ธรรมมีกิจการงานของตน ๒


    ด้วยเหตุนี้พระธรรมจึงให้เราได้เข้าใจในเรื่องของอนัตตา คือ สภาพธรรมแต่ละอย่างไม่ใช่สัตว์บุคคล ไม่ใช่ตัวตน และปัญญาก็มีหลายขั้น ปัญญาขั้นฟังเข้าใจเรื่องของธรรม ปัญญาที่กำลังพิจารณารู้ลักษณะของสภาพธรรม และปัญญาที่ประจักษ์แจ้งธรรมตามความเป็นจริง

    เพราะฉะนั้นก่อนที่เราจะไปพูดถึงเรื่องโทสะ แล้วไม่อยากมีโทสะ เวลาที่ไม่สงบ  อยากมีความสงบ ก็ต้องรู้ว่า ขณะนั้นถ้าไม่ใช่ปัญญาจริงๆแล้ว ไม่ใช่โทสะก็ต้องเป็นโลภะ ส่วนใหญ่ของคนเราไม่ชอบความโกรธ เพราะฉะนั้นจากความโกรธหันไปหาความติดข้อง ไม่ชอบโทสะ แต่ชอบโลภะ เอาไหมคะอกุศลทั้ง ๒ อย่าง จะฆ่าโทสะซึ่งเป็นอกุศลด้วยโลภะซึ่งเป็นอกุศล เพราะฉะนั้นก็ยังคงติดอยู่ในอกุศล เพราะปัญญาไม่ได้รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง

    แต่ถ้าเป็นเรื่องของ “ไตรสิกขา” แล้ว ไม่ใช่เป็นเรื่องที่เข้าใจแต่เฉพาะจิต สภาพธรรมทุกอย่างที่ปรากฏแล้วเคยไม่รู้ ก็จะมีความค่อยๆรู้ ค่อยๆเข้าใจขึ้น จนกว่าจะถึงความสมบูรณ์ที่จะประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมนั้นได้

    เป็นเรื่องใจเย็นๆ และอย่าคิดว่าจะทำ แต่ให้เข้าใจสิ่งที่กำลังมี กำลังปรากฏให้ถูกต้อง เป็นเรื่องที่ยากกว่า ยาวกว่า แต่สามารถจะดับความไม่รู้ได้จริงๆ เพราะเหตุว่าความรู้ค่อยๆเกิดขึ้น แล้วก็ต้องเป็นความรู้ถูก แม้แต่คำว่า “อารมณ์” ต่อไปนี้ก็ต้องเข้าใจให้ถูกต้องว่า ทางพระพุทธศาสนาหมายความว่า สิ่งที่จิตรู้

    ถ้ามีวิธีที่ทำได้ ไม่อาศัยพระปัญญาคุณของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเลย แต่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนให้เกิดปัญญา เข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริง แล้วปัญญานั่นเองจะทำกิจของปัญญา ถ้าไม่มีปัญญา แล้วมีแต่โลภะ แล้วจะทำให้ไม่มีโลภะ ก็เป็นไปไม่ได้ ไม่มีปัญญาเลย ไม่ชอบโทสะ แต่ไม่มีปัญญา เพราะฉะนั้นอยากเท่าไรที่จะไม่ให้มีโทสะ โทสะก็ต้องเกิด เพราะเหตุว่าปัญญาไม่เกิด เมื่อปัญญาไม่เกิด ตัวตนจะไปทำกิจของปัญญาก็ไม่ได้ ไม่มีตัวตนที่จะไปทำอะไรได้เลยสักอย่างเดียว โลภะมีจริง มีลักษณะ มีกิจการงานของโลภะ โทสะมีจริง มีลักษณะ มีกิจการงานของโทสะ  เมตตามีจริง มีกิจการงานของเมตตา กรุณามีจริง มีกิจการงานของกรุณา

    เพราะฉะนั้นวันหนึ่งๆ เราจะรู้จักตัวเรา เดี๋ยวก็เกิดโลภะ เดี๋ยวก็เกิดโทสะ เดี๋ยวก็เกิดเมตตา เดี๋ยวก็เกิดกรุณา ล้วนแต่เป็นสภาพธรรมทั้งหมด แต่เรายึดถือว่าเป็นเราทั้งหมด เพราะไม่รู้ความจริงว่า แท้ที่จริงแล้วก็เป็นสภาพธรรมแต่ละอย่างนั่นเอง ถ้าเราเป็นผู้ตรงต่อธรรม ไม่เข้าข้างตัวเอง เราจะรู้เลยว่า เราดีหรือเราไม่ดีแค่ไหน ความริษยาเกิดขึ้นมานิดหนึ่ง คนอื่นยังไม่ทันรู้ แต่เรารู้ ความตระหนี่เกิดขึ้นมา คนอื่นไม่รู้ แต่เราก็รู้

    เพราะฉะนั้นเราจะรู้จักตัวของเราเองถ่องแท้ชัดเจน และถ้าเรารู้จักตัวของเราเองถ่องแท้ ทะลุปรุโปร่งไปถึงคนอื่นหมด เหมือนกันทั้งหมด ใจอย่างไรทำให้เกิดคำพูดอย่างไร สิ่งที่ไม่ดีทั้งหมด ไม่ว่าคำพูดที่ไม่จริงก็ต้องมาจากอกุศล สิ่งที่ไม่ดี เพราะเหตุว่าถ้าเป็นสิ่งที่ดี ทำไมต้องพูดสิ่งที่ไม่จริง ใช่ไหมคะ ถ้าดีแล้วก็ต้องเป็นสิ่งที่พูดได้ เปิดเผยได้ คนอื่นก็ชอบ แต่พอพูดไม่จริงนิดหนึ่งก็หมายความว่า มีสิ่งที่ไม่ดี ที่เราไม่ต้องการให้คนอื่นรู้ตามนั้น  เพราะฉะนั้นก็พูดสิ่งที่ไม่จริง

    เพราะฉะนั้นก็ไม่มีใครจะแก้ไขตัวเองได้ นอกจากปัญญาที่รู้จักตัวเองขึ้น และก็เห็นโทษด้วยว่า ถ้าตราบใดที่ยังมีสิ่งที่ไม่ดีอยู่ เราก็จะเป็นคนที่น่าเกลียดและมีความทุกข์มาก และจะได้รับผลของกรรมที่ได้ทำไปแล้วด้วย คนอื่นก็บันดาลให้ไม่ได้ แต่พระธรรมจะทำให้เราเริ่มขัดเกลาตัวของเรา เพราะรู้จักตัวของเราชัดเจนขึ้น ถ้าเรารู้ว่าตัวเรามีสิ่งที่ไม่ดีเยอะๆ เราก็อยากจะให้น้อยลง ใช่ไหมคะ แต่วิธีที่จะให้น้อยลงก็ไม่ง่าย ต้องมีปัญญาเพิ่มขึ้น ถ้าไม่มีปัญญาก็น้อยไม่ได้


    หมายเลข 8052
    6 ก.ย. 2558