รู้ชัดคือรู้ที่ตัวจริงของธรรม


    ชาลิก  ผมก็ยังไม่รู้อะไรมาก ไม่ทราบเข้าใจอะไรถูกต้องหรือเปล่า คำว่า “ละ” หมายถึงการตัด เลิกคิดว่าคือเรา

    ท่านอาจารย์    ไม่ใช่ค่ะ

    ชาลิก  อย่างไรครับ

    ท่านอาจารย์    เพราะเหตุว่าถ้าบอกให้ละ ละอย่างไร ละได้หรือ เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าท่านไม่สอนในสิ่งที่คนทำไม่ได้ จะไปบอกให้ละ โดยไม่แสดงหนทางละไม่มี ต้องแสดงหนทางละ โดยรู้ รู้จากไหน จากการฟัง จากการศึกษา เมื่อค่อยๆฟัง ค่อยๆศึกษา ค่อยๆเข้าใจขึ้น ความรู้อีกระดับหนึ่งจะเกิดพร้อมกับสติสัมปชัญญะที่ไม่ใช่ฟังเรื่องราวของจิต เจตสิก รูป ขณะนี้คุณชาลิกกำลังเห็น กำลังฟังเรื่องเห็น แต่ยังไม่รู้ตัวจริงที่เห็นเป็นสภาพธรรม เป็นธาตุชนิดหนึ่งซึ่งเห็น แต่เรากำลังฟังเรื่องชื่อ ตา จักขุ วิญญาณ เห็น ให้ละเสีย นี่เราฟังเป็นเรื่องเป็นราว แต่ตามความเป็นจริงแล้วไม่ใช่เพียงแต่ให้ฟังแล้วไปละ ซึ่งไม่มีใครทำได้ แต่ต้องฟังแล้วมีความเข้าใจขึ้นในลักษณะของสภาพธรรม

    เพราะฉะนั้นการฟังพระธรรมให้ทราบว่า ขณะไหนที่ฟังเรื่องของจริง พิสูจน์ได้ เข้าใจได้ ค่อยๆเข้าใจขึ้น นั่นคือได้ฟังธรรมของพระพุทธเจ้า มิฉะนั้นแล้วจะไม่ใช่เลย ใครจะมาบอกให้เราละ จะละได้อย่างไรในเมื่อเราไม่รู้ แล้วจะไปปฏิบัติ ปฏิบัติอะไรในเมื่อไม่รู้ แต่สิ่งที่กำลังมีเดี๋ยวนี้ พอฟังแล้วเข้าใจ นี่คือการอบรมแล้ว เริ่มที่จะเข้าใจ ถ้าไม่เข้าใจแล้วละไม่ได้ อย่างไรๆก็ละไม่ได้ เพราะละเป็นปัญญา ปัญญาก็ไม่ใช่เรา แล้วถ้ายังไม่มี ยังไม่เกิด จะไปเอาปัญญาที่ไหนมาละ นอกจากอบรมจนกว่าปัญญาจะเกิดขึ้นเป็นลำดับขั้น ถึงต้องอาศัยการฟัง และการฟังนั้นฟังเพื่อเข้าใจ ถ้าฟังแล้วไม่เข้าใจ ก็ไม่มีประโยชน์อีกเหมือนกัน เสียเวลาเป็นชั่วโมง แต่พอฟังแล้วเข้าใจขณะไหน ขณะนั้นจะสะสมสำหรับฟังต่อไปคราวหน้าก็เข้าใจเพิ่มขึ้น

    เพราะฉะนั้นให้ทราบว่า การศึกษาธรรมมีหลายระดับ ระดับขั้นปริยัติ เรียกว่าการฟัง การอ่านเรื่องราวของธรรม นั่นคือปริยัติ แต่เวลาที่ฟังแล้ว เข้าใจแล้ว มันไม่ใช่มีแต่เรื่อง เห็นมีจริงๆ ได้ยินก็มีจริงๆ เพราะฉะนั้นไม่ใช่มีแต่เรื่อง มันมีตัวจริงของธรรม ซึ่งปัญญาอีกขั้นหนึ่งจะค่อยๆระลึกรู้ลักษณะที่เป็นตัวจริงๆ เอาชื่อออกหมด แล้วค่อยๆเห็นความจริงของลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่าง

