เสนาสนะอันสงัด กับ ระยะทาง


    จะขอกล่าวถึงพยัญชนะเป็นลำดับไป ที่ว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายอยู่อย่างไรเล่า ที่ชื่อว่าจะเห็นกายในกายนั้นคืออย่างไร

    ภิกษุในธรรมวินัยนี้ไปสู่ป่าก็ดี ไปสู่โคนไม้ก็ดี ไปสู่เรือนว่างก็ดี

    พยัญชนะที่ว่าป่า ที่ว่าโคนไม้ ที่ว่าเรือนว่าง ก็ควรจะได้ทราบความหมายที่กล่าวไว้ในพระไตรปิฎก ใน ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค ภาค ๑ อานาปานกถา ได้แสดงความหมายของคำว่า ไปสู่ป่าก็ดี มีข้อความว่า

    คำว่า อรัญฺญํ หมายความว่า สถานที่ทุกแห่งนอกเสาเขื่อนไป สถานที่นั้นเป็นป่า

    ใน อภิธรรมปิฎก วิภังคปกรณ์ ภาค ๒ ฌานวิภังค์ คือ เป็นการจำแนกฌานซึ่งเป็นสุตันตภาชนีย์ มีข้อความว่า

    ป่า ได้แก่ บริเวณนอกเสาเขื่อนทั้งหมดนั้น

    นอกเสาเขื่อนที่นี้ ก็คือ นอกเขตบ้าน นอกอาคารนั่นเอง ถ้าไม่ใช่บ้าน ไม่ใช่อาคาร ก็เป็นป่า

    ใน สมันตภาสาทิกา อรรถกถา พระวินัย อานาปานสติสมาธิกถา มีข้อความกล่าวถึงการเจริญอานาปานสติสมาธิว่า อันภิกษุเจริญแล้วอย่างไร

    บทว่า ไปสู่ป่าก็ดี มีพยัญชนะอธิบายว่า คือ ไปสู่ป่าอันสะดวกแก่ความสงัด แห่งใดแห่งหนึ่ง

    บรรดาป่าทั้งหลาย อันมีลักษณะที่กล่าวไว้แล้วอย่างนี้ว่า ชื่อว่าป่า ได้แก่ สถานที่ออกไปภายนอกเสาเขื่อน ทั้งหมดนี้จัดเป็นป่า ดังนี้

    และว่า เสนาสนะ ชั่วระยะ ๕๐๐ ธนู คือ ๕๐๐ ธนูห่างจากบ้านเป็นอย่างต่ำ ชื่อว่าเสนาสนะป่า ดังนี้

    เพราะฉะนั้นเรื่องของพยัญชนะต้องเข้าใจความหมายของคำว่าป่าเสียก่อนว่า หมายความถึงสถานที่ทุกแห่งนอกเสาเขื่อนไป ท่านใช้พยัญชนะว่า เสาเขื่อน ถ้าต้องการความละเอียดก็ต้องดูในอรรถกถาฎีกาต่อไปอีก แต่ความหมายสำคัญแม้ใน อานาปานสติกถา ที่มีกล่าวไว้ใน สมันตภาสาทิกา ที่เป็นอรรถกถาพระวินัย มีว่า

    บทว่า ไปสู่ป่าก็ดี มีพยัญชนะอธิบายว่า คือ ไปสู่ป่าอันสะดวกแก่ความสงัด สำหรับอานาปานสติสมาธิ

    เพราะเหตุว่า ลมหายใจมีแต่เป็นสภาพที่ละเอียดประณีตมาก ไม่เหมือนกับธรรมชาติที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ที่จิตคล้อยไปอยู่ตลอดเวลา การให้สติตั้งมั่นอยู่ที่ลมหายใจเป็นสมาธิได้จึงต้องไปสู่ที่สงัด เพราะฉะนั้นคำว่า “ไปสู่ป่าก็ดี” นั้นคือไปสู่ป่าอันสะดวกแก่ความสงัด ใน อภิธรรมปิฎก เล่ม ๔ วิภังคปกรณ์ ภาค ๒ ฌานวิภังค์ สุตตันตภาชนีย์ ได้อธิบายความหมายของคำว่า สงัด

    บทว่า สงัด มีอธิบายว่า แม้หากเสนาสนะใดจะอยู่ในที่ใกล้ แต่เสนาสนะนั้นไม่เกลื่อนกล่นด้วยเหล่าคฤหัสถ์ บรรพชิต ด้วยเหตุนั้นเสนาสนะนั้นชื่อว่า สงัด

    แม้หากเสนาสนะใดจะอยู่ในที่ไกล แต่เสนาสนะนั้นไม่เกลื่อนกล่นด้วยเหล่า คฤหัสถ์ บรรพชิต ด้วยเหตุนั้นเสนาสนะนั้นชื่อว่า สงัด

    คำว่า เกลื่อนกล่น ในที่นี้ คือ วุ่นวายนั่นเอง ไม่ใช่ว่าไม่มีใครเลย ที่เขาคิชกูฎพระผู้มีพระภาคก็มิได้ประทับเพียงพระองค์เดียว ถึงแม้เป็นที่สงบ เป็นที่สงัด ก็มีพระภิกษุสงฆ์ที่อยู่ในบริเวณเขาบริเวณป่านั้นด้วย เพราะฉะนั้น คำว่า สงัดจึงต้องมีคำอธิบายว่า แม้หากเสนาสนะใดจะอยู่ในที่ใกล้ แต่เสนาสนะนั้นไม่เกลื่อนกล่น คือ ไม่วุ่นวายด้วยเหล่าคฤหัสถ์ บรรพชิต ด้วยเหตุนั้นเสนาสนะนั้นชื่อว่า สงัด

