ในคัมภีร์วิภังคปกรณ์ จำแนก อินทรีย์ โดยทวาร ๖


    ถ้าจะจัดอินทรียะตามทวาร   ซึ่งท่านผู้ฟังจะเห็นความต่างกันของคัมภีร์ปัฏฐานและในคัมภีร์วิภังค์   ซึ่งต่างก็เป็นอภิธรรมปิฎก   สำหรับในคัมภีร์วิภังค์  จัดอินทรีย์ตามทวาร   ซึ่งจำแนกออก  คือ 

    ๑.จักขุนทรีย์   ๒. โสตินทรีย์   ๓.ฆานินทรีย์   ๔.ชิวหินทรีย์   ๕. กายินทรีย์

    ๖.มนินทรีย์   ๗.อิตถินทรีย์   ๘.ปุริสินทรีย์   ๙.ชีวิตินทรีย์   ๑๐. สุขินทรีย์

    ๑๑.ทุกขินทรีย์   ๑๒.โสมนัสสินทรีย์  ๑๓.โทมนัสสินทรีย์  ๑๔.อุเบกขินทรีย์  ๑๕.สัทธินทรีย์

    ๑๖. วิริยินทรีย์   ๑๗. สตินทรีย์   ๑๘. สมาธินทรีย์   ๑๙. ปัญญินทรีย์   

    ๒๐. อนัญญาตัญญัติสามีตินทรีย์   ๒๑. อัญญินทรีย์   ๒๒. อัญญาตาวินทรีย์

    โดยนัยของวิภังคปกรณ์  จำแนกโดยทวาร ๖  ซึ่ง

    จักขุนทรีย์   เป็นที่ ๑

    โสตินทรีย์   เป็นที่ ๒

    ฆานินทรีย์   เป็นที่ ๓

    ชิวหินทรีย์   เป็นที่ ๔

    กายินทรีย์   เป็นที่ ๕

    มนินทรีย์   เป็นที่ ๖

    โดยเหตุผลที่ว่าการที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ   ก็เพราะอินทรีย์ ๖  ถ้าไม่มีจักขุปสาท   โสตปสาท  ฆานปสาท   ชิวหาปสาท   กายปสาท  และจิต จะไม่มีสภาพธรรมใด ๆ ปรากฏเลย  เพราะเหตุว่าแม้ว่าจิตจะเกิดดับที่หทยวัตถุตั้งแต่เริ่มปฏิสนธิ  คือ ปฏิสนธิจิตเกิดพร้อมกับปฏิสนธิกัมมชรูป   ซึ่งกลุ่มนั้นเป็นหทยทสกะ   เป็นรูปที่เกิดของจิต  ในขณะนั้นจิตเกิดขั้นแล้ว   เป็นสภาพซึ่งรู้อารมณ์   แต่ว่าเป็นการรู้อารมณ์ที่สืบต่อมาจากอารมณ์ของจิตใกล้จะจุติของชาติก่อน   เพราะฉะนั้นจึงไม่ใช่อารมณ์ที่ต้องอาศัยตา  หรือหู  หรือจมูก  หรือลิ้น  หรือกาย  หรือใจ   เพราะฉะนั้นในขณะนั้นแม้มีจิตและมีรูปพร้อมทั้ง ๕ ขันธ์  แต่ไม่มีการรู้อารมณ์ใด ๆ ที่ปรากฏ


    หมายเลข 6015
    27 ส.ค. 2558