    อันนี้ถึงค่อยๆไปสู่ความรู้ชัด พอรู้ชัดเมื่อไร ไม่มีความสงสัยเลยว่า ไม่ใช่ตัวตนนั้นคืออย่างนี้ ตรงคำแรกกับคำสุดท้ายตลอด จะไม่เปลี่ยนแปลงเลยว่า นามธรรมเป็นธาตุรู้ เป็นสิ่งที่มีจริง ไม่มีรูปร่างใดๆเจือปนเลย เป็นลักษณะรู้ ขณะนี้มีนามธรรม ก่อนเห็นก็มีนามธรรม เกิดมานี่คือมีนามธรรมเกิด ทุกอย่างคือนามธรรม ไม่เคยหายไปเลยตั้งแต่เกิดจนตาย แต่ว่าเกิดดับเปลี่ยนแปลงเร็วมาก จนกระทั่งไม่สามารถรู้ได้ว่าเป็นสภาพนามธรรมหรือรูปธรรม เพราะมันติดกันแน่น ก็เลยปรากฏเหมือนเที่ยง แต่ถ้าไม่เที่ยงคือขณะใดที่เกิดแล้วก็ดับทันที นั่นคืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อริยสัจ

    เพิ่มสมบัติ   แต่มันใกล้กันเหลือเกินที่อาจารย์ว่าฟังแต่เรื่อง ก็คือรู้แต่เรื่อง ถ้าไม่เข้าใจ

    ท่านอาจารย์    เข้าใจเรื่องไง

    เพิ่มสมบัติ   เข้าใจเรื่อง

    ท่านอาจารย์    ค่ะ แต่ไม่รู้จักตัวจริง

    เพิ่มสมบัติ   ก็เหมือนเข้าใจแล้ว ทำไมไม่รู้สภาพธรรม

    ท่านอาจารย์    เข้าใจเรื่องก่อน เข้าใจเรื่องจนกระทั่งเป็นปัจจัยให้มีการระลึกขึ้นมาได้ว่า ไม่ใช่มีแต่เรื่อง  มันมีตัวจริงด้วย อย่างพูดถึงได้ยิน

    เพิ่มสมบัติ   ผู้ที่เข้าใจแต่เรื่อง  แต่เขาไม่เข้าใจตัวจริงก็มี

    ท่านอาจารย์    ก็เป็นการศึกษาขั้นปริยัติ

    เพิ่มสมบัติ   เพราะฉะนั้นก็ต้องทั้งเข้าใจเรื่องและเจริญสติ

    ท่านอาจารย์    แล้วแต่สติ เราบังคับไม่ได้ มีสติทำไม มีเพื่อให้รู้ว่า ของจริงเดี๋ยวนี้ตรงกับที่เราเรียน  นี่คือสติเขาเริ่มระลึกที่จะไม่ต้องอาศัยคำพูดใดๆทั้งสิ้น  แต่กำลังค่อยๆเข้าใจตัวจริงๆของธรรม ไม่ใช่เพียงเรื่องราวเท่านั้น

    เพราะฉะนั้นถึงต้องแยกธรรมออกเป็น ๒ อย่าง นามธรรมมีจริงๆ ธาตุรู้มีจริงๆ รูปธรรมก็มีจริงๆ ไม่รู้อะไร เพียงแค่ ๒ อย่าง ฟังจนกระทั่งเข้าใจ จนกระทั่งมีการระลึกและรู้ในลักษณะที่ต่างกันของ ๒ อย่าง

     เพิ่มสมบัติ   ที่ไม่ระลึกก็เพราะไม่เข้าใจจริงๆ เลยไม่ระลึกใช่ไหมครับ

    ท่านอาจารย์    เข้าใจไม่พอ ไม่ใช่ไม่เข้าใจจนกว่าเข้าใจพอคือสติเกิด ระลึกลักษณะที่เป็นปรมัตถ์

    เพิ่มสมบัติ   ฟังยังไม่พอ

    ท่านอาจารย์    นอกจากฟังไม่พอแล้ว ปัจจัยที่สติจะระลึกก็ยังไม่พอ เพราะเราต้องไม่คิดถึงชาตินี้ชาติเดียว เราคิดถึงชาติก่อนๆด้วย แค่ชาตินี้ชาติเดียว ตั้งแต่เกิดมาจนถึงเดี๋ยวนี้ เราเคยได้ฟังธรรมจริงๆอย่างนี้หรือเปล่า และระหว่างที่เราไม่เข้าใจธรรมจริงๆ โลภะ โทสะ โมหะเท่าไร  อกุศลเท่าไร และอยู่ดีๆ เราจะให้พอฟังแล้วเข้าใจ ให้สติเกิดเลยไม่ได้

    เพิ่มสมบัติ   เทียบกันแล้วน้อยกว่ามาก

    ท่านอาจารย์    ค่ะ เพราะฉะนั้นสติก็ต้องเกิดตามเหตุตามปัจจัย


    หมายเลข 8638
    11 ก.ย. 2558