เป็นเรื่องของสภาพธรรมแต่ละอย่างเกิดขึ้นกระทำกิจ


    ผู้ฟัง    การที่เราศึกษาธรรม หรือว่าปฏิบัติ สมมติว่ามีศีล ที่เราเรียกว่า การรักษาศีล ก็ถือว่าเป็นการปฏิบัติธรรม ไม่ทราบถูกหรือเปล่า หรือการทำทาน การให้ทานก็ถือว่าเป็นกุศล เป็นการละกิเลส พวกความโลภ หรือว่าการปฏิบัติตามศีล ไม่ว่าจะเป็นศีล ๕ ศีล ๘ ศีลของพระ ๒๒๗ แต่สิ่งหนึ่งที่เราสนใจกันก็คือ การภาวนา เท่าที่อ่านตำรา ภาวนาก็จะได้กุศลแรง หรือจะทำให้เกิดสมาธิ หรือทำให้จิตสงบ แล้วจะเกิดความรู้หรือปัญญาขึ้นมาในสมาธิ อยากจะทราบตรงนี้ว่าเป็นอย่างไร

    ท่านอาจารย์    นี่ก็คือจุดที่ว่า เมื่อไม่ได้ศึกษาพระธรรมโดยตรง แล้วก็เป็นหนังสือเขียนโดยคนโน้นคนนี้บ้าง แต่ไม่ใช่คำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะฉะนั้นก็ไม่สามารถจะให้ความจริงได้ แต่ถ้าเป็นคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว จะเป็นเรื่องของความจริงโดยตลอด แล้วก็เป็นเหตุเป็นผลตั้งแต่ต้นทีเดียว แม้แต่จะใช้คำหนึ่งคำใดก็ต้องมีสภาพธรรมจริงๆ ที่กำลังปฏิบัติหน้าที่ของธรรมนั้น เคยโกรธใช่ไหมคะ ขณะนั้นเป็นธรรมชนิดหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นทำกิจของธรรมนั้น คือ สภาพของโทสะ จะหยาบกระด้าง จิตใจจะไม่อ่อนโยนเลยในขณะนั้น มีแต่ความร้อน หรือความหยาบ ความแข็ง ความกระด้าง เพราะเหตุว่าลักษณะของสภาพธรรมชนิดนี้มีกิจการงานอย่างนี้ มีลักษณะอย่างนี้ ตรงกันข้ามกับอโทสะ ความไม่โกรธ หรือความเมตตา ถ้าถึงแม้ว่าใครจะทำอะไรสักเท่าไร เราก็ยังมีเมตตา คือ มีความเข้าใจ มีความเห็นใจ และจิตใจของเราในขณะนั้นมีการให้อภัย สบาย ไม่เดือดร้อน นั่นก็เป็นสภาพธรรมอีกอย่างหนึ่ง

    เพราะฉะนั้นสภาพธรรมแต่ละอย่างก็เกิดขึ้นทำกิจการงานของสภาพธรรมนั้นๆ ปฏิบัติหน้าที่ ปฏิบัติกิจของตน เพราะฉะนั้นการปฏิบัติธรรมก็ต้องมีสภาพธรรมที่กำลังปฏิบัติกิจนั้นด้วย จึงจะชื่อว่า ปฏิบัติธรรม ถ้าสภาพธรรมนั้นไม่เกิดปฏิบัติหน้าที่นั้น เราจะไปบอกว่า เขากำลังปฏิบัติหน้าที่นั้นก็ไม่ได้


    หมายเลข 8083
    6 ก.ย. 2558