เด็กๆกับธรรม - อะไรสำคัญที่สุด


    ท่านอาจารย์ ธรรมหมายความถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่มีจริง แค่นี้งงไหมคะ ทุกสิ่งทุกอย่างที่มีจริง เราจะไม่พูดเรื่องเท็จ แต่เราจะพูดถึงสิ่งที่มีจริง ๆ ซึ่งแต่ละคนก็จะเห็นได้ว่า ทุกคนที่นั่งอยู่ที่นี่ จริงหรือเปล่า

    ผู้ฟัง  คิดว่าไม่จริง

    ท่านอาจารย์    เพราะอะไรคะ

    ผู้ฟัง  เพราะถ้าดูลงไปลึกๆแล้ว ความจริงอยู่ตรงไหน อะไรที่เรียกว่าจริง เนื้อหนังมังสาก็เปลี่ยนไป ทุกสิ่งทุกอย่างคือไม่มีอะไรจริง  ถ้าจริงแล้ว อีกวันต่อไปของที่ว่าจริงวันนี้ ก็ไม่ใช่ของเดิมแล้ว

    ท่านอาจารย์    คงต้องตั้งต้นกันหลายๆแบบ หลายๆครั้ง หลายๆทาง เอาใหม่ทีเดียว อะไรสำคัญที่สุดในชีวิต น่าคิดไหมคะ

    ยุ้ย   ความสุขหรือเปล่าคะ

    ท่านอาจารย์    ความสุขมีตลอดวันหรือเปล่าคะ

    ยุ้ย   บางทีมีสุขบ้าง ทุกข์บ้าง แล้วอย่างไรคะที่เรียกว่า ความสุขแท้ๆ สุขแบบถาวร

    ท่านอาจารย์    เวลานี้มีใครมีความสุขถาวรบ้างไหมคะ ไม่มีเลยค่ะ ความสุขมีจริง แต่ความสุขก็หมดไป เวลาที่ไม่สุข ขณะนั้นเป็นอะไร

    ยุ้ย   เวลาที่ไม่สุขเป็นทุกข์ค่ะ

    ท่านอาจารย์    แล้วเวลาที่ไม่สุข ไม่ทุกข์ เป็นอะไร มีไหมคะ เวลาที่ไม่สุข ไม่ทุกข์ มีค่ะ คือ เรื่องจริงต้องเป็นเรื่องจริง เราค่อยๆไปหาความจริงทีละเล็กทีละน้อยกว่าเราจะรู้ว่า มันคืออะไร

    นี่คือพยายามให้ทุกคนหัดคิด ชีวิตที่เราพูดกันทุกวันเป็นธรรมทั้งหมด เพราะฉะนั้นก็อยากจะทราบว่า เวลาที่ไม่สุข ไม่ทุกข์ต้องมีแน่นอน ใช่ไหมคะ มีหรือไม่มี เวลาไม่สุข ไม่ทุกข์ มีนะคะ ขณะนั้นเป็นอะไร  เป็นเฉยๆ ก็มีจริงๆอีก

    เพราะฉะนั้นทุกอย่างที่มีจริงเป็นธรรม เป็นสิ่งที่มีจริงๆ เรากำลังจะเข้าไปหาความจริงอย่างหนึ่ง ซึ่งจะไม่มีการสอนที่ไหนเลย ในโรงเรียนไหนมีสอนเรื่องนี้บ้างไหมคะ

    ตอบ  สอนในหัวข้อเฉยๆ

    ท่านอาจารย์    แล้วสอนเรื่องสุขเรื่องทุกข์ไหมคะ

    ตอบ  ไม่ได้ลึกลงไปตรงนั้น

    ท่านอาจารย์    ค่ะ เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่า พระธรรมละเอียดมาก ทรงแสดง ๔๕ พรรษา   ตั้งแต่ตรัสรู้จนกระทั่งใกล้จะปรินิพพานแล้วก็สืบทอดมาเป็นพระไตรปิฎก เป็นอรรถกถามากมาย แต่เราเรียนตลอดชีวิตไม่จบ อย่าคิดว่าเพียงฟังวันนี้ แล้วเราจะเข้าใจได้ แต่เราเริ่มที่จะคิดแล้วว่า สิ่งที่สำคัญในชีวิตอย่างที่คุณยุ้ยตอบเมื่อกี้นี้ว่า คือความสุข ใช่ไหมคะ แต่ความสุขไม่ได้ตั้งอยู่นานเลย บังคับให้สุขได้ไหมคะ

