ปัญญาขั้นฟัง แต่สติยังไม่ได้ระลึกที่สภาพธรรม


    ถาม   ขอเรียนถามเรื่องสติปัฏฐาน ที่ได้ฟังเทปของท่านอาจารย์และอ่านตำรา อาจจะเข้าใจผิดหรือยังไม่เข้าใจดี ตามความเข้าใจ คิดว่า สติปัฏฐานเป็นที่ตั้งของสติ เพื่อทำให้สติระลึกถึงสภาพความเป็นจริงขณะที่ปรากฏ และให้เข้าใจสภาพความเป็นจริงของสิ่งที่ปรากฏขณะนั้น ใช่ไหมคะ

    ท่านอาจารย์    ค่ะ คือ สติปัฏฐานมีความหมาย ๓ อย่าง คือ

    • ๑. หมายความถึงสิ่งที่สติระลึก เพราะสติเป็นสภาพที่ระลึกในทางที่เป็นกุศล
    • ๒. หมายความถึงสติเจตสิกซึ่งเป็นสภาพที่ระลึก
    • ๓. หมายความถึงสติปัฏฐานเป็นหนทางที่พระอริยเจ้าทั้งหลายดำเนิน ท่านไม่ไปทางอื่น ท่านไปกันทางนี้ค่ะ เราอาจจะไปหลายทาง ไปดูหนัง ดูละคร ไปทำธุระ แต่พระอริยะทั้งหลายท่านดำเนินหนทางนี้

    ผู้ฟัง ส่วนมากพวกเรากำลังปฏิบัติอยู่ใช่ไหมคะ

    ท่านอาจารย์ ต้องเข้าใจก่อนว่าใคร คือคนอื่นนี่ก็ยาก ต้องเฉพาะตัวเองว่า มีความเข้าใจในสติปัฏฐานขั้นไหน และสติปัฏฐานเกิดหรือเปล่า สติปัฏฐานจริงๆแล้วคืออะไร คือ สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แต่ว่าปัญญาไม่เคยรู้ ไม่เคยเข้าใจโดยถูกต้อง เพราะฉะนั้นหลังจากที่ฟังธรรม แล้วก็เข้าใจในความเป็นธรรม ต้องเข้าใจจริงๆว่า ขณะนี้เป็นธรรม ไม่ต้องไปแสวงหาธรรมที่ไหนเลย ทางตาที่กำลังเห็นเป็นธรรม เป็นธาตุชนิดหนึ่ง เป็นสภาพรู้ คือ เห็น ต่างกับทางหู เป็นธาตุรู้ เป็นสภาพรู้ เป็นธรรมอีกชนิดหนึ่ง

    เพราะฉะนั้นทั้งเนื้อทั้งตัวก็มีแต่ธรรมทั้งหมด คือ รูปธรรมบ้าง นามธรรมบ้าง แต่เพียงฟัง ถ้าสติยังไม่เกิด ยังไม่ระลึกตรงลักษณะของรูปธรรมและนามธรรมแต่ละลักษณะ

    เพราะฉะนั้นสติปัฏฐานก็คือว่า เมื่อฟังแล้วไม่พลาดโอกาสที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ  เพราะบางคนสนใจฟังธรรมจริง ฟังเพื่อประดับสติปัญญา ประดับความรู้ว่า มีจิต มีเจตสิก มีรูป ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน ถูกต้อง จบ เหมือนมีอาหาร แต่ไม่ได้ลิ้มรส ไม่ได้รับประทานเลย รู้แต่เพียงวิธีปรุง วิธีทำ แต่ไม่เคยได้ลิ้มรสอาหารนั้น รู้แต่ว่ามีอะไรบ้าง มีเครื่องปรุงอะไรบ้าง เหมือนการศึกษาเรื่องจิต เรื่องเจตสิก เรื่องรูป  แต่ประโยชน์จริงๆ ไม่ใช่เพียงแค่ให้เราเข้าใจ เพราะว่าเพียงขั้นเข้าใจดับกิเลสไม่ได้เลย ทำอะไรไม่ได้ เพราะเหตุว่าไม่ใช่ความรู้แท้จริงขั้นประจักษ์แจ้ง เพียงขั้นฟัง เวลานี้เราจะฟังเรื่องอะไรก็ได้ เราอาจจะฟังเรื่องเกษตรกรรม เรื่องการปลูกกล้วย แต่เรายังไม่ได้ลงมือทำเลย

    เพราะฉะนั้นเราก็ฟังเรื่องธรรม เรื่องจิต เรื่องเจตสิก เรื่องรูป แต่สติยังไม่ได้ระลึกที่จะรู้ว่า เป็นธรรมจริงๆ เกิดแล้วดับจริงๆด้วย ทั้งๆที่ฟังว่าเกิดแล้วดับ ทางตาที่กำลังเห็นเกิดดับ เพราะว่าจิตเกิดขึ้นเพียงขณะเดียว ขณะเห็นเป็นจิตชนิดหนึ่งทำกิจเห็นขณะนี้ ที่เห็นเป็นจิตชนิดหนึ่ง เป็นหน้าที่การงานของจิต ขณะที่กำลังได้ยินก็เป็นจิตอีกชนิดหนึ่ง ทำกิจการงานได้ยิน สภาพธรรมที่เป็นรูปเห็นไม่ได้ ได้ยินไม่ได้ ทำกิจเหล่านี้ไม่ได้เลย เพราะกิจเหล่านี้เป็นของสภาพรู้หรือธาตุรู้ซึ่งเป็นจิต

