันข้าม

    เพราะฉะนั้นการที่จะบอกว่า ขณะนี้เป็นกุศลวิบากสำหรับเรา หรือว่าเป็นอกุศลวิบากสำหรับเรา เพราะเราชอบไม่ได้ เพราะเหตุว่าวิบากจิตเกิดก่อนชวนวิถีจิต เมื่อเห็นแล้ว เมื่อเห็นแล้วจะชอบหรือไม่ชอบนั้นเป็นเรื่องของการสะสม  เราอาจจะเห็นสิ่งที่ไม่น่าดู แต่เราชอบดูก็ได้ หรือได้กลิ่นไม่หอมเลย แต่เราชอบกลิ่นนั้นก็ได้ หรือรสที่ไม่อร่อย แต่เราก็ชอบได้ รสขมๆ รสเบียร์ รสอะไรต่างๆ แต่เราก็ชอบในรสนั้น

    เพราะฉะนั้นให้ทราบว่า วิบากจิตเกิดก่อนชวนจิต


    หมายเลข 8658
    11 ก.ย. 2558