ทุกอย่างมีจริงเพียงชั่วขณะที่ปรากฏอย่างไร


    ส.   ทุกอย่างมีจริงเพียงขณะที่ปรากฏ เช่น เสียง มีจริงเพียงชั่วขณะที่เสียงปรากฏ และเดี๋ยวนี้เสียงที่ปรากฏเมื่อกี้นี้หายไปไหน ทุกอย่างเป็นอย่างนี้ ไม่กลีบมาอีกเลย ทุกๆขณะ

    เพราะฉะนั้น ถ้าสามารถประจักษ์ความจริงของสภาพธรรมที่เกิดและดับด้วย ขณะนั้นก็จะค่อยๆคลายความเป็นเรา และปัญญาก็จะค่อยๆเพิ่มขึ้น ไม่ใช่เรื่องเราจะทำ หรือยังมีตัวตน แต่ต้องเข้าใจถูกว่า เป็นธรรมยิ่งขึ้น

    ผู้ฟัง   แล้วอย่างนี้เราต้องตัดตัวอะไรบ้างหรือเปล่าคะ การที่เราจะบรรลุไปถึงขั้นโสดาบัน เราต้องตัดจิตตัวไหนบ้างหรือเปล่าคะ

    ส.   นี่ก็เริ่มจะทำใช่ไหมคะ มีเราที่จะทำ

    ผู้ฟัง   ก็จะขอคำแนะนำจากท่านอาจารย์

    ส.   ต้องเป็นการอบรมเจริญปัญญาจากการฟังตามลำดับ

    ผู้ฟัง   ฟังธรรมจากไหนคะ

    ส.   กำลังฟังเดี๋ยวนี้ ปริยัติ คือศาสนา คำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าสมบูรณ์พร้อม คือไม่ใช่คำสอนที่เลื่อนลอย ซึ่งใครก็พิสูจน์ไม่ได้ ไม่ใช่อย่างนั้น แต่ทรงแสดงเรื่องของสิ่งที่มีจริง กำลังมีจริงๆในขณะนี้ ขึ้นอยู่กับว่า ปัญญาของเราสามารถเข้าใจสิ่งที่มีจริงในขณะนี้ได้มากน้อยแค่ไหน ขณะที่กำลังฟัง จิต เจตสิก รูปก็เกิดดับไปเรื่อยๆ แต่เรากำลังฟังเรื่องจิต แล้วฟังเรื่องเจตสิก ฟังเรื่องรูป ในขณะที่กำลังเห็น ฟังเรื่องจิตที่เห็น เพราะโดยมากหลายคนไม่รู้จักจิตโดยถ่องแท้ รู้แต่ว่ามีจิต คนที่สนใจเรื่องจิต ก็จะไปแสวงหาหนังสือหลายๆเล่ม จากนักปราชญ์ ไม่ว่าในยุคสมัยไหนก็ตาม แม้สมัยปัจจุบัน วงการต่างๆ เพื่อที่จะพยายามเข้าใจจิต แต่ไม่มีใครสามารถรู้แจ้งจิตอย่างพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ตