สะสมอุปนิสัยในทางที่ดี


    บุษบง ขออนุญาตกล่าวเรื่องดูทีวี หลายคนก็ติดกันมาก ทีนี้การดูทีวีก็มีประโยชน์เหมือนกันถ้าสติเกิดในตอนนั้น เช่น ดูไปแล้วร้องไห้ น้ำตาไหล พอสติเกิดก็บอกว่า ทำไมน้ำตาไหล ดูความรู้สึกว่าเรามีความเศร้าหรือ ทั้งๆที่จริงๆแล้วเราก็ไม่ได้เศร้าเลย อันนี้จะมีประโยชน์อะไรบ้างไหมคะ

    ท่านอาจารย์    แล้วแต่สติจะเกิด คือ คนเราจะบังคับตนเองไม่ให้ทำอย่างนั้น ไม่ให้ทำอย่างนี้ไม่ได้ บางทีคิดจะอ่านธรรม ก็เกิดไปดูทีวี ก็เป็นไปได้ทั้งหมด

    ข้อสำคัญที่สุด คือ ให้เข้าใจถูกต้องว่า ธรรมทั้งหลายเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ใครไม่มีโลภะ ถ้ายังมี   ก็แล้วแต่ว่าขณะไหนจะมีปัจจัยให้โลภะประเภทไหนเกิด ใครไม่มีโทสะ เมื่อยังมีอยู่ ก็ต้องมีปัจจัยทำให้โทสะเกิด แต่การที่เราสะสมอบรมอุปนิสัยในทางที่ดีทีละเล็กทีละน้อย ก็จะทำให้เราคุ้นเคยกับสิ่งที่ดี อย่างการฟังธรรม ถ้าเราเห็นประโยชน์จริงๆ แล้วเรารู้ว่า วันนี้เราโลภะเยอะแยะแล้ว โทสะก็เยอะแยะ โมหะก็ยิ่งมาก ใช่ไหมคะ เพราะฉะนั้นสักครึ่งชั่วโมงของการฟังธรรมตอนเช้า ตอนค่ำ เอามาบวกกันแล้ว เวลาที่เหลือก็เป็นของอกุศล แล้วเราจะยอมไหมที่จะพลาดโอกาสที่จะได้กุศลแม้เพียงสักครึ่งชั่วโมง ก็เป็นอุปนิสัยที่จะสะสมไปที่จะเห็นคุณค่า และระหว่างที่ฟัง เราก็จะเป็นกุศลจิตด้วย

    บุษบง ขณะที่ฟังครึ่งชั่วโมง จิตก็ยังออกไปคิดเรื่องอื่นๆ เป็นอกุศลแทรกอยู่ตลอด

    ท่านอาจารย์    นี่แสดงให้เห็นว่า เราเริ่มจะรู้จักสภาพจิต และถ้าสติปัฏฐานเกิด จะรู้เลยว่า สภาพธรรมที่เกิดดับอย่างเร็วจะปรากฏเพิ่มขึ้น

    บุษบง ท่านอาจารย์พูดถึงตรงนี้  ขอเรียนถามลึกอีกสักนิดหนึ่งว่า ถ้าสมมติฟังท่านอาจารย์อยู่อย่างนี้ ฟัง ก็คือได้ยินทางหู แล้วก็เปลี่ยนไปทางมโนทวาร แล้วไปนึกคิดเรื่องอื่น แสดงว่าจิตตอนนั้นจะขึ้นไปถึงปัญจทวาร ใช่ไหมคะ แล้วก็เป็นสัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะ แล้วโวฏฐัพพนะ ไม่ขึ้นถึงชวนะ ใช่ไหมคะ ถึงตัดไปก่อนถึงไม่เข้าใจเรื่อง

    ท่านอาจารย์    เราอย่าคิดอย่างนั้นเลย เพราะจริงๆแล้วตลอดวิถีค่ะของปัญจทวาร จนกว่ารูปจะดับ

    บุษบง ถึงหรือคะ

    ท่านอาจารย์    ถึงค่ะ

    บุษบง ถ้าถึง เราก็ต้องรู้ความหมายของสิ่งที่ได้ยินท่านอาจารย์พูด

    ท่านอาจารย์    ไม่จำเป็นค่ะ เพราะว่าทางตา เราจะไม่รู้ความหมายเลย ยังไม่รู้เลย แต่ก็มีชวนวิถีจิตเกิด เร็วมาก ถ้าคิดถึงความห่างไกลระหว่างที่ตาที่เห็นกับทางหูที่ได้ยินว่า ไม่ได้พร้อมกันเลย มีจิตเกิดคั่นมาก ทั้งภวังคจิตก็คั่น ทั้งวิถีจิตก็คั่นหลายวาระ

    เพราะฉะนั้นที่เราคิดว่า กำลังเห็นด้วยได้ยินด้วย ติดกัน ใช่ไหมคะ เกือบจะไม่มีช่องว่างเลย แต่จริงๆมีช่องว่าง เพราะฉะนั้นวาระหนึ่งที่ชวนวิถีจะเกิดทางปัญจทวาร ต้องเป็นไปได้

    บุษบง ทีนี้ภวังคจิตก็จะเกิดดับสลับ ใช่ไหมคะ ทางหูได้ยิน แล้วก็เป็นภวังคจิต แล้วเป็นทางตา แล้วก็เป็นภวังคจิต ที่ฟังท่านอาจารย์มาคร่าวๆ พอจะสรุปได้ว่า จะไม่มีภวังคจิตคั่นอยู่ตอนจุติและปฏิสนธิ จะไม่มีภวังคจิตคั่น

    ท่านอาจารย์    เพราะว่าหลังจุติดับ ปฏิสนธิจิตต้องเกิดทันที

    บุษบง และอันที่สอง ขณะที่เข้าฌาน ก็ไม่มีภวังคจิต

    ท่านอาจารย์    ขณะที่ฌานจิตเกิดสืบต่อ

    บุษบง และอันที่ ๓ คือ มรรคจิตจะเป็นผลจิต ก็ไม่มีภวังคจิต

    ท่านอาจารย์    ไม่มีค่ะ เพราะว่าวาระเดียวกัน ภวังคจิตคั่นระหว่างทวารต่างๆ

    บุษบง ถ้าสมมติว่าจุติเกิด และปฏิสนธิต่อ  จะเรียกว่าเป็นอนันตรปัจจัยใช่ไหมคะ

    ท่านอาจารย์    แน่นอนค่ะ

    อนันตรปัจจัย หมายความว่า จิตขณะหนึ่งซึ่งเกิดและดับไป จิตที่ดับไปแล้วเป็นปัจจัยทำให้จิตอื่นเกิดสืบต่อ เพราะเหตุว่าจิตทุกประเภทที่ไม่ใช่จุติจิตของพระอรหันต์ เมื่อดับไปแล้วต้องเป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดขึ้น เรียกว่า อนันตรปัจจัย คือสืบต่อกันมาเรื่อยๆ ตั้งแต่เช้าจนกระทั่งมาถึงเดี๋ยวนี้ ตั้งแต่เกิดมาจนกระทั่งถึงเดี๋ยวนี้ และต่อไป

    เพราะฉะนั้นแต่ละภพแต่ละชาติมีความตายเป็นเครื่องคั่นภพชาติ แต่ความจริงแล้ว จิตเกิดดับสืบต่อกันไปเรื่อยๆ


    หมายเลข 8149
    7 ก.ย. 2558