พิจารณาเห็นโลกโดยความเป็นของสูญ


    ซึ่งพระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า

    บุคคลย่อมพิจารณาเห็นโลก โดยความเป็นของสูญแม้อย่างนี้

    สำหรับข้อความที่ผู้ใดจะพิจารณาเห็นโลกเสมอด้วยหญ้าและไม้ด้วยปัญญาจริงๆ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน หญ้า ไม้ กิ่งไม้และใบไม้ใด ที่มีอยู่ในเชตวันวิหารนี้ ชนพึงนำหญ้า ไม้ กิ่งไม้และใบไม้นั้นไปเสีย เผาเสีย หรือพึงทำตามควรแก่เหตุ. ท่านทั้งหลายพึงมีความคิดอย่างนี้ว่า ชนนำเราทั้งหลายไปเสีย เผาเสีย หรือทำตามควรแก่เหตุบ้างหรือหนอ?

    ภิกษุกราบทูลว่า ไม่ใช่อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า.

    นั่นเป็นเพราะอะไร นั่นเป็นเพราะเหตุอะไร เพราะสิ่งเหล่านั้นไม่ใช่ตน หรือสิ่งที่เนื่องกับตนของข้าพระองค์ทั้งหลายอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า.

     พ.   ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกันแล สิ่งใดไม่ใช่ของท่านทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงละสิ่งนั้นเสีย. สิ่งนั้นอันท่านทั้งหลายละเสียแล้ว จักเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขตลอดกาลนาน.

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย รูปไม่ใช่ของท่านทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงละรูปนั้นเสีย รูปนั้นอันท่านทั้งหลายละเสียแล้ว จักเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขตลอดกาลนาน.

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณไม่ใช่ของท่านทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงละสิ่งนั้นเสีย สิ่งนั้นอันท่านทั้งหลายละเสียแล้ว จักเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขตลอดกาลนาน.

    บุคคลย่อมพิจารณาเห็นโลกโดยความเป็นของสูญแม้อย่างนี้.

    เพราะฉะนั้นถ้ายังไม่รู้สึกว่า “รูป” ที่เคยเป็นของท่าน “เวทนา” ความรู้สึกต่างๆซึ่งเคยเป็นของท่าน หรือเคยยึดถือว่าเป็นของท่าน “สัญญา” ความจำต่างๆ ว่าเป็นเรา ชื่อนี้อยู่ในโลกนี้ มีกิจหน้าที่อย่างนี้ “สังขารขันธ์ทั้งหลาย” ไม่ว่าจะเป็นกุศลธรรมหรืออกุศลธรรมทั้งหลาย ถ้ายังไม่รู้สึกว่า เสมอกับหญ้าและไม้และกิ่งไม้และใบไม้ ตราบนั้นก็ยังไม่สามารถที่จะละการยึดถือสภาพธรรม คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ว่าเป็นของตน หรือว่าเป็นตัวตนได้

    เพราะฉะนั้นการอบรมเจริญปัญญาจริงๆ ไม่ใช่รู้ขณะอื่น กำลังเห็นอย่างนี้ เป็นเพียงธาตุรู้ สภาพรู้ ซึ่งเกิดขึ้นและดับไป เหมือนกันไหมคะ กับเห็นขณะอื่นๆ ของบุคคลอื่นๆ ของขันธ์อื่นๆ เหมือนกันไหมคะ เสมอกันไหม ไม่ว่าจะเป็นการเห็นก็ดี การได้ยินก็ดี การได้กลิ่นก็ดี การลิ้มรสก็ดี สุขเวทนา ไม่ว่าจะเป็นของใคร ทุกขเวทนา ไม่ว่าจะเป็นของใคร โลภะ ไม่ว่าจะเป็นของใคร

    เพราะฉะนั้นถ้าไม่ประจักษ์แจ้งอย่างนี้จริงๆ ก็ยังไม่ใกล้ หรือยังไม่พร้อมแก่การที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระอริยบุคคล ไม่ว่าวันไหนจะเกิดปลงขึ้นมาว่า ไม่ใช่ของเรา ไม่ควรจะยึดถือเป็นของเรา แต่ว่าไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ โดยลักษณะที่เป็นนามธรรมและรูปธรรมตามความเป็นจริง เมื่อนั้นก็ไม่ใช่มรรคมีองค์ ๘ ที่จะทำให้ถึงความเป็นพระอริยบุคคลได้


    หมายเลข 7516
    21 ส.ค. 2558