ปัญญารู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฎ


    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นก็เลยย้อนไปอีกอันหนึ่ง ไม่ทราบเป็นอันเดียวกันหรือเปล่า ที่ว่า ศีล สมาธิ ปัญญา คือผมพูดอยู่เวลานี้ คือตัวสมาธิตัวนั้นหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์    สมาธิมี ๒ อย่าง มิจฉาสมาธิกับสัมมาสมาธิ

    สัมมาสมาธิ คือ สมาธิที่เกิดกับปัญญา มิจฉาสมาธิไม่เกิดกับปัญญา ถ้าเป็นปัญญาแล้วผิดไม่ได้ ปัญญาต้องถูก ต้องตรงต่อลักษณะของสภาพธรรม พระพุทธเจ้าเห็นไหม ตอนปรินิพพานเห็นไหมคะ เห็นท่านพระสารีบุตรไหม  ไปบิณฑบาตหรือเปล่า เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว ยังไม่ปรินิพพาน ระหว่างยังไม่ปรินิพพาน เห็นไหม ได้ยินไหม แสดงธรรมต้องเห็นไหม ต้องได้ยินไหม เป็นพระพุทธเจ้าแล้วเห็นหรือเปล่า ได้ยินหรือเปล่า

    นี่คือปัญญา ความคิดถูกต้องตามความเป็นจริงของสภาพธรรม ไม่ใช่ปัญญาของคนอื่น ปัญญาของเราเอง เกิดจากการใคร่ครวญพิจารณาในเหตุผลตามความเป็นจริงว่า เมื่อคนยังไม่ตาย ไม่ว่าจะเป็นพระพุทธเจ้าหรือไม่ใช่พระพุทธเจ้า เห็นไหม ได้ยินไหม คิดนึกไหม

    ผู้ฟัง ถ้าชีวิตประจำวันก็ต้องเห็น ต้องคิดนึก

    ท่านอาจารย์ ถูกต้องใช่ไหมคะ พระพุทธเจ้าเห็นกับเราเห็นต่างกันหรือเหมือนกัน ลักษณะที่เห็น แมวเห็น นกเห็น เราเห็น พระพุทธเจ้าเห็น

    ผู้ฟัง ต่างกัน

    ท่านอาจารย์ ต่างกันอย่างไรคะ จิตเห็น

    ผู้ฟัง ถ้าเป็นแมวเห็น ลักษณะความเข้าใจปัญญาของแมว

    ท่านอาจารย์ เราไม่ได้พูดถึงความเข้าใจ เราพูดถึงการเห็น เข้าใจนั้นทีหลังเห็น ต้องเห็นก่อน

    ผู้ฟัง สภาพที่ปรากฏก็ต้องเหมือนกัน

    ท่านอาจารย์ เหมือนกันนะคะ ไม่ว่าจะเชื้อชาติไหน เด็กเล็กผู้ใหญ่ สัตว์หรือคน  แต่เกิดในนรกแล้วเห็น เห็นนั้นเหมือนกันไหมกับเห็นเดี๋ยวนี้

    ผู้ฟัง ก็ต้องเหมือนกัน

    ท่านอาจารย์ เทวดาเห็น พรหมเห็น กับเราเห็น เหมือนกันหมดนะคะ เพราะอะไรคะ

    ผู้ฟัง เพราะสิ่งนั้นเกิดขึ้นเป็นอันเดียวกัน

    ท่านอาจารย์ เพราะไม่ใช่ตัวตนค่ะ เป็นเพียงธาตุชนิดหนึ่งซึ่งต้องเห็นสิ่งที่ปรากฏ ธาตุชนิดนี้ได้ยินไม่ได้  คิดนึกไม่ได้  ทำได้อย่างเดียว คือ เห็น

    นี่คือชั่วขณะจิตที่แสนสั้นยิ่งกว่าเสี้ยววินาที เพราะฉะนั้นเราจะย่นย่อโดยคอมพิวเตอร์ หรือโดยอะไรก็ตาม ถึงความรวดเร็วของการเกิดดับ จะรู้ว่า ขณะที่เห็นชั่วขณะสั้นๆ เป็นจิตชนิดหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย มีเจตสิกประกอบเท่ากัน ไม่ว่าจะเป็นใครเห็น เห็นที่ไหนทั้งสิ้น พระพุทธเจ้าท่านเห็นใช่ไหมคะ เราก็เห็น แต่เมื่อพระพุทธเจ้าเห็นแล้วไม่มีกิเลส ถูกต้องไหมคะ แต่เราเห็นแล้วมีกิเลส ถูกต้องไหม

    เพราะฉะนั้นความต่างกันของ ๒ บุคคลนี้ อยู่ที่ปัญญาใช่ไหม เมื่อพระพุทธเจ้าท่านเห็นแล้ว ปัญญาท่านรู้สิ่งที่กำลังปรากฏ นั่นคือปัญญา แต่เราไม่ได้รู้สิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้นถ้าจะพูดถึงวิปัสสนา หรือปัญญา ก็คือปัญญารู้สิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่ใช่จะต้องไปทำอะไรขึ้นมา แต่เป็นการสามารถประจักษ์ความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ซึ่งอบรมได้ เจริญได้ ตั้งแต่ขั้นฟัง คือ ต้องมีการฟังให้เข้าใจก่อน ถ้าไม่มีการฟังเลย รับรองว่า เราจะไม่เกิดปัญญาที่จะรู้ความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏ เราจะไปนั่งหลับตา แล้วก็ไม่เกิดปัญญารู้ความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏ   


    หมายเลข 8073
    6 ก.ย. 2558