การให้ควรนึกถึงประโยชน์ผู้รับ


    ถาม   การทำทานของพระพุทธเจ้ามีอะไรบ้าง และทำแล้วได้อะไรบ้างที่ท่านเคยทำ

    ท่านอาจารย์    ของพระพุทธเจ้าเลยหรือคะ

    ผู้ที่ไม่มีกิเลสเลย ลองคิดดูนะคะ ไม่มีความตระหนี่เลย ความตระหนี่ที่เราคิดว่า เราตระหนี่สมบัติ แท้ที่จริงเราไม่ได้ตระหนี่เพียงสมบัติ เราตระหนี่แม้แต่คำสรรเสริญ คำชม เราตระหนี่แม้แต่ตระกูล คือ เพื่อนฝูงญาติมิตรสหาย เราไม่ต้องการให้คนอื่นมาเป็นที่รัก

    เพราะฉะนั้นตระหนี่มีถึง ๕ อย่าง ตระหนี่ที่อยู่อาศัย ตระหนี่ลาภ ตระหนี่คำสรรเสริญ ตระหนี่ตระกูล ตระหนี่ธรรม บางคนไม่อยากให้คนอื่นรู้ธรรมละเอียด เพราะว่าเดี๋ยวจะมีชื่อเสียง เดี๋ยวจะเก่ง เดี๋ยวจะดัง แต่ผู้ที่ไม่มีกิเลสเลย เป็นฝ่ายที่ให้ตลอด ถ้ามีอาหารที่มีผู้นำมาถวายมากแล้วก็เหลือ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสให้ให้นอกจากจะเป็นคนเข็ญใจ คนยากไร้ แม้แต่คนที่มีความเห็นอื่นก็ให้ได้  คือ ทานทุกชนิด ไม่ใช่จำกัดแต่กับคน แม้แต่กับสัตว์เดรัจฉาน การที่เรามีจิตใจเมตตา ต้องการให้คนอื่นมีความสุข  สิ่งใดที่จะเป็นประโยชน์แก่คนอื่นแล้วให้ โดยไม่ใช่หวังว่า ให้อย่างนั้นแล้วเราจะได้อะไร  แต่ถ้าเป็นการให้จริงๆ โดยที่การให้นั้นต้องไม่หวังสิ่งใดตอบแทนทั้งสิ้น “ทั้งสิ้น” แม้แต่คำชมว่าเป็นผู้ที่ใจบุญ แม้แต่ชื่อเสียง หรือแม้แต่การหวังผลตอบแทน หรือแม้แต่ให้คนที่เราให้ตอบแทนเราด้วยประการหนึ่งประการใด เพราะว่าถ้าการให้ยังเป็นไปด้วยกิเลส ผู้ให้จะถือว่าเป็นผู้ให้ เพราะฉะนั้นก็จะถือว่าผู้รับต้องมีการกระทำตอบอย่างหนึ่งอย่างใด อาจจะหวังเพียงการเคารพ หรืออาจจะหวังการช่วยเหลือ หรืออาจจะหวังแม้ความรัก ความผูกพัน

    นี่ชื่อว่า ให้โดยผูกพัน คือ หวังที่จะได้รับสิ่งตอบแทน แต่ถ้าเป็นการให้จริงๆ ต้องไม่มีการหวังทั้งสิ้น ต้องใช้คำว่า “ทั้งสิ้น” และต้องเป็นเพื่อประโยชน์แก่ผู้นั้นจริงๆ ถึงแม้ว่าเป็นอาหารที่เรารับประทานแล้ว

    คือ ปกติการให้มีหลายอย่าง การให้ที่เป็นทาสทาน ที่เป็นสหายทาน ที่เป็นทานบดี

    การให้ที่เป็นทาสทาน คือ เรายังเป็นทาสของกิเลสตัณหา เราจะให้ได้เฉพาะสิ่งที่เราไม่ต้องการแล้ว อย่างเสื้อผ้า ถ้าเรายังชอบอยู่ เราก็ไม่ให้ เราก็ให้ตัวที่เราไม่ได้ใช้แล้ว หรืออาหารที่เราบริโภคแล้ว เราบริโภคสิ่งที่อร่อย สิ่งที่ไม่ค่อยอร่อยก็ให้คนอื่น หรือถ้ามีผลไม้ ผลไม้ดีๆ เราก็เก็บเอาไว้ แต่ส่วนที่จะให้คนอื่น อย่างคนในบ้าน เราก็อาจจะเลือกลูกเล็กๆ หรือรสชาติเปรี้ยวนิดๆให้ไป นี่แสดงว่าเรายังเป็นทาสทาน ยังเป็นทาสของกิเลสตัณหาอยู่ 

    ถ้าเป็นสหายทาน ก็คือให้เสมอกัน สิ่งที่เรามี เราใช้อย่างไร เราก็ให้อย่างนั้น เราสามารถสละได้ เหมือนการให้กับมิตรสหายซึ่งเสมอกัน อันนั้นก็เป็นสหายทาน

    ถ้าเป็นทานบดี หมายความว่าเราเป็นใหญ่ในการให้ เราสามารถสละให้ได้เพื่อประโยชน์ของคนนั้นจริงๆ แม้ว่าตัวเราอาจจะลำบากบ้างก็ตาม แต่ถ้าเห็นว่าเป็นประโยชน์กับเขามากกว่าเรา เราก็ให้ได้ อย่างนั้นเป็นทานบดี

    เพราะฉะนั้นแม้แต่การให้แต่ละครั้ง เราก็สามารถพิจารณาจิตใจของเราได้ว่า ใจของเราบริสุทธิ์แค่ไหน สะอาดและผ่องใสแค่ไหนในการให้

    นี่พูดถึงเรื่องจิตของผู้ให้ แต่จริงๆแล้ว เราไม่ต้องคิดถึงจิตของเรา การให้ควรจะนึกถึงผู้รับ ถ้าสิ่งนั้นเป็นประโยชน์แก่ผู้รับก็ให้

    เพราะฉะนั้นก็พิจารณาจากจิตใจของเราได้ว่า ถ้าเป็นเรื่องของการให้แล้วคำนึงถึงประโยชน์ของผู้รับ ถ้าสิ่งใดเป็นประโยชน์แก่ผู้รับก็ให้ เพราะว่าแม้แต่เศษกระดาษของเราซึ่งอาจจะไม่มีความหมาย เด็กตามโรงเรียนที่ไม่มีกระดาษพอใช้ เขาก็ไปใช้ประโยชน์ได้ หรือคนเข็นรถเก็บกระป๋องหรือกระดาษแข็งแล้วนำไปขาย เราก็ไปกองไว้หน้าบ้าน ของที่ใช้แล้วไม่เป็นประโยชน์ก็ให้ไป ทุกอย่างมีประโยชน์ คิดถึงคนรับดีกว่า   

    นี่เป็นเรื่องของการให้

    ที่ถาม ถามต่อว่าไงคะ พระพุทธเจ้าหรือคะ ทุกอย่างไม่ต้องห่วงค่ะ เราให้ได้แค่นี้แล้วพระองค์จะให้ได้แค่ไหน คิดดูก็แล้วกัน ทั้งธรรมทานและวัตถุทาน แล้วก็ของทุกอย่างที่จะเป็นประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่ควรกับผู้ใดก็ให้แก่ผู้นั้น


    หมายเลข 8059
    6 ก.ย. 2558