    เพื่อให้พยัญชนะสมบูรณ์ขึ้น ข้อความต่อไปมีว่า

    แม้หากเสนาสนะใดจะอยู่ในที่ไกล แต่เสนาสนะนั้นไม่เกลื่อนกล่นด้วยเหล่า คฤหัสถ์ บรรพชิต ด้วยเหตุนั้นเสนาสนะนั้นชื่อว่า สงัด

    เพราะฉะนั้น ความหมายของคำว่า สงัด ไม่ใช่อยู่ที่ใกล้ หรือไกล แต่อยู่ที่ไม่วุ่นวาย เพราะเหตุว่าไกลก็วุ่นวายได้ ที่เขาคิชกูฏวุ่นวายก็ได้ ที่พระวิหารเชตวัน ถ้ามีภิกษุที่ไม่สำรวมกายวาจาเป็นอาคันตุกะมา ก็วุ่นวายได้ ในขณะนั้นก็ไม่ใช่ที่สงัดสำหรับอานาปานสติสมาธิ สำหรับ

    บทว่า เสนาสนะ ได้แก่ เสนาสนะ คือ เตียงบ้าง ตั่งบ้าง ที่นอนบ้าง หมอนบ้าง วิหารบ้าง เพิงบ้าง ปราสาทบ้าง ป้อมบ้าง โรงบ้าง

    เสนาสนะ คือ ที่เร้นลับ ถ้ำบ้าง โคนไม้บ้าง พุ่มไม้บ้าง หรือภิกษุยับยั้งอยู่ในที่ใด ที่นั้นทั้งหมดชื่อว่า เสนาสนะ

    ท่านผู้ฟังอาจจะสงสัยในพยัญชนะที่ว่า เสนาสนะจะเป็นอะไรก็ได้ เตียง ตั่ง ที่นอน หมอน วิหาร เพิง หรือแม้ปราสาท ป้อม ถ้ำ โคนไม้ พุ่มไม้ ที่ภิกษุอยู่ในที่ใด ที่นั้นทั้งหมดชื่อว่า เสนาสนะ

    นอกจากป่า ซึ่งได้แก่บริเวณนอกเสาเขื่อนทั้งหมดนั้น ก็ยังมีเสนาสนะ คือ รุกขมูล ได้แก่โคนไม้ อพฺพต ได้แก่ภูเขา กันทร ได้แก่ซอกเขา คิริคูหา ได้แก่ถ้ำในเขา สุสาน ได้แก่ป่าช้า อัพโพกาส ได้แก่ที่แจ้ง ตลาลปุญชะ ได้แก่ลอมฟาง

    ไม่ใช่แต่เฉพาะป่ากับโคนไม้ รวมทั้งที่อื่นด้วย แล้วก็ดง คือ เสนาสนะที่อยู่ที่ไกล เป็นชื่อของเสนาสนะ ราวป่า น่าหวาดกลัว น่าหวาดหวั่น ที่อยู่ปลายแดน ไม่อยู่ใกล้มนุษย์ เป็นชื่อของเสนาสนะที่หาความเจริญได้ยาก

    ถ้าเป็นที่ห่างไกลอย่างนั้นแล้ว ในพระไตรปิฎกใช้คำว่า ดง เพราะฉะนั้น ไม่ว่าใครจะไปที่โคนไม้ หรือว่าภูเขา ซอกเขา ถ้ำในเขา สุสาน คือ ป่าช้า หรือที่แจ้ง ก็เป็นที่สงัด สมควรแก่การที่สติจะตั้งมั่นที่ลมหายใจได้ ผู้นั้นเคยเจริญอบรมมาอย่างนั้น ก็ไปสู่ที่นั้น

    แต่ถ้าเป็นสถานที่สงัดในความหมายของ ไปสู่ป่าอันสะดวกแก่ความสงัด ความสงัดจึงได้แสดงไว้ว่า

    แม้หากเสนาสนะใดจะอยู่ในที่ใกล้ แต่เสนาสนะนั้นไม่เกลื่อนกล่นด้วยเหล่าคฤหัสถ์ บรรพชิต ด้วยเหตุนั้นเสนาสนะนั้นชื่อว่า สงัด

    และเสนาสนะ ยังได้บอกไว้ว่า คือ เตียงบ้าง ตั่งบ้าง จะอยู่ที่ไหนก็ได้ ที่ในวิหารก็ได้ เพิงก็ได้ ปราสาทก็ได้ ป้อมก็ได้ โรงก็ได้ ขอให้เป็นที่สงัดเพื่อจะให้สติระลึกตั้งมั่นที่ลมหายใจ เพราะเหตุว่า ถ้าเป็นการเจริญอานาปานสติสมาธิแล้ว ไม่ใช่การระลึกรู้สิ่งที่กำลังปรากฏอย่างอื่น


    หมายเลข 2497
    24 ก.ย. 2566