    ยุ้ย   ไม่ได้ค่ะ

    ท่านอาจารย์    บังคับให้ทุกข์ได้ไหม

    ยุ้ย   ไม่ได้

    ท่านอาจารย์    บังคับให้เฉยๆ ได้ไหม

    ยุ้ย   ไม่ได้

    ท่านอาจารย์    เพราะฉะนั้นถ้ามีเหตุที่จะให้ความรู้สึกเป็นสุขเกิด ความรู้สึกเป็นสุขก็ต้องเกิด ถ้าเกิดป่วยไข้ขึ้นมาที่กาย แล้วจะบอกว่าไม่ให้เจ็บ

    ยุ้ย   ไม่ได้

    ท่านอาจารย์    ไม่มีอะไรได้สักอย่างเลย

    ยุ้ย   จะบนบานศาลกล่าวก็ไม่ได้หรือคะ ไม่ได้ใช่ไหมคะ ผิด

    ท่านอาจารย์    หมายความว่าสิ่งที่เกิดแล้ว เราจะเปลี่ยนให้เป็นอย่างอื่นได้ไหม อย่างที่กาย เวลาเจ็บปวด แล้วเราจะบอกเจ็บปวดว่าอย่าเจ็บ ให้เป็นสุขได้ไหม

    ยุ้ย   ไม่ได้ค่ะ

    ท่านอาจารย์    เพราะฉะนั้นก็มาถึงคำหนึ่งซึ่งครอบจักรวาล คือ คำว่า “อนัตตา”  หมายความว่าสิ่งที่มีจริงทั้งหมดในโลก ในแสนจักรวาล นอกโลกที่ไหนก็ตามแต่ เป็นสิ่งที่มีจริง แต่ไม่มีใครเป็นเจ้าของ ไม่สามารถบังคับบัญชาได้ ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร

    นี่คือการตรัสรู้ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า คือตรัสรู้ว่า สิ่งที่มีจริงอย่างไรก็เป็นอย่างนั้นตามความเป็นจริง ไม่ใช่ว่าพอพระองค์ตรัสรู้แล้วก็จะไปเปลี่ยนแปลงคนโง่ให้เป็นคนฉลาด หรือจะเปลี่ยนความเจ็บให้เป็นกลายเป็นความสุข อย่างนี้ไม่ใช่ แต่ว่าทรงแสดงให้เห็นตามความเป็นจริงว่า ทุกอย่างที่จะเกิดขึ้นต้องมีเหตุมีปัจจัย มีหลายๆอย่างที่ปรุงแต่งรวมกันทำให้สิ่งนั้นเกิดขึ้น แล้วสิ่งใดๆก็ตามที่เกิดแล้ว ไม่มีสิ่งใดที่ยั่งยืน ทุกอย่างที่เกิดจะหมดไปอย่างเร็วมาก ซึ่งเราจะใช้อีกคำหนึ่งก็ได้ คำว่า “เกิด” เมื่อไม่มีแล้วเกิดมีขึ้น และมีขึ้นแล้วหมดไป เวลาที่หมดไป ที่จะไม่กลับมาอีกเลย เราใช้คำว่า “ดับ” เหมือนกับไฟดับ ไฟที่ดับกลับมาอีกไหม ไม่มีทางที่จะกลับมาได้อีกเลย แต่ถ้าจะมีไฟใหม่เกิดขึ้นได้ ต้องมีเชื้อไฟอันใหม่ ทำให้ไฟอันใหม่เกิดขึ้น เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ดับไปแล้วก็เกิดขึ้นอีก แต่ไฟใหม่ไม่ใช่ไฟเก่า

    เพราะฉะนั้นทุกอย่างที่มีจริงๆในโลกนี้ที่เกิดปรากฏให้รู้ว่ามีจริง แท้ที่จริงแล้วดับเร็วมาก เร็วจนเราไม่รู้เลยว่า ขณะนี้สภาพธรรมกำลังเกิดดับ แล้วทั้งหมดนี้คืออนัตตา หมายความว่าไม่ใช่ของเรา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา และไม่เป็นของใครเลยทั้งสิ้น

    เคยได้ยินคำว่า “ธาตุ” ใช่ไหมคะ พอพูดถึงธาตุ มีใครไปเป็นเจ้าของธาตุอะไรได้บ้าง อย่างธาตุทอง ใช้ได้ไหมคะ ธาตุเงิน ใช้ได้ไหมคะ และถ้าไปเรียนหนังสือ ก็ยังมีธาตุอีกหลายธาตุ มากมาย แล้วมีใครเป็นเจ้าของบ้าง ต้นไม้ใบหญ้ามีใครไปเป็นเจ้าของบ้าง

