จิตตชรูป 15 ในรูป 28


    ท่านผู้ฟังได้ยินคำว่าจิตตชรูปบ่อยๆ และได้เคยกล่าวถึงเรื่องของรูป ๒๘ รูปมาแล้ว เพราะฉะนั้นก็ควรที่จะได้ทบทวนอีกครั้งหนึ่ง เฉพาะรูปซึ่งเกิดเพราะจิต ซึ่งชื่อว่า “จิตตชรูป” ว่า ในรูป ๒๘ รูป รูปอะไรบ้างที่เป็นจิตตชรูป อะไรบ้างคะ สภาพธรรรมที่เป็นจิตตชรูปที่ทราบแล้ว คือ รูปที่เป็นใหญ่ ที่เป็นประธาน ๔ รูป มหาภูรูป ๔ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ขณะนี้กำลังเกิด ทุกคนที่มีกาย ที่ร่างกายของทุกคนมีจิตตชรูปเกิด เพราะจิตเกิดขณะใดเป็นปัจจัยให้จิตตชรูปเกิดพร้อมกันในอุปาทขณะ เว้นจิต ๑๔ ดวง คือ ทวิปัญจวิญญาณจิต ๑๐ อรูปาวจรวิบาก ๔ ซึ่งไม่ต้องกล่าวถึงเลย ไม่มีใครถึงในภูมินี้ ในขณะนี้ปฏิสนธิจิตก็ดับไปแล้ว จุติจิตของพระอรหันต์ก็ไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงสำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์

    เพราะฉะนั้น สำหรับทุกท่านในขณะนี้ ทันทีที่อุปาทขณะจิตเกิดขึ้น จิตตชรูปเกิดแล้ว คือ มหาภูตรูป ๔ คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม และในกลุ่มที่เล็กที่สุดก็จะต้องมีรูปอีก ๔ รูป ซึ่งเป็นอุปาทายรูป อาศัยเกิดกับมหาภูตรูปนั้น คือ สี ๑ รูป กลิ่น ๑ รูป รส ๑ รูป โอชา ๑ รูป รวมเป็น ๘ รูป ซึ่งไม่แยกจากกันเลย ไม่ว่ารูปนั้นจะเล็กละเอียดสักเท่าไรก็ตาม

    เพราะฉะนั้นรูป ๘ รูป ซึ่งไม่แยกจากกันเลยนี้ ชื่อว่า “อวินิพโภครูป” คือ รูปซึ่งไม่สามารถที่จะแยกกันได้ ๘ รูป ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มของรูปซึ่งเกิดเพราะอะไรก็ตาม จะปราศจากรูป ๘ รูปนี้ไม่ได้ รูปที่เกิดเพราะกรรม กลุ่มของรูปซึ่งเกิดเพราะกรรมก็จะต้องมี ๘ รูปนี้ กลุ่มของรูปซึ่งเกิดเพราะจิตเป็นสมุฏฐานก็จะต้องมี ๘ รูปนี้ กลุ่มของรูปซึ่งเกิดเพราะอุตุก็จะต้องมี ๘ รูปนี้ กลุ่มของรูปซึ่งเกิดเพราะอาหารเป็นสมุฏฐานก็จะต้องมี ๘ รูปนี้

    นี่คือรูปซึ่งเกิดเพราะจิต ๘ รูป

    นอกจากนั้นวิการรูป ๓ คือ ลักษณะที่เบา ที่อ่อน ที่ควรแก่การงาน เป็นรูปอีก ๓ รูปซึ่งเป็นลักษณะที่วิการของธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ถ้าไม่มีวิการรูป ๓ ทุกท่านก็ไม่สามารถที่จะเคลื่อนไหวได้เลย ทุกท่านมีรูป ๘ รูป คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม สี กลิ่น รส โอชา

    รูปที่เกิดเพราะอุตุ เช่น ต้นไม้ ใบหญ้า โต๊ะ เก้าอี้ ทั้งหลาย ก็มีรูป ๘ รูปนี้ คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม สี กลิ่น รส โอชา

    แต่รูปอื่นซึ่งปราศจากจิต ไม่สามารถที่จะเคลื่อนไหวได้ นอกจากจะถูกลมพัดไป มีรูปอื่นทำให้รูปนั้นเคลื่อนไหว แต่ว่าสำหรับสัตว์บุคคลซึ่งมีจิต จะมีวิการรูปซึ่งเป็นรูปที่เบา ๑ รูป รูปที่อ่อน ๑ รูป รูปที่ควรแก่การงาน ๑ รูป ในกลุ่มของรูปซึ่งเกิดเพราะจิตที่เป็นสมุฏฐานให้เกิดการเคลื่อนไหว

    เพราะฉะนั้นรูป ๓ รูป เกิดขึ้นเพราะจิตเป็นสมุฏฐาน ทำให้มีลักษณะที่เบา ที่อ่อน ที่ควรแก่การงาน ทำได้สารพัด จะทำกิริยาอาการอย่างไรก็ได้ จะรำ จะเต้น จะร้อง ได้ทุกอย่าง เพราะเหตุว่ามีรูปซึ่งเบา ซึ่งอ่อน ซึ่งควรแก่การงาน ซึ่งมีจิตเป็นสมุฏฐาน

