ชราสูตร


    ขอกล่าวถึงข้อความซึ่งเป็นมรณานุสสติต่อไป ใน ขุททกนิกาย สุตตนิบาต ชราสูตรที่ ๖ มีข้อความว่า

    ชีวิตนี้น้อยนัก สัตว์ย่อมตายแม้ภายใน ๑๐๐ ปี ถ้าแม้สัตว์เป็นอยู่เกิน (๑๐๐ปี) ไปไซร้ สัตว์นั้นก็ย่อมตายแม้เพราะชราโดยแท้แล ชนทั้งหลายย่อมเศร้าโศก เพราะสิ่งที่ตนยึดถือว่าเป็นของเรา สิ่งที่เคยหวงแหนเป็นของเที่ยง ไม่มีเลย

    บุคคลเห็นว่า สิ่งนี้มีความเป็นไปต่างๆ มีอยู่ ดังนี้แล้ว ไม่พึงอยู่ครองเรือน บุรุษย่อมสำคัญสิ่งใดว่าสิ่งนี้เป็นของเรา จำต้องละสิ่งนั้นไปแม้เพราะความตาย บัณฑิตผู้นับถือพระพุทธเจ้าว่าเป็นของเรา ทราบข้อนี้แล้ว ไม่พึงน้อมไปในความเป็นผู้ถือว่าสิ่งนั้นๆ เป็นของเรา

    บุคคลผู้ตื่นขึ้นแล้ว ย่อมไม่เห็นอารมณ์อันประจวบด้วยความฝัน แม้ฉันใด บุคคลย่อมเห็นบุคคลผู้ที่ตนรักทำกาละล่วงไปแล้ว แม้ฉันนั้น

    บุคคลย่อมกล่าวขวัญกันถึงชื่อนี้ของคนทั้งหลาย ผู้อันตนได้เห็นแล้วบ้าง ได้ฟังแล้วบ้าง ชื่อเท่านั้นที่ควรกล่าวขวัญถึงของบุคคลผู้ล่วงไปแล้วจักยังคงเหลืออยู่ ชนทั้งหลายผู้ยินดีแล้วในสิ่งที่ตนถือว่าเป็นของเรา ย่อมละความโศกความร่ำไรและความตระหนี่ไม่ได้ เพราะเหตุนั้น มุนีทั้งหลายผู้เห็นนิพพานเป็นแดนเกษม ละอารมณ์ที่เคยหวงแหนได้ เที่ยวไปแล้ว

    บัณฑิตทั้งหลายกล่าวการไม่แสดงตนในภพ อันต่างด้วยนรกเป็นต้น (การไม่แสดงตน คือ การไม่เกิดของขันธ์ในภพ) ของภิกษุผู้ประพฤติหลีกเร้น ผู้เสพที่นั่งอันสงัดว่า เป็นการสมควร มุนีไม่อาศัยแล้วในอายตนะทั้งปวง ย่อมไม่กระทำสัตว์หรือสังขารให้เป็นที่รัก ทั้งไม่กระทำสัตว์หรือสังขารให้เป็นที่เกลียดชัง ย่อมไม่ติดความร่ำไรและความตระหนี่ในสัตว์หรือสังขารอันเป็นที่รักและเป็นที่เกลียดชังนั้น เปรียบเหมือนน้ำไม่ติดอยู่บนใบไม้ ฉะนั้น หยาดน้ำย่อมไม่ติดอยู่บนใบบัว น้ำย่อมไม่ติดอยู่ที่ใบปทุม ฉันใด มุนีย่อมไม่ติดในรูปที่ได้เห็น เสียงที่ได้ฟัง หรืออารมณ์ที่ได้ทราบ ฉันนั้น ผู้มีปัญญาย่อมไม่สำคัญด้วยรูปที่ได้เห็น เสียงที่ได้ฟัง หรืออารมณ์ที่ได้ทราบ ย่อมไม่ปรารถนาความบริสุทธิ์ด้วย (มรรคอย่างอื่น) ทางอื่น ผู้มีปัญญานั้น ย่อมไม่ยินดี ย่อมไม่ยินร้าย ฉะนี้แล ฯ

