สัลลสูตร


    ข้อความใน พระไตรปิฎก ที่กล่าวถึงความตาย ที่จะเกื้อกูลแก่มรณสติก็มีมาก ซึ่งใน ขุททกนิกาย สุตตนิบาต สัลลสูตรที่ ๘ ข้อ ๓๘๐ มีข้อความว่า

    ชีวิตของสัตว์ทั้งหลายในโลกนี้ ไม่มีเครื่องหมาย ใครๆ รู้ไม่ได้

    จริงไหม ทุกท่านกำลังนั่งอยู่ที่นี่ไม่มีเครื่องหมายที่จะให้รู้เลยว่า ชีวิตของใครจะอยู่ต่อไปถึงพรุ่งนี้ หรือว่าเดือนหน้า หรือว่าปีหน้า ไม่มีเครื่องหมายให้รู้ว่า จากที่นี้ไปแล้วอะไรจะเกิดขึ้น จะเป็นสุข หรือว่าจะเป็นทุกข์ จะประสบกับอิฏฐารมณ์ หรืออนิฏฐารมณ์ จะมีอุบัติเหตุ หรือว่าไม่มีอุบัติเหตุ ไม่มีใครสามารถที่จะรู้ได้ เพราะว่าชีวิตไม่มีเครื่องหมาย ใครๆ รู้ไม่ได้

    ข้อความต่อไป

    ทั้งลำบาก ทั้งน้อย และประกอบด้วยทุกข์ สัตว์ทั้งหลายผู้เกิดแล้วจะไม่ตายด้วยความพยายามอันใด ความพยายามอันนั้นไม่มีเลย แม้อยู่ได้ถึงชราก็ต้องตาย เพราะสัตว์ทั้งหลายมีอย่างนี้เป็นธรรมดา ผลไม้สุกงอมแล้ว ชื่อว่าย่อมมีภัย เพราะจะต้องร่วงหล่นไปในเวลาเช้า ฉันใด สัตว์ทั้งหลายผู้เกิดแล้ว ชื่อว่าย่อมมีภัย เพราะจะต้องตายเป็นนิตย์ ฉันนั้น ภาชนะดินที่นายช่างทำแล้วทุกชนิดมีความแตกเป็นที่สุด แม้ฉันใด ชีวิตของสัตว์ทั้งหลายก็ฉันนั้น ทั้งเด็ก ทั้งผู้ใหญ่ ทั้งคนเขลา ทั้งคนฉลาด ล้วนไปสู่อำนาจของมฤตยู มีมฤตยูเป็นที่ไปในเบื้องหน้าด้วยกันทั้งหมด เมื่อสัตว์เหล่านั้นถูกมฤตยูครอบงำแล้วต้องไปปรโลก บิดาจะป้องกันบุตรไว้ก็ไม่ได้ หรือพวกญาติจะป้องกันพวกญาติไว้ก็ไม่ได้ ท่านจงเห็น เหมือนเมื่อหมู่ญาติของสัตว์ทั้งหลายผู้จะต้องตาย กำลังแลดูรำพันอยู่โดยประการต่างๆ สัตว์ผู้จะต้องตายผู้เดียวเท่านั้นถูกมฤตยูนำไป เหมือนโคที่บุคคลจะพึงฆ่าถูกนำไปตัวเดียว ฉะนั้น

    ความตายและความแก่กำจัดสัตว์โลกอยู่อย่างนี้ เพราะเหตุนั้นนักปราชญ์ทั้งหลายทราบชัดสภาพของโลกแล้ว ย่อมไม่เศร้าโศก ท่านย่อมไม่รู้ทางของผู้มาหรือ ผู้ไป ไม่เห็นที่สุดทั้งสองอย่าง ถึงจะคร่ำครวญไปก็ไร้ประโยชน์ ถ้าผู้คร่ำครวญหลงเบียดเบียนตนอยู่ จะยังประโยชน์อะไรๆ ให้เกิดขึ้นได้ไซร้ บัณฑิตผู้เห็นแจ้งก็พึงกระทำความคร่ำครวญนั้น บุคคลจะถึงความสงบใจได้เพราะการร้องไห้ เพราะความเศร้าโศกก็หาไม่ ทุกข์ย่อมเกิดแก่ผู้นั้นยิ่งขึ้น และสรีระของผู้นั้นก็จะซูบซีด บุคคลผู้เบียดเบียนตนเองย่อมเป็นผู้ซูบผอม มีผิวพรรณเศร้าหมอง สัตว์ทั้งหลายผู้ละไปแล้ว ย่อมรักษาตนไม่ได้ด้วยความรำพันนั้น การรำพันไร้ประโยชน์ คนผู้ทอดถอนถึงบุคคลผู้ทำกาละแล้วยังละความเศร้าโศกไม่ได้ ตกอยู่ในอำนาจแห่งความเศร้าโศก ย่อมถึงทุกข์ยิ่งขึ้น ท่านจงเห็นคนแม้เหล่าอื่นผู้เตรียมจะดำเนินไปตามยถากรรม (และ) สัตว์ทั้งหลายในโลกนี้ ผู้มาถึงอำนาจแห่งมัจจุแล้ว กำลังพากันดิ้นรนอยู่ทีเดียว ก็สัตว์ทั้งหลายย่อมสำคัญด้วยอาการใดๆ อาการนั้นๆ ย่อมแปรเป็นอย่างอื่นไปในภายหลัง ความพลัดพรากกันเช่นนี้ย่อมมีได้ ท่านจงดูสภาพแห่งโลกเถิด

