คำว่าอุปนิสัยในความเข้าใจเดิมต่างกับอุปนิสสยปัจจัย


    มีข้อสงสัยอะไรไหม ?  ในเรื่องนี้

    ทรงเกียรติ   ผมสงสัยศัพท์ครับ  คำว่า  “อุปนิสัย”  ในภาษาไทย   ก็หมายความถึง  การสั่งสมการกระทำทุกอย่างที่สั่งสมมานาน  จนเป็นอุปนิสัย   แต่ในปัจจัยนี่ “อุปนิสสยปัจจัย”  ทำไมจึงแปลว่า   เป็นที่อาศัยที่มีกำลัง   ซึ่งไม่เหมือนกับที่เราเข้าใจ

    ท่านอาจารย์ โลภะเกิดขึ้นขณะหนึ่ง   วิถีหนึ่ง   หรือโดยชวนะ  ก็เกิดดับสืบต่อกัน ๗ ครั้ง   ดับไปแล้ว  อย่าคิดว่าไม่มีกำลัง   

    ชวนจิตเกิด – ดับสืบต่อซ้ำกัน ๗ ขณะ  มากกว่าจักขุวิญญาณ   หรือสัมปฏิจฉนจิต   สันตีรณจิต  โวฏฐัพพนจิต   แต่เพราะการเกิด – ดับของจิตเป็นไปอย่างรวดเร็วเหลือเกิน   เพราะฉะนั้นในขณะนี้ไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่า  ชวนจิตเกิด – ดับไป ๗ ขณะนี้  กี่ครั้ง   กี่วาระแล้ว   ในขณะที่กำลังฟังธรรม  หรือว่าในขณะที่เป็นโลภชวนะ   เป็นโทสชวนะก็ตาม   แม้ว่าจะเกิด – ดับสืบต่อกันซ้ำ ๗ ขณะ   ก็แสนเร็ว   และดับไปแล้วก็จริง   แต่อย่าคิดว่า   ไม่มีกำลัง   เพราะเหตุว่าสะสมสืบต่อในจิต  ซึ่งเกิด – ดับ  ต่อ ๆ มาทุกดวง  จึงเป็นอนันตรูปนิสสยปัจจัย   ที่จะทำให้ลักษณะของโลภะเช่นนั้น ๆ เกิดขึ้นอีก   หรือว่าโทสะ   โมหะ  หรือว่ามหากุศล  ที่เป็นไปในทานบ้าง   ในศีลบ้าง   เช่นนั้น ๆ เกิดขึ้น  เพราะการสะสมสืบต่อของจิตที่เกิด – ดับทุกดวงนั้นเอง

    เพราะฉะนั้นจึงเป็นผู้ที่ไม่ประมาท  ทำไมโลภะจึงมีมาก   เพราะเคยเกิดมาแล้ว ๗ ขณะ ๆ  ทุกวาระไป   บ่อย ๆ เนื่อง ๆ   สะสมสืบต่อโดยอนันตรปัจจัย   และมีกำลังเมื่อเป็นอนันตรูปนิสสยปัจจัย   


    หมายเลข 4943
    28 ส.ค. 2558