กรรมให้ผลตามวาระ


    บุษบง เมื่อกี้นี้ท่านอาจารย์กล่าวถึงคำบัญญัติ ถ้าเป็นภาษาอังกฤษก็พูดเป็นอีกอย่างหนึ่ง ที่ฟังท่านอาจารย์กล่าวว่า ไม่ว่าเป็นชาติไหน ภาษาใด ก็ต้องสภาพธรรมที่เป็นปรมัตถ์เกิดเหมือนกันหมด

    ท่านอาจารย์    ค่ะ ความสงสัยในลักษณะของสภาพธรรม

    บุษบง ดิฉันแปลกใจว่า ทำไมบัญญัติถึงต่างกันได้  จนทำให้เราต้องไปเรียนภาษาโน้น ภาษานี้

    ท่านอาจารย์    ความจำในลักษณะของเสียงที่ทำให้เรารู้ความหมาย อย่างเสียง มีเสียงสูง เสียงต่ำ แล้วมีการออกเสียงจากฐานของเสียงซึ่งทำให้เกิดอักขระเป็นตัวอักษรต่างๆ ทำให้มีความจำว่า อักษรนี้หมายความว่าอะไร คำนี้หมายความว่าอะไร

    บุษบง ความละเอียดของอโหสิกรรมที่ฟังจากท่านอาจารย์มาก็จะมีอยู่ด้วยกัน ๖ นัย คือ กรรมในอดีตให้ผลในอดีตก็มี กรรมในอดีตไม่ให้ผลในอดีตก็มี กรรมในอดีตในผลในปัจจุบันก็มี กรรมในอดีตไม่ให้ผลในปัจจุบันก็มี กรรมในอดีตจักให้ผลในอนาคต หรือกรรมในอดีตจักไม่ให้ผลในอนาคต

    ท่านอาจารย์    เมื่อกรรมทำแล้ว คือ อโหสิกรรม กรรมที่ได้ทำแล้วมีกาลที่จะให้ผลต่างกัน ไม่ใช่ทำเดี๋ยวนี้ได้ผลเดี๋ยวนี้ กรรมที่ทำแล้วในชาติก่อน ซึ่งทุกคนก็เคยเกิดมาแล้วในชาติก่อน ทั้งๆที่เราก็จำไม่ได้ว่า ชาติก่อนเราทำกรรมอะไรไว้ ใช่ไหมคะ ทีนี้ไม่อยากให้ไปคิดถึงชาติก่อนซึ่งเราจำไม่ได้ แต่ชาตินี้เรารู้ว่า เกิดมาเป็นคนนี้ ทำอย่างนี้มาแล้วตั้งแต่เด็ก และกำลังทำอย่างนี้อยู่ แต่กรรมที่เราทำตั้งแต่เด็ก ก็ไม่ได้หมายความว่าจะให้ผลในชาตินี้ หรือว่ากรรมที่เรากำลังทำเดี๋ยวนี้ ก็ไม่ใช่ว่าจะให้ผลเดี๋ยวนี้

    นี่แสดงให้เห็นว่า กรรมใดก็ตามที่ได้กระทำแล้วแม้ในชาติก่อนที่ยังไม่ให้ผลก็มี ที่ให้ผลแล้วก็มี หรือที่จะให้ผลในชาติต่อไปก็มี ชาติก่อนฉันใด ชาตินี้ก็ฉันนั้น ก็แสดงให้เห็นถึงกรรม กาลที่จะให้ผลว่า เป็นไปตามกำลังของกรรม เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย

    บุษบง ขออนุญาตกล่าวถึงพระพุทธองค์ว่า ผู้ใดบรรลุเป็นพระอรหันต์แล้ว หลังจากปรินิพพานแล้ว จะไม่มีกรรมเกิดต่อ

    ท่านอาจารย์    ตราบใดที่ยังมีกิเลส จึงมีกรรม แต่ถ้าดับกิเลสแล้ว การกระทำใดๆไม่เป็นเหตุให้เกิดวิบากต่อไปข้างหน้า ขณะเห็นเป็นวิบาก ขณะได้ยินเป็นวิบาก เราต้องรู้ว่า คำว่า “วิบาก” คือผลของกรรมคือขณะไหน กำลังเห็นเป็นผลของกรรม กำลังได้ยิน กำลังได้กลิ่น กำลังลิ้มรส กำลังรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส นี่เป็นผลของกรรมทั้งนั้น

    แต่หลังเห็นแล้ว สำหรับคนที่ไม่ใช่พระอรหันต์ ก็เป็นกุศลบ้าง เป็นอกุศลบ้าง  แต่สำหรับพระอรหันต์จะไม่เป็นกุศลและอกุศล เพราะเหตุว่าถ้าเป็นกุศล ก็เป็นเหตุให้เกิดกุศลวิบาก ถ้าเป็นอกุศล ก็เป็นเหตุให้เกิดอกุศลวิบาก เพราะฉะนั้นเมื่อดับกุศลแล้ว ก็ไม่มีทั้งกุศลจิตและอกุศลจิต ไม่มีกรรมอีกต่อไป


    หมายเลข 8144
    7 ก.ย. 2558