    จบ ชราสูตรที่ ๖

    เมื่อไม่ติด จะเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนไม่ได้ นอกจากเป็นสภาพธรรมแต่ละลักษณะซึ่งไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล หรือสังขารอันเป็นที่รักและที่ชัง

    จริงไหมที่ว่า บุคคลผู้ตื่นขึ้นแล้ว ย่อมไม่เห็นอารมณ์อันประจวบด้วยความฝัน

    ในฝันเห็นหลายอย่าง เห็นคนนั้น คนนี้ หลายคน แต่ว่าพอตื่นขึ้นย่อมไม่เห็นอารมณ์ คือ บุคคลทั้งหลายที่เห็นในความฝัน แม้ฉันใด บุคคลย่อมเห็นบุคคลผู้ที่ตนรักทำกาละล่วงไปแล้ว แม้ฉันนั้น ก็เหมือนคนที่จากไปในขณะที่ตื่นขึ้น เวลาที่ตื่นแล้วไม่เห็นคนนั้นอีกต่อไป ฉันใด เวลาที่คนนั้นตายจากโลกนี้ไปแล้ว ก็ไม่มีวันที่จะกลับคืนมาให้เห็นได้อีก

    บุคคลย่อมกล่าวขวัญกันถึงชื่อนี้ของคนทั้งหลาย ผู้อันตนได้เห็นแล้วบ้าง ได้ฟังแล้วบ้าง ชื่อเท่านั้นที่ควรกล่าวขวัญถึงของบุคคลผู้ล่วงไปแล้วจักยังคงเหลืออยู่

    เพราะฉะนั้น ก็เหลือแต่ชื่อจริงๆ

    ขณะนี้ท่านผู้ฟังเหลือแต่ชื่อหรือเปล่า ขันธ์ ๕ เมื่อครู่นี้ดับหมดแล้ว ขันธ์ ๕ เมื่อครู่นี้ที่เคยยึดถือว่าเป็นชื่อนี้ดับไปแล้ว แต่ชื่อยังอยู่ ใช่ไหม เพราะฉะนั้น ชื่อเท่านั้นที่ยังคงเหลืออยู่ ไม่ใช่แม้ในขณะที่ตายแล้วเท่านั้น แม้ในขณะนี้ ขันธ์ ๕ เมื่อวานนี้ดับแล้วแต่ชื่อยังอยู่ ขันธ์ ๕ เมื่อครู่นี้ดับแล้ว การเห็น การได้ยิน การคิดนึก สภาพธรรมแต่ละขณะที่เกิดขึ้นดับไปอย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้น ขณะนี้เหลือแต่ชื่อทุกขณะ เพราะขันธ์ ๕ ที่เคยยึดถือว่าเป็นชื่อนั้นชื่อนี้ก็ดับไปอยู่เรื่อยๆ

    ท่านที่ยังมีความยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ติดในชื่อของท่านแค่ไหน ทราบไหม ติดชื่อหรือเปล่า

    เพียงชื่อก็ยังติดตั้งแค่นี้ คิดดู เลือกชื่อนี่เลือกนานไหม กว่าจะตั้งชื่อได้แต่ละชื่อ เวลาที่มีญาติซึ่งเป็นที่รักเกิด และจะต้องหาชื่อ แม้แต่ชื่อก็ยังต้องเลือกนาน ติดแค่ไหนในชื่อนั้น เพราะฉะนั้น ชื่อเป็นสิ่งที่มีความสำคัญ โดยที่ท่านอาจจะไม่รู้ว่าท่านติด แม้ในชื่อ จะกล่าวอะไรถึงขันธ์ คือ สิ่งที่มีจริงๆ ซึ่งเห็น ซึ่งได้ยิน ซึ่งได้กลิ่น ซึ่งลิ้มรส ซึ่งกระทบสัมผัส จะไม่ติดยิ่งกว่าชื่อหรือ


    หมายเลข 4020
    19 ก.ย. 2566