รูปหยาบ - รูปละเอียด


    ถาม   รูปไกลล่ะครับ

    ท่านอาจารย์    รูปไกลก็ยากต่อการพิจารณา

    ถาม   สุขุมรูปคืออะไร

    ท่านอาจารย์ สุขุมรูปเป็นรูปที่ละเอียด

    ผู้ฟัง   อย่างรูปหยาบ ก็อย่างเช่น ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม และสุขุมรูป อย่างเช่น รูปเบา รูปอ่อน รูปควรแก่การงานใช่ไหมครับ

    ท่านอาจารย์ ค่ะ รูป ๒๘ รูป แบ่งเป็นรูปหยาบเท่าไร รูปละเอียดเท่าไร ถ้าเราจำจำนวนได้

    ผู้ฟัง   สุขุมรูปมี ๑๘ ใช่ไหมครับ

    ท่านอาจารย์    สุขุมรูป ๑๖ วิธีจำนี่ไม่ยากเลย มันคล้องจองกับเหตุผลกับสติปัฏฐาน อย่างรูปหยาบ สี ถือว่าหยาบ เพราะปรากฏ เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ๗ แล้วใช่ไหมคะ โผฏฐัพพะ ได้แก่ ธาตุดิน ธาตุไฟ ธาตุลม และสี เสียง กลิ่น รส เป็น ๗ ตาก็หยาบ หูก็หยาบ จมูก ลิ้น กายหยาบ อีก ๕ รูป รวมทั้งหมดรูปหยาบมี ๑๒ รูป ที่เหลือเป็นรูปละเอียดเท่านั้น

    เพราะแบ่งรูปหลายนัย รูปหยาบกับรูปละเอียด เพราะจริงๆ รูปมี แต่เราจะรู้หรือ อย่างหทยวัตถุ เราก็ไม่รู้ โอชารูป เราก็ไม่รู้ ธาตุน้ำเราก็ไม่รู้

    เพราะฉะนั้นจะกล่าวเป็นรูปหยาบไม่ได้ รูปหยาบก็คือรูปที่ปรากฏให้เห็น ให้รู้ ให้เข้าใจได้ เพราะว่าสืบต่ออยู่ตลอดเวลา อย่างทางตา สีก็ปรากฏอยู่เรื่อยๆ ถ้าอย่างนี้ไม่หยาบ แล้วรูปอะไรจะไปหยาบ ในเมื่อไปปรากฏให้เห็น เสียงก็ปรากฏให้ได้ยิน รวมความว่า อารมณ์ทางตา ๑ ทางหู ๑ ทางจมูก ๑ ทางลิ้น ๑ ทางกาย ๓ เป็น ๗ รูป สี เสียง กลิ่น รส ๔ แล้ว โผฏฐัพพะอีก ๓ เป็น ๗ และเพิ่มจักขุปสาทรูป เพราะว่าถ้าไม่มีจักขุปสาทรูป ไม่มีทางที่เราจะรู้รูปที่กำลังปรากฏทางตาได้ ถ้าตาเราบอดเดี๋ยวนี้ ไม่มีทางว่า มีอะไรปรากฏในห้องนี้เลย หรือถ้าหูหนวก เสียงก็ไม่ปรากฏ อย่างไรๆเสียงก็ไม่ปรากฏ

    เพราะฉะนั้นสี เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ๗ รูป ต้องอาศัยปสาท ๕ รูปจึงสามารถปรากฏได้ เพราะฉะนั้นทั้ง ๑๒ รูป เป็นรูปหยาบ ที่เหลือแม้มีก็ไม่ปรากฏ เพราะฉะนั้นเป็นสุขุมรูปทั้งหมด

    เพราะฉะนั้นที่ตัวเรา เราว่ามีทั้งตัว ตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า ความจริงไม่มีอะไร เพราะว่ารูปแต่ละรูปก็เหมือนโต๊ะ เก้าอี้ เขาก็เกิดดับไปเรื่อยๆ ไฟฟ้า หรือไมโครโฟนก็เกิดดับไปเรื่อยๆ รูปอื่นที่ตัวก็เหมือนอย่างนั้น คือว่าเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปอยู่เรื่อยๆ ไม่มีความหมายอะไร แต่ความหมายอยู่ตรงที่ว่า เมื่อรูปสีกระทบตา มีจิตเห็นเกิดขึ้น แค่นี้ ตรงนี้ตรงเดียวคือจิต ๑ ขณะ ซึ่งปรากฏเป็นโลก

