สติต้องระลึกในทางที่เป็นกุศล


    ท่านอาจารย์ จำไว้อย่างหนึ่งว่า จริงๆแล้ว สติเป็นสภาพธรรมที่ดีงาม เป็นกุศล เพราะฉะนั้นเวลาสติเกิดจะเป็นไปในทาน มีการระลึกที่จะให้สิ่งที่เป็นประโยชน์แก่คนอื่น ไม่ใช่เห็นแก่ตัว หรืออยากจะได้ เพราะว่าวันหนึ่งๆ ทุกคนคิดแต่ละเอา วันนี้จะทำอะไรบ้าง จะซื้ออะไร จะรับประทานอะไร จะหาอะไรสำหรับตัวเอง นั่นคือโลภะ ความติดข้อง แต่สติมีลักษณะที่ระลึกเป็นไปในกุศลทุกประเภท ทั้งในทาน คิดที่จะสละวัตถุให้คนอื่น นั่นคือสติที่ระลึก ไม่ใช่เรา ขณะที่เห็นมด แต่ไม่ฆ่า ถ้ามดตกน้ำ เราก็ค่อยๆช้อนขึ้นมา เอากระดาษทิสชูจุ้มลงไปให้เขาไต่ขึ้นมา นั่นคือสติเป็นไปที่จะช่วยชีวิต การกระทำที่เป็นประโยชน์กับบุคคลอื่น ขณะนั้นก็เป็นสติ ไม่ใช่เรา ที่จริงระลึกได้ที่จะทำประโยชน์

    ในขณะที่จิตใจของเราเร่าร้อน โกรธคนนั้น โกรธคนนี้แล้วเราก็มาคิดว่า ความโกรธไม่มีประโยชน์เลย เพราะว่าคนที่เราโกรธ เขากำลังสบาย กำลังสนุกสนาน แล้วเราก็มานั่งเดือดร้อน กลุ้มใจ เป็นทุกข์  เพราะฉะนั้นขณะที่ระลึกได้ที่จะเห็นโทษของโทสะ ขณะนั้นเป็นสติที่กำลังทำหน้าที่ระลึกได้ ขณะที่กำลังฟังธรรมขณะนี้ เป็นสติที่ระลึกว่า ชีวิตของเราน้อย ทุกอย่างเกิดมาแล้วเราเอาไปไม่ได้เลย นอกจากทำให้เราติดในสิ่งนั้นเพิ่มขึ้น

    เพราะฉะนั้นแทนที่เราจะไปเพลิดเพลินไปดูโทรทัศน์ ไปอ่านหนังสือ เรามาฟังเรื่องความจริง ว่า ในชีวิตนี้เราสามารถรู้อะไรที่เป็นของจริงของแท้ซึ่งเราไม่เคยรู้มาก่อน แล้วก็เป็นความจริงที่   พิสูจน์ได้ที่พระพุทธเจ้าท่านทรงแสดง เพราะว่าตรัสรู้ว่า ความจริงนี้เป็นอย่างนี้ ขณะนี้เป็นสติที่ทำให้เรามานั่งฟังธรรม ไม่มีตัวตนเลย บางครั้งเป็นกุศล บางครั้งเป็นอกุศล ก็เป็นจิตประเภทต่างๆ ขณะที่สติเกิดจะต้องไปในบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ คือ หนทางของบุญมี ๑๐ อย่าง ย่อลงไปเป็น ๓ คือ ทาน ศีล และการอบรม ที่ใช้คำว่า “ภาวนา”


    หมายเลข 8088
    6 ก.ย. 2558