ความเห็นผิดและวิปลาส


    อดิศักดิ์   เมื่อวานนี้ก็มีผู้หนึ่งซึ่งไม่ได้มาคุยเรื่องวิปลาส ก็ตั้งคำถามเรื่องวิปลาสขึ้นว่า ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ เขาก็เห็นสภาพธรรมเป็นบัญญัติหมด เขาไม่เคยระลึกรู้ในสภาพธรรมเลยว่าเป็นนามเป็นรูป เพราะเขาไม่เคยศึกษา เพราะฉะนั้นปุถุชนคนนั้นจะต้องมีทิฏฐิวิปลาสตลอดเวลาที่อารมณ์มาสู่จิต ซึ่งคำตอบก็คงไม่ใช่ แต่เขามีเหตุผลว่า เขาไม่เคยรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงเลย เพราะฉะนั้นทิฏฐิของเขาก็ต้องวิปลาสตลอดเลย ผมก็ตอบว่า ไม่ใช่ แม้ว่าเขาจะไม่เคยสดับเลย ถ้าจิตเป็นกุศลในทาน ในศีล ขณะนั้นก็ไม่มีทิฏฐิวิปลาส เขาก็ยังไม่แจ่มแจ้ง ฟังแล้วเขาก็ไม่เชื่อ ก็เลยอยากให้อาจารย์เพิ่มเติมครับ

    ท่านอาจารย์ การพิจารณาธรรมต้องพิจารณาละเอียดจนถึงขณะจิต อย่างที่กล่าวว่า คนที่ไม่ได้ศึกษาพระธรรมเลย ก็มีความเห็นผิด ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน แต่โลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์ไม่ได้เกิดตลอดเวลา นี่เป็นสิ่งที่คนนั้นอาจจะไม่รู้ เพราะเหตุว่าไม่ได้ศึกษาโดยละเอียด เพราะฉะนั้นก็ต้องแยกเวลาที่เห็น แล้วเกิดความยินดีชอบใจในสิ่งที่เห็น เวลารับประทานอาหารอร่อย ก็รู้สึกพอใจในรสอร่อยทันที ไม่ได้มีความเห็นใดๆทั้งสิ้นในขณะนั้น ในเรื่องของโลกเที่ยง ไม่เที่ยง ตายแล้วเกิดไหม หรือมีความเห็นว่า ต้องเป็นตัวตนแน่นอนที่กำลังบริโภคอาหารที่กำลังลิ้มรสที่อร่อยในขณะนี้ ในขณะที่ไม่มีความคิดเห็นใดๆ แต่โลภะก็เกิดแล้ว หรือโทสะก็เกิดแล้ว อย่างรวดเร็วตามการสะสม ในขณะนั้นสัญญาวิปลาส และจิตวิปลาส แต่ไม่ใช่ทิฏฐิวิปลาส

    อดิศักดิ์   แล้วเขาก็ถามต่อไปเลย แล้วทิฏฐิวิปลาสของปุถุชนที่มิได้สดับนั้นมีตอนไหน

    ท่านอาจารย์ ขณะที่มีความเห็น เป็นความคิดเห็นในเรื่องของตัวตน ในเรื่องของสภาพธรรมว่าเที่ยง ในเรื่องของสภาพธรรมว่าเป็นอัตตา เป็นตัวตน ต้องเป็นความคิดเห็น แต่ว่าขณะใดที่ไม่ใช่ความคิดเห็น ขณะนั้นก็เป็นเพราะสัญญาวิปลาส ทันทีที่เห็นและอกุศลจิตเกิด ไม่ได้มีความคิดเห็นใดๆเลยในขณะนั้น เป็นแต่เพียงเมื่อเห็นแล้ววิปลาส จึงเกิดโลภะ หรือโทสะ หรือโมหะที่เป็นอกุศล ในขณะนั้นไม่มีความคิดเห็นใดๆ เพราะฉะนั้นก็ไม่ใช่ทิฏฐิวิปลาส

    นิภัทร   ตกลงในวิปลาสมี ๓ คือ ทิฏฐิวิปลาส สัญญาวิปลาส จิตวิปลาส เกิดเฉพาะกับอกุศลจิตอย่างเดียวเท่านั้น ใช่ไหมครับ

    ท่านอาจารย์ ค่ะ

    นิภัทร   ในขณะที่เป็นกุศลแล้ว วิปลาสทั้ง ๓ ไม่มี

    ท่านอาจารย์ ถูกต้องค่ะ

    นิภัทร   ทีนี้ทิฏฐิวิปลาสอย่างเดียว ก็เกิดเฉพาะโลภมูลจิต ทิฏฐิคตสัมปยุตต์เท่านั้น ไม่ได้เกิดกับอกุศลจิตอื่นๆ ถ้าเอามาเทียบกับจิตอย่างนี้ ก็จะทำให้เข้าใจชัดเจนขึ้นว่า ทิฏฐิวิปลาสเกิดเฉพาะกับโลภมูลจิต ทิฏฐิคตสัมปยุตต์ ส่วนสัญญาวิปลาส จิตวิปลาสนั้นเกิดกับอกุศลจิตทั่วไป แต่ในขณะที่จิตเป็นกุศล เช่น ขณะให้ทาน ขณะรักษาศีล ขณะนั้นวิปลาสทั้ง ๓ ไม่เกิด


    หมายเลข 6830
    7 ส.ค. 2558