    เพราะฉะนั้นขณะที่เห็นเดี๋ยวนี้ ดับเดี๋ยวนี้ และขณะที่ได้ยินเกิดขึ้นก็ดับด้วย

    นี่คือผู้ที่ประจักษ์แจ้งเพราะเหตุว่าสติปัฏฐานเกิดระลึกลักษณะของธรรม ซึ่งเราเข้าใจว่าเป็นธรรม แต่ถ้าสติไม่ระลึกก็ไม่มีทางที่จะรู้ว่า เป็นธรรมจริงๆ เพียงแต่ฟังเข้าใจโดยขั้นเข้าใจเท่านั้นว่าเป็นธรรม

    เพราะฉะนั้นก็มีความรู้หลายขั้น คือ จากขั้นฟังมาถึงขั้นระลึกรู้ซึ่งเป็นขั้นปฏิบัติ  แล้วถึงขั้นปฏิเวธ ซึ่งประจักษ์แจ้งจริงๆว่า สภาพธรรมที่ทรงแสดงไว้เป็นความจริงตามที่ทรงแสดง ไม่ใช่คิดๆเอา ประมวลเอา แล้วไปบอกคนอื่นเขาว่า มีจิตทางตาเห็น ต้องดับไปเสียก่อน แล้วทางหูจิตได้ยินถึงจะเกิดขึ้น ไม่ใช่อย่างนั้นเลย  แต่เพราะเหตุว่าเมื่อได้ประจักษ์แจ้งก็ทรงแสดงหนทางดำเนินไปสู่การอบรมเจริญปัญญาที่จะประจักษ์แจ้งความจริงของสภาพธรรมที่กำลังเกิดดับในขณะนี้

    ผู้ฟัง ขั้นฟังกับขั้นศึกษา กว่าจะเข้าใจถึงขั้นปฏิบัติ คงจะใช้เวลานาน

    ท่านอาจารย์ อันนี้แล้วแต่นะคะ บางคนก็เข้าใจเร็ว เพราะเหตุว่าสะสมเหตุมามาก บางคนก็อาจจะเพิ่งเริ่ม เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องที่ไม่ท้อถอย ในเมื่อมีของจริงและกำลังปรากฏ แต่ว่าโดยมากจะหลงลืมสติ คือ ระลึกไม่ได้

    ด้วยเหตุนี้แม้ในครั้งพุทธกาล ผู้ที่อยู่ใกล้พระวิหารก็ไปเฝ้าเพื่อฟังธรรม หรือแม้พระภิกษุซึ่งบวชแล้ว และเวลาที่พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปเพื่อที่จะทรงอนุเคราะห์สัตว์โลกที่อื่น พระภิกษุทั้งหลายก็ตามเสด็จพระผู้มีพระภาคเพื่อฟังธรรม

    เพราะฉะนั้นการฟังธรรม ให้ทราบว่า เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องในสิ่งที่เราไม่เคยได้ยินได้ฟัง หรือในสิ่งที่ได้ฟังแล้ว แต่ยังเข้าใจไม่พอ หรือว่าจะต้องเข้าใจมากกว่านั้นอีก เพื่อสติจะได้ระลึกได้ถูกต้อง  เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องเฉพาะตัวของแต่ละคน

    ผู้ฟัง อยากเรียนถามท่านอาจารย์เรื่องมหาสติปัฏฐาน มี ๔ และมีอะไรต่างกันคะ

    ท่านอาจารย์ ที่ใช้คำว่า “มหาสติปัฏฐาน” เพราะเหตุว่า “มหา” หมายความว่า มากมาย เยอะแยะ ทุกสิ่ง เพราะฉะนั้นสติสามารถระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมทุกสิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่จำกัด ทางตาก็กำลังเห็น แล้วทำไมจะจำกัดไม่ให้ปัญญารู้ความจริงของสภาพเห็นที่กำลังเห็น และสิ่งที่ปรากฏทางตาก็มี  ทำไมจะไปจำกัดไม่ให้รู้สิ่งที่ปรากฏทางตาตามความเป็นจริง

    เพราะฉะนั้นตั้งแต่เกิดจนตาย ธรรมทั้งหมด แล้วถ้าสามารถที่จะรู้ขั้นเข้าใจ และขั้นที่สติระลึก ผู้นั้นก็กำลังดำเนินหนทางสู่ความเป็นพระอริยบุคคล เป็นหนทางที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระอริยะทั้งหลายได้ดำเนินไปแล้ว


    หมายเลข 8146
    7 ก.ย. 2558