ความมั่นคงแห่งกิริยานั่ง


    ต่อไปข้อความว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายอยู่อย่างไรเล่า

    ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ไปสู่ป่าก็ดี ไปสู่โคนไม้ก็ดี ไปสู่เรือนว่างก็ดี นั่งคู้บัลลังก์ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า

    มีพยัญชนะเพิ่มเติมที่ว่า นั่งคู้บัลลังก์ ซึ่งมีข้อความว่า

    พระผู้มีพระภาคเมื่อจะทรงชี้แจงความมั่นคงแห่งกิริยานั่ง ความสะดวกแห่งความเป็นไปของลมหายใจออก และลมหายใจเข้า ถึงอิริยาบถอันสงบ เป็นไปในฝักฝ่ายแห่งความไม่หดหู่ ไม่ฟุ้งซ่าน จึงตรัสว่า

    นั่งคู้บัลลังก์ เมื่อนั่งอย่างนี้ หนัง เนื้อ และเอ็น ย่อมไม่โน้มเอียงไป เวทนาที่จะเกิดเพราะเนื้อ และเอ็นเหล่านั้นโน้มเอียงไปย่อมไม่เกิด เมื่อเวทนาเหล่านั้นไม่เกิดจิตย่อมมีอารมณ์เป็นอันเดียว สมาธิย่อมเพิ่มพูนเจริญได้

    เวลานี้ทุกคนมีหนัง มีเนื้อ มีเอ็น แล้วก็อาจจะโน้มเอียงไปทางหนึ่งทางใดที่จะทำให้ทุกขเวทนาเกิดได้ เพราะความโน้มเอียงไปของหนัง ของเนื้อ ของเอ็นนั่นเอง

    บางคนเวลาที่นั่งไม่สะดวก ประเดี๋ยวก็เกิดทุกขเวทนา เมื่อยขัด ปวดไปหมดการที่จะให้จิตสงบเป็นเอกัคคตาตั้งมั่นที่ลมหายใจ ก็ย่อมจะไม่สะดวก ด้วยเหตุนี้จึงทรงแสดงพยัญชนะว่า นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง เพื่อที่ว่า เมื่อหนัง เนื้อ เอ็น ไม่โน้มเอียงไป ก็ไม่มีปัจจัยที่จะทำให้ทุกขเวทนาเกิดขึ้นรบกวน จิตย่อมมีอารมณ์เป็นอันเดียว สมาธิย่อมเพิ่มพูน

    ผู้ฟัง ……

    ท่านอาจารย์ เพราะเคยสะสมมา คนที่ไปสู่ป่า สู่โคนไม้ สู่เรือนว่างต้องเป็นผู้เคยเจริญสะสมอานาปานสติ

    ผู้ฟัง ……

    ท่านอาจารย์ สมาธิแน่นอน ถ้าไม่ใช่สมาธิอยู่ที่นี่ก็ระลึกลักษณะของนามและรูป กาย เวทนา จิต ธรรมใดๆ ที่กำลังปรากฏ ถ้าลมหายใจปรากฏก็ระลึกนิดเดียวเท่านั้น ไม่นานเหมือนอย่างที่สงัดเพราะว่าจิตต้องคล้อยไปสู่อารมณ์ทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจอยู่เรื่อยๆ แต่ถ้าเป็นที่สงัดแล้ว สงบพอสมควรจากรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ จิตย่อมตั้งมั่นที่ลมหายใจได้ สมาธิเพิ่มพูนได้ สำหรับผู้ที่เคยเจริญจะห้ามได้อย่างไร ถึงไปก็ต้องเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติด้วยไม่ใช่เพียงหยุดอยู่แค่สมาธิ เพราะฉะนั้นในมหาสติปัฏฐานไม่จำกัดเฉพาะผู้ที่เคยเจริญสมาธิเท่านั้น ถึงแม้ผู้นั้นเคยเจริญสมถภาวนาอย่างไร เจริญอานาปานสติสมาธิมาแล้วอย่างไร ก็เจริญสติปัฏฐานด้วยเป็นผู้มีปกติเจริญสติต่อไป ไม่เหมือนผู้ที่ไม่เคยฟังธรรมก็ได้แต่เจริญอานาปานสติสมาธิบรรลุ ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌานและไม่สามารถเจริญสติปัฏฐานต่อไปได้ ถ้าผู้ใดฟัง อัธยาศัยเคยเป็นอย่างไร เคยไปที่ไหนก็ไปอย่างนั้น แต่สติต้องตามระลึกรู้ด้วย ถ้าสติไม่ตามระลึกรู้ก็ไม่ใช่มหาสติปัฏฐาน ต้องเอาอานาปานบรรพนี้ออกไป ไปอยู่ในหมวดของสมถภาวนาเท่านั้น ที่อานาปานบรรพไม่อยู่เฉพาะในหมวดของสมถภาวนาเท่านั้นแต่อยู่ในมหาสติปัฏฐานด้วยเพราะว่า แม้ผู้ที่เคยเจริญอานาปานสติก็เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติได้ สติตามระลึกรู้ลมหายใจได้เป็นระยะๆ ต่อไปนี้สติจะต้องตามรู้แล้ว ไม่ใช่มีแต่สมาธิเรื่อยๆ จนกระทั่งเป็น ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน อานาปานบรรพของมหาสติปัฏฐานไม่ใช่อย่างนั้นแต่เป็นเรื่องสติที่จะตามระลึกรู้ต่อไปเป็นขั้นๆ


    หมายเลข 2582
    24 ก.ย. 2566