    เพราะฉะนั้นที่เราจะไม่เห็นว่าเป็นตัวตน เราต้องย่อยลงมาจนกระทั่งมองถึงความจริงทะลุปรุโปร่งด้วยสติสัมปชัญญะที่ระลึกและรู้ลักษณะที่เป็นนามธรรมที่แยกขาดจากรูปธรรมว่า ในขณะหนึ่งที่ปรากฏ มีสภาพรู้ซึ่งกำลังมีสีกำลังปรากฏ ไม่มีเราเลยทั้งหมด ก็เหมือนรูปอื่นๆ ที่บังเอิญมาอยู่ตรงนี้ ใช่ไหมคะ แข็งๆ อ่อนๆ ตรงโน้นก็แข็งๆ อ่อนๆ ตรงนี้ มันก็ไม่มีความหมาย มันก็เกิดดับไปเรื่อยๆ แต่ว่าข้อสำคัญที่สุดก็คือว่า มันมีสมุฏฐานที่ทำให้ต่างกับรูปที่ไม่มีชีวิต แต่จริงๆแล้ว ถึงอย่างนั้นก็ไม่ได้ปรากฏ ถึงแม้ว่าจะมีความต่าง แต่ความต่างนั้นก็ไม่ปรากฏเท่ากับชั่วขณะที่เกิดแล้วยังไม่ดับ แล้วกระทบกับปสาท รูปจึงจะปรากฏได้

    เพราะฉะนั้นจึงทรงจำแนกหรือทรงแสดงว่า รูป ๑๒ รูป เป็นรูปหยาบ ตัวเราไม่มีค่ะ ไม่มีจริงๆ อย่าไปคิดว่ามี มีชั่วขณะที่รูปกระทบตาแล้วปรากฏว่ามีสิ่งที่ปรากฏ ยังไม่เอาเรื่องราวอะไรมาต่อเลย มันมีอยู่แค่นั้นแล้วมันก็ดับ ไม่มีปอด ตับ หัวใจ เลือด สูบฉีดอะไรทั้งหมด นั่นเป็นเรื่องราวของธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า

    เพราะฉะนั้นการที่จะรู้ความจริงว่า ไม่มีตัวตน ก็ต้องมีความรู้เฉพาะอย่างซึ่งกำลังปรากฏขณะนั้นทันที แล้วมันก็ปรากฏเร็วมาก จากตามาหู นี่ก็แสดงให้เห็นว่า ส่วนอื่นไม่มีความสำคัญเลย  เราจะไปเกี่ยวโยงกับสมอง กับอะไร นั่นก็เป็นเรื่องคิดนึกหมด แต่จุดสำคัญก็คือว่า ต้องมีรูปที่เป็นโสตปสาทกับเสียงที่ยังไม่ดับ เป็นปัจจัยให้จิตได้ยินเกิดขึ้นแล้วดับ หมดไปอีกแล้ว

    นี่คือความจริงที่ว่า มันมีทีละชั่วขณะจิตเดียว แล้วก็หมด และส่วนอื่นก็มีแต่ความทรงจำทั้งนั้น รูปทุกกลาปมีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะซึ่งแสนเร็ว เพราะฉะนั้นเวลานี้รูปทุกกลาปที่นี่ก็เกิดดับ รูปทุกกลาปที่นี่ก็เกิดดับ รูปทุกกลาปที่นี่ก็เกิดดับ

    เพราะฉะนั้นมันไม่มีค่าอะไรเลย ในเมื่อมันไม่ปรากฏ ใช่ไหมคะ แล้วมันก็ดับเร็วมากด้วย ไม่มีความรู้สึกว่าหนักหรือเบา จนกว่าจะกระทบกายปสาท จึงจะรู้ว่าตรงนั้นมีรูป ซึ่งเป็นปัจจัยให้กายวิญญาณเกิดขึ้นรู้รูปนั้นและดับด้วย มันไม่ได้เที่ยงเลย มีแล้วหามีไม่ มีก็เหมือนไม่มี

    ถาม   เวลาสติเกิดระลึกรู้ลักษณะของความตึง ความไหว ขณะนั้นก็เป็นลักษณะของธาตุลมอยู่แล้วใช่ไหมครับ หมายความว่าที่ตึงที่ไหวก็เป็นของวาโยธาตุเลย

    ท่านอาจารย์ ค่ะ เป็นตัวธาตุลม

    ผู้ฟัง   ธาตุลมเลย

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นสัจญาณต้องฟังจนกระทั่งเข้าใจ จนกระทั่งมีความมั่นคง เป็นปัจจัยให้สติมีการระลึก และความรู้ทั้งหมดที่เราได้จากการศึกษาปริยัติ ก็มาเกื้อกูลทำให้เราสามารถเข้าใจถูก แต่กว่าจะเข้าใจถูกอย่างนั้นจริงๆ ก็เท่ากับลอกอวิชชา ความไม่รู้ ออกเป็นชั้นๆ ๆ ๆ ๆ กว่าจะถึงสภาพธรรมตามความเป็นจริง


    หมายเลข 8633
    11 ก.ย. 2558