    มาณพแม้จะพึงเป็นอยู่ร้อยปีหรือยิ่งกว่านั้น ก็ต้องพลัดพรากจากหมู่ญาติ ต้องละทิ้งชีวิตไว้ในโลกนี้ เพราะเหตุนั้นบุคคลฟังพระธรรมเทศนาของพระอรหันต์แล้ว เห็นคนผู้ล่วงลับทำกาละแล้ว กำหนดรู้อยู่ว่า บุคคลผู้ล่วงลับทำกาละแล้วนั้น เราไม่พึงได้ว่า จงเป็นอยู่อีกเถิด ดังนี้ พึงกำจัดความรำพันเสีย บุคคลพึงดับไฟที่ไหม้ลุกลามไปด้วยน้ำ ฉันใด นรชนผู้เป็นนักปราชญ์มีปัญญาเฉลียวฉลาด พึงกำจัดความเศร้าโศกที่เกิดขึ้นเสียโดยฉับพลัน เหมือนลมพัดนุ่น ฉะนั้น

    คนผู้แสวงหาความสุขเพื่อตน พึงกำจัดความรำพัน ความทะยานอยาก และความโทมนัสของตน พึงถอนลูกศรคือกิเลสของตนเสีย เป็นผู้มีลูกศรคือกิเลสอันถอนขึ้นแล้ว อันตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัยแล้ว ถึงความสงบใจ ก้าวล่วงความเศร้าโศกได้ทั้งหมด เป็นผู้ไม่มีความเศร้าโศก เยือกเย็น ฉะนี้แล ฯ

    จบ สัลลสูตรที่ ๘

    เกี่ยวข้องกับการเจริญสติปัฏฐานหรือเปล่า อย่าลืม นรชนผู้เป็นนักปราชญ์ มีปัญญาเฉลียวฉลาด พึงกำจัดความเศร้าโศกที่เกิดขึ้นเสียโดยฉับพลัน เหมือนลมพัดนุ่น ฉะนั้น

    ถ้าไม่ใช่เป็นผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานจะเป็นอย่างนี้ได้ไหม ก็จะต้องคิดไป คิดมาจนกว่าความเศร้าโศกนั้นจะคลายลง แต่ว่าสำหรับผู้ที่มีปกติอบรมเจริญ สติปัฏฐาน ขณะที่กำลังเศร้าโศกเพราะขณะนั้นหลงลืมสติ แต่ว่าเวลาที่สติเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏซึ่งไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล เป็นแต่เพียงลักษณะของความรู้สึก เวทนา แล้วแต่ว่าขณะนั้นจะเป็นความรู้สึกลักษณะใด ก็มีแต่ลักษณะสภาพของจิต ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ในขณะนั้น ไม่มีเรา ไม่มีเขา ไม่มีใคร ในขณะนั้นจิตจึงผ่องใส ปราศจากความโศกเศร้า เพราะฉะนั้น แม้ในขณะที่กำลังโศกเศร้า ที่จะให้กำจัดความเศร้าโศกที่เกิดขึ้นเสียโดยฉับพลันเหมือนลมพัดนุ่นได้ ก็ต้องเป็นในขณะที่สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ซึ่งในขณะที่ สติเกิดย่อมผ่องใสเพราะเป็นกุศล และไม่เศร้าโศกเพราะประกอบด้วยสัทธา สติ วิริยะ สมาธิ ปัญญา

    เพราะฉะนั้น จะไม่เกี่ยวข้องกับการเจริญสติปัฏฐานได้ไหม แม้แต่ในตอนท้ายของพระสูตรนี้ที่ว่า พึงถอนลูกศรคือกิเลสของตนเสีย เป็นผู้มีลูกศรคือกิเลสอันถอนขึ้นแล้ว อันตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัยแล้ว ถึงความสงบใจ ก้าวล่วงความเศร้าโศกได้ทั้งหมด เป็นผู้ไม่มีความเศร้าโศก เยือกเย็น ฉะนี้แล


    หมายเลข 4019
    19 ก.ย. 2566