    สัททรูป เสียง เป็นรูปซึ่งเกิดเพราะจิตเป็นสมุฏฐานอีก ๑ รูป แต่เสียงอยู่ดีๆ จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย เพราะเหตุว่าจิตคิดคำต่างๆ ได้ เป็นสภาพของเจตสิก ๒ ดวง คือ วิตกเจตสิกและวิจารเจตสิก ซึ่งไม่แยกจากกัน เจตสิกคู่นี้ ถ้าวิตกเจตสิกเกิดก็เป็นสหชาตปัจจัยให้วิจารเจตสิกเกิดด้วย นอกจากขณะที่เป็นทุติยฌาน แต่ว่าขณะอื่นแล้ววิตกเจตสิกและวิจารเจตสิกเป็นเจตสิกที่เกิดพร้อมกัน ทำให้ตรึก จรด คิดถึงสิ่งต่างๆ แล้วแต่สภาพของจิตในขณะนั้นว่า จะเป็นวิถีจิตใด

    (เสียงกริ่งดัง) เสียงอย่างนี้ วิตก วิจาร คิดหรือเปล่า เสียงที่ผ่านไปเมื่อกี้นี้ ไม่มี จะรู้หรือว่าเสียงอะไร ถ้าศึกษาต่อไปถึงว่า เจตสิกอะไรจะเกิดกับจิตอะไร ขณะไหน หลังจากที่โสตวิญญาณดับ สัมปฏิจฉนจิตเกิด ขณะนั้นประกอบด้วยวิตก วิจารเจตสิก จิตที่ไม่ประกอบด้วยวิตกเจตสิก วิจารเจตสิก ได้แก่ ทวิปัญจวิญญาณจิต ๑๐ ดวงเท่านั้น ซึ่งประกอบด้วยเจตสิกเพียง ๗ ดวง ขณะที่เป็นเห็นเพียงขณะเดียว มีเจตสิกน้อยที่สุด คือ เพียง ๗ ดวงเท่านั้น ซึ่งก็คงจะเคยกล่าวถึงแล้วว่า ได้แก่ ผัสสเจตสิก ๑ เวทนาเจตสิก ๑ สัญญาเจตสิก ๑ เจตนาเจตสิก ๑ เอกัคคตาเจตสิก ๑ ชีวิตตินทรียเจตสิก ๑ มนสิการเจตสิก ๑

    เป็นสภาพที่เป็นนามธรรมแต่ละลักษณะ มีกิจการงานแต่ละอย่าง ซึ่งเกิดพร้อมจิต เป็นสหชาตปัจจัย อัญญมัญญปัจจัย

    หลังจากที่จักขุวิญญาณดับไปแล้ว หรือโสตวิญญาณดับไปแล้ว หรือฆานวิญญาณดับไปแล้ว หรือชิวหาวิญญาณดับไปแล้ว หรือกายวิญญาณดับไปแล้ว จิตต่อจากนั้น คือ สัมปฏิจฉนจิต เกิดพร้อมกับวิตกเจตสิก เพราะฉะนั้นที่จะไม่ให้ตรึกหรือจรดในอารมณ์ซึ่งทางตาเห็น ทางหูได้ยิน ทางจมูกได้กลิ่น ทางลิ้นลิ้มรส ทางกายกระทบสัมผัส เป็นไปไม่ได้ เพียงแต่จะไม่ทราบขั้นต่างๆ ของวิตกเจตสิกว่า บางขณะเป็นลักษณะที่จรดในอารมณ์ บางขณะเป็นลักษณะที่ตรึกในอารมณ์ เช่น ในขณะที่กำลังคิดเรื่องต่างๆ ขณะนั้นวิตกเจตสิก ก็เป็นสภาพธรรมที่คิดเรื่องนั้น

    เพราะฉะนั้นจะกล่าวว่าไม่มีวิตกเจตสิกไม่ได้ เพราะเหตุว่าวิตกเจตสิกเกิดกับจิตอื่นทั้งหมด เว้นทวิปัญจวิญญาณจิต ๑๐ ดวง เพราะฉะนั้นในขณะที่คิด ยังไม่ได้พูด ยังไม่ได้มีเสียงออกมาใช่ไหม แต่เหมือนกับเสียงไหม ที่คิดน่ะ ลองคิดซิว่า ขณะที่คิดนั้นเหมือนกับเสียงไหม นึกถึงเสียง สัญญาเจตสิกจำเสียง ท่านที่ศึกษาหลายๆ ภาษา ก็แล้วแต่สัญญาในขณะนั้นจำเสียงภาษาอะไร ก็นึกถึงเสียงนั้นๆ ในใจ ยังไม่มีเสียงเกิดขึ้น แต่ว่าวิตกและวิจารนั้นเป็นวจีสังขาร เป็นสภาพธรรมที่ปรุงแต่งคำหรือเสียง

    เพราะฉะนั้นเมื่อเวลาที่จะมีเสียงเกิดขึ้นจะปราศจากวิญญัติรูปไม่ได้ คือ วจีวิญญัติรูป เป็นรูปซึ่งทำให้เกิดเสียงขึ้น อย่าลืม วิญญัติรูปไม่ใช่เสียง แต่เป็นรูปที่ทำให้เสียงเกิดขึ้น โดยมีจิตเป็นสมุฏฐาน เป็นจิตตชรูป

    เพื่อที่จะได้ทราบว่า ที่ใช้คำว่าจิตตชรูป จิตตชรูป ในรูป ๒๘ นั้น ได้แก่อะไรบ้าง ได้แก่ มหาภูตรูป ๔ อุปาทายรูป ๔ เป็นอวินิพโภครูป ๘ วิการรูป ๓ กายวิญญัติรูป ๑ วจีวิญญัติรูป ๑ อีก ๒ สัททรูป คือเสียง ๑ เป็น ๑๔ อีกรูปหนึ่ง คือ อากาสรูป ๑ ทั้งหมดรวมเป็นจิตตชรูป ๑๕ รูป ในรูป ๒๘ รูป

    รูปที่มีจิตเป็นสมุฏฐานมี ๑๕ รูป


    หมายเลข 4746
    4 ส.ค. 2565