ไม่ควรรังเกียจเฉพาะโทสะ ควรรังเกียจโลภะด้วย


    ธรรมเป็นสิ่งที่รู้ได้แค่ไหน แต่ละท่านก็คงทราบ แต่สามารถฟังได้ และเข้าใจได้ ไม่ได้หมายความว่าเราไม่ควรจะฟังต่อไปอีกถึงความละเอียดต่างๆ สามารถฟังได้ เข้าใจได้ ความละเอียดก็เป็นความละเอียด แต่ว่าผู้นั้นก็รู้ตามความเป็นจริงว่าสติปัญญาของตนว่าจะรู้อะไรได้แค่ไหน

    สิ่งที่ได้ฟังเมื่อเช้านี้ก็พอดีสอดคล้องกับข้อความที่ได้เพิ่งสนทนากับท่านผู้หนึ่งเมื่อวานนี้ ซึ่งเป็นเรื่องของชีวิตประจำวัน และก็ได้เรียนให้ท่านผู้นั้นทราบว่าเมื่อได้ศึกษาธรรมแล้ว เราก็ประพฤติปฏิบัติธรรมเพื่อเป็นที่รักของคนอื่น ท่านผู้นั้นก็บอกว่าท่านไม่ได้ต้องการให้ใครรักท่าน ซึ่งดิฉันก็บอกท่านว่าถูกต้อง คำพูดนี้ถูก "รักในที่นี้ไม่ได้หมายความถึงโลภะ แต่หมายความถึงเมตตา" เมื่อพูดอย่างนี้ท่านนั้นก็เข้าใจ

    เพราะฉะนั้น เวลาที่เราพูดถึงการรังเกียจอกุศล โดยมากเราจะรังเกียจแต่โทสะ ไม่ชอบเลย เมื่อโทสะเกิด กาย วาจาของเราก็จะเปลี่ยนไปทำให้คนอื่นเดือดร้อน แต่เวลาที่เรารัก โลภะเกิดขึ้น เราก็ไม่ได้ไปทำร้ายคนอื่น ไม่ได้ประทุษร้ายเขา เพราะฉะนั้นที่ท่านผู้นั้นท่านกล่าว ท่านกล่าวถูก เพราะว่าท่านเข้าใจว่าดิฉันหมายความถึงโลภะ

    แต่ความจริงดิฉันหมายความถึงเมตตาที่จะให้ใครๆ รักเราคือมีเมตตาต่อเรา มีความหวังดี มีความเป็นเพื่อน เพราะว่าทุกคนไม่ควรจะรังเกียจเฉพาะโทสะ โลภะก็ควรรังเกียจด้วย แต่โดยมากทุกคนจะลืม อยากจะให้ทุกคนมารัก และก็มีโลภะกับตน ไม่ได้รังเกียจเลยถ้าใครจะมารักมากๆ แต่ว่าจริงๆ แล้วน่ารังเกียจ หรือไม่ เพราะว่าไม่ใช่กุศล เพราะฉะนั้นถ้าจะพิจารณาจริงๆ การเป็นที่รักต้องหมายความถึงเป็นที่เมตตา มีความเป็นเพื่อน มีความหวังดีต่อกัน ไม่ประทุษร้ายต่อกัน แต่ไม่ได้หมายความว่าให้ใครๆ มาช่วยกันมีโลภะ มีความรัก ซึ่งท่านผู้นั้นท่านเห็นด้วย และท่านก็เข้าใจ

    เพราะฉะนั้นเวลาฟังธรรมก็ฟังด้วยกันแต่ไม่ทราบว่าคิดอย่างไร หรือว่าฟังเรื่องเดียวกัน หรือไม่

    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 47

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 48


    หมายเลข 6421
    27 ม.ค. 2567