สังฆทาน ๑


    เพราะฉะนั้นขอพูดเรื่องสังฆทานสักนิดหนึ่ง เพราะว่าโดยมากคนชอบใช้คำว่า “สังฆทาน” โดยไม่เข้าใจสังฆทานเลย

    “สังฆะ” หมายความถึงสงฆ์ หมู่คณะ ไม่ใช่ภิกษุเจาะจง คือ เราต้องทราบตามพระวินัยหรือเราอาจจะไม่ค่อยศึกษาเรื่องของพระภิกษุ แต่ให้ทราบว่า เราใช้คำไม่ถูก ถ้าเราพูดถึงพระแต่ละรูป เป็นภิกษุ ไม่ว่าจะเป็นสมเด็จพระสังฆราช  พระราชาคณะ หรือใครก็ตามเป็นภิกษุ  ต่อเมื่อใดเป็นหมู่คณะในขณะที่กระทำกิจของสงฆ์ตามพระวินัยจึงเป็นสงฆ์

    “สงฆ์” คือ ผู้ได้รับมอบหมายโดยพระวินัยว่า ให้พระภิกษุรูปใดทำกิจของสงฆ์ และในขณะที่ทำกิจของสงฆ์เท่านั้นที่เป็นสงฆ์ เช่นในขณะที่บวช เวลาบวชจะต้องมีพระที่กระทำพิธี กระทำกิจบวชให้ ต้องประกอบด้วยพระภิกษุจำนวนเท่าไร และพระภิกษุเหล่านั้นต้องได้รับอนุมัติจากพระส่วนรวมให้กระทำกิจนั้น จึงเป็นสงฆ์ในขณะที่กำลังทำกิจนั้น พอเสร็จสังฆกรรมคือกิจนั้นแล้ว เป็นภิกษุแต่ละรูป

    นี่ต้องเข้าใจคำว่า “สงฆ์” หรือภิกษุ ภิกษุ คือ เดี่ยวๆ แต่ละบุคคล สงฆ์คือคณะที่กระทำกิจตามพระวินัยว่า พระวินัยบัญญัติไว้กิจนี้ต้องประกอบด้วยพระภิกษุกี่รูป รวมเป็นสงฆ์ คือ คณะที่จะทำกิจนั้นได้ และเมื่อจบกิจหน้าที่นั้นแล้วเป็นภิกษุแต่ละรูป

    เพราะฉะนั้นการที่เราจะเคารพนับถือภิกษุ อย่างบางคนก็นับถือภิกษุรูปนั้น บางคนก็นับถือภิกษุรูปนี้ ให้ทราบว่า นั่นเป็นการนับถือภิกษุ ไม่ใช่เป็นการนับถือสงฆ์ เพราะเหตุว่าเป็นการนับถือภิกษุแต่ละรูป

    มีคนถามดิฉัน เพราะอยากจะรู้จริงๆว่า พระภิกษุรูปไหนที่ดิฉันเคารพมาก ดิฉันตอบว่า ดิฉันเคารพพระภิกษุที่ไม่มีเจตนาที่จะลบหลู่หรือกระทำผิดพระวินัย ใครก็ได้ รูปไหนก็ได้ ซึ่งท่านไม่มีเจตนาจะทำผิดพระวินัย เพราะบางทีท่านอาจจะพลาดพลั้งโดยความไม่รู้  แต่ต้องไม่มีความจงใจที่จะลบหลู่ข้อบัญญัติที่พระผู้มีพระภาคทรงวางไว้สำหรับเป็นข้อปฏิบัติของพระภิกษุ

    เพราะฉะนั้นไม่ต้องจำกัดว่า เรานับถือภิกษุรูปนี้หรือภิกษุรูปนั้น  แต่เรานับถือพระภิกษุที่ไม่มีเจตนาลบหลู่หรือไม่ประพฤติปฏิบัติตามพระวินัย เพราะเหตุว่าธรรมเป็นเรื่องจริง เป็นเรื่องตรง กุศลคือกุศล ดีคือดี อกุศลคืออกุศล ชั่วคือชั่ว ไม่ว่าจะเป็นจิตของเรา หรือจิตของใครต้องเหมือนกัน โทสะของเรากับโทสะของคนอื่นต้องเหมือนกัน ไม่ใช่โทสะของเราไม่เป็นไร แต่ของเขาน่าเกลียดมาก ไม่ได้นะคะ

    โทสะ คือ สภาพที่หยาบกระด้าง ประทุษร้าย เกิดกับใคร คนนั้นเป็นอย่างนั้น เพราะเหตุว่าไม่มีสัตว์บุคคล มีแต่สภาพธรรมที่กำลังเกิดขึ้นทำกิจการงานอย่างนั้น

    เพราะฉะนั้นให้ทราบจริงๆว่า ต้องเป็นผู้ตรง แม้เป็นภิกษุ ยังมีกิเลส กุศลจิตของพระภิกษุก็เป็นกุศลจิต อกุศลจิตของพระภิกษุก็เป็นอกุศลจิต เพราะฉะนั้นจะมาบอกว่า นับถือบุคคลนั้น บุคคลนี้ได้อย่างไร เราก็ต้องผู้ตรงที่ว่า นับถือกุศล แต่ไม่นับถืออกุศล ไม่ว่าของใครทั้งสิ้น  คนยากจนก็มีกุศลจิตได้ คนสูงส่งก็มีอกุศลจิตได้ แล้วเราจะไปเลือกหรือว่า เรานับถือบุคคลนี้ ไม่นับถือบุคคลนั้น ในเมื่อกำลังเป็นอกุศล ไม่ว่าใครก็ต้องเหมือนกันหมดที่จะต้องเป็นอกุศล ไม่ว่าเราหรือเขาด้วย เพราะว่าสภาพธรรมต้องเป็นจริงอย่างนั้น เพราะฉะนั้นจิตใจของเรามีหลายประเภทซึ่งเราเป็นผู้ตรง เราก็ต้องรู้

    เพราะฉะนั้นเมื่อเข้าใจคำว่า “ภิกษุ” กับ “สงฆ์” ว่าต่างกัน คือสงฆ์ต้องเป็นคณะ หมู่ จำนวนภิกษุเฉพาะขณะที่กระทำกิจกรรมที่ได้รับมอบหมายตามพระวินัย เช่น  ขณะที่บวช หรือขณะที่รับกฐิน เป็นต้น แต่หลังจากจบพิธีนั้นแล้ว เป็นภิกษุบุคคล ความประพฤติจะเป็นอย่างไร กุศลต้องเป็นกุศล อกุศลต้องเป็นอกุศล


    หมายเลข 8061
    6 ก.ย. 2558