    ยุ้ย   ไม่มีค่ะ

    ท่านอาจารย์    ไม่มีค่ะ นอกจากต้นไม้ใบหญ้า ที่ตัว ที่ร่างกายของเรา มีใครเป็นเจ้าของบ้าง

    ยุ้ย   ไม่มีค่ะ

    ท่านอาจารย์    ไม่มี แล้วที่ตัวมีอะไรบ้างคะ ที่ว่าไม่มีเจ้าของ

    ยุ้ย   ไม่มีอะไรที่เราเป็นเจ้าของได้เลย

    ท่านอาจารย์    เช่น

    ยุ้ย   เช่น ร่างกายเรา หรือจะเป็นพ่อแม่เรา หรือจะเป็นทุกคนที่เราเห็น ทุกสิ่งที่เราเห็น ไม่มีใครเป็นเจ้าของ

    ท่านอาจารย์    แล้วนี่ตัวเราหรือเปล่าคะ

    ยุ้ย   ใช่ค่ะ

    ท่านอาจารย์    เราเป็นเจ้าของตัวนี้หรือเปล่า

    ยุ้ย   คำว่า เจ้าของ หมายถึงเราจะยึดติดไปได้ตลอดหรือเปล่าคะ

    ท่านอาจารย์    หมายความว่ามันเหมือนกับของเรา อย่างตาของเรา หูของเรา ใจของเรา ความรู้สึกของเรา ใช่ไหมคะ

    ยุ้ย   ใช่ค่ะ

     

    ท่านอาจารย์    ค่ะ เพราะฉะนั้นจริงๆแล้วเราต้องเข้าใจว่า พระพุทธศาสนาละเอียดและลึกซึ้งและยาก ต้องยากแน่นอน ถ้าง่ายก็มีพระอรหันต์มากมาย มีพระโสดาบันมากมาย แต่ที่ยาก เพราะเหตุว่ากว่าจะรู้ความจริงว่า ไม่มีเราเลย ที่นี่ไม่มีใครสักคนเลย พอจะรับไหวไหมคะ

    ตอบ  ไหว

    ท่านอาจารย์    ไหว คือคนที่ฟังมาบ้างแล้ว แต่คนที่ฟังใหม่ๆ จะต้องคิดว่า เป็นไปได้อย่างไร เพราะเหตุว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดในโลก ลองคิดดูว่าคืออะไรแน่ เมื่อกี้คุณยุ้ยตอบว่า คือความสุข แต่ที่จริงแล้วคือชีวิต ถ้าไม่มีชีวิต จะมีความสุขไหม ไม่มี จะมีความทุกข์ไหม จะมีพ่อแม่พี่น้อง จะมีตัวเราไหม ไม่มีใช่ไหมคะ เหมือนอย่างหญ้าที่อยู่ข้างนอก ไม่มีพ่อ ไม่มีแม่ ไม่มีใครเป็นเจ้าของ แต่สำหรับเวลาที่เกิดมีชีวิตขึ้น เมื่อมีชีวิตก็จะมีความรู้สึก แล้วก็มีความรู้สึกว่า นี่เป็นเรา นั่นเป็นเขา หรือว่านี่เป็นใคร

    เพราะฉะนั้นที่น่าสนใจที่สุดก็คือสิ่งที่มีชีวิต เพราะเหตุว่าถ้าไม่มีสิ่งที่มีชีวิต ก็จะไม่มีการรู้เรื่องราวต่างๆ ไม่มีการเห็น ไม่มีการได้ยินเลย อย่างโต๊ะเก้าอี้ไม่มีชีวิต เพราะฉะนั้นโต๊ะเก้าอี้จะมีความสุขไม่ได้ จะมีความทุกข์ไม่ได้ จะมีความลำบากเดือดร้อนไม่ได้เลย แต่เมื่อมีชีวิต ถึงจะมีการรู้ว่า คนนั้นเป็นคน สิ่งนั้นเป็นอะไร สิ่งนี้เป็นอะไร

    เพราะฉะนั้นเพียงแต่ก่อนที่เราจะศึกษาธรรม เรารู้สึกว่า เรามีชีวิต แล้วเราเข้าใจชีวิต แต่ถ้าศึกษาจริงๆแล้ว เราก็ต้องมาถึงที่ละเอียดกว่านั้นอีกว่า ชีวิตคืออะไร ต้องมาถึงจุดนี้ด้วยว่า ชีวิตคืออะไร


    หมายเลข 8559
    10 ก.ย. 2558