วิริยะที่เป็นสัมมัปปธาน ๔


    สันติ  วิริยะที่เป็นสัมมัปปธาน  ท่านแสดงว่า ความเพียรที่ระวังสังวรไม่ให้อกุศลที่ยังไม่เกิด ได้โอกาสเกิดขึ้น จะต่างอย่างไรกับความเพียรกับการละอกุศลที่เกิดขึ้นแล้วครับ

    ท่านอาจารย์ ขณะนั้นวิริยเจตสิกเกิดกับสัมมาสติ เท่านี้จบเลย เพราะว่าขณะอื่นก็ไม่ใช่ ขณะอื่นก็เป็นเราที่เพียร จะเว้น ละอกุศลที่ยังไม่เกิด หรืออกุศลซึ่งเกิดแล้ว หรือเจริญกุศล ซึ่งยังไม่เกิด หรือรักษากุศลที่เกิดแล้ว เพราะฉะนั้นทั้งหมดที่เป็นเรื่องของธรรมทั้งหมด จากการตรัสรู้ ก็ทรงแสดงสภาพธรรมตามความเป็นจริง ถ้าเป็นความเพียรในเรื่องทาน ไม่ใช่สัมมัปปธาน ไม่ได้เกิดกับสัมมาสติ แต่ชั่วขณะที่สัมมาสติเกิดพร้อมวิริยะ วิริยะทำกิจ ๔ อย่าง ซึ่งเป็นกิจของสัมมัปปธาน ไม่ใช่เป็นเราที่จะทำทีละอย่าง ๒ อย่าง แต่ในขณะที่สัมมาสติเกิดนั่นเอง วิริยะขณะนั้นเป็นสัมมัปปธานทั้ง  ๔

    สันติ  ดูเหมือนกับว่า สัมมัปปธานทั้ง ๔ จะไม่เกิดพร้อมกัน

    ท่านอาจารย์ ก็แล้วแต่ว่า เวลาที่สัมมัปปธานเกิด เช่น สัมมาสติเกิด ขณะนั้นละอกุศลที่ยังไม่เกิดหรือเปล่า

    สันติ  จะเหมือนกับวิรตีไหมครับว่า เวลาที่วิรตีเกิดขึ้น แล้วก็มีการระลึกรู้ลักษณะของวิรตี ขณะนั้นก็เป็นมรรคมีองค์ ๖ ด้วย

    ท่านอาจารย์ วิริยเจตสิกต่างกับวิรตีเจตสิก หน้าที่ต่างกัน เพราะฉะนั้นความหมายของศีลอีกอย่างหนึ่ง คือ ไม่ก้าวล่วง ขณะใดที่ไม่ก้าวล่วง ขณะนั้นไม่ได้หมายความว่าไม่มีศีล  แต่ไม่ใช่ศีลที่เป็นวิรตีเจตสิก

    นี่ก็เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า การเรียนสมัยนี้เรียนเรื่องราวมาก แล้วก็ไปพยายามหาตัวธรรมว่า ตัวธรรมเป็นอะไร ตรงไหน อย่างไร แต่ความจริงสภาพธรรมทำหน้าที่ของสภาพธรรมของเขาเอง แล้วก็ทรงแสดงความต่างของสัมมาสติ หรือการอบรมเจริญสติปัฏฐานว่า ขณะนั้นมีเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยคืออะไร แต่ทำหน้าที่ต่างกับขณะอื่นอย่างไร

    เพราะฉะนั้นการอบรมเจริญปัญญาก็ต้องรู้ตามลำดับด้วย มิฉะนั้นเราจะไปหาเบื้องปลาย เรื่องราวใหญ่โตมากมาย แล้วก็มาหาตัวจริง เหมือนกับโลภะ พอบอกว่ามี ๘ ดวง ก็หาตัวอย่าง ว่า ๘ ดวง ดวงไหนดวงที่ ๑ เป็นอย่างไร ดวงที่  ๒ ดวงที่ ๓ ดวงที่ ๔ ดวงที่ ๕ เป็นอย่างไร แต่เวลาที่ขณะนี้โลภะเกิด เป็น ๑ ใน ๘ หรือเปล่า แล้วทำไมเราต้องไปหาในเมื่อกำลังมีให้รู้ได้

    เพราะฉะนั้นการศึกษาเป็นเพียงการศึกษาเรื่องราวให้ครบจำนวน แต่เป็นเรื่องที่เมื่อสภาพธรรมนั้นเกิดปรากฏ ก็ให้รู้ความจริงว่า ขณะที่มีความเห็นผิด หรือมีความเข้าใจผิดต่างกับขณะที่ไม่มีความเข้าใจผิด ไม่มีความเห็นผิด เพราะฉะนั้นโลภะ ๒ อย่างนี้จึงต่างกัน ตามสภาพธรรมที่ปรากฏ

    ถ้าเป็นอย่างนี้ เราจะค่อยๆเข้าใจจากตัวของเราเอง ใช่ไหมคะ เวลาที่มีความติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส โสมนัสหรืออุเบกขา  ก็เป็นความรู้สึกจริงๆที่มี ซึ่งสามารถเข้าใจได้ในขณะนั้น และความจริงก็หลากหลายมากตามความวิจิตรของจิต ตามความวิจิตรของอารมณ์ ตามเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย แต่ทรงประมวลเป็นประเภทใหญ่ๆ ได้แก่ โลภมูลจิต ๘ ซึ่งขณะใดที่เกิด ขณะนั้นเราก็รู้ ก็คือไม่ต่างจาก ๘ นั่นเอง

    เพราะฉะนั้นการศึกษาจากสภาพธรรมที่มีจริงๆ ก็จะทำให้เราไม่ลืมสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ โดยที่ไม่ต้องไปท่องหรือไปจำว่า ๘ ดวง ได้แก่อะไรบ้าง


    หมายเลข 8459
    10 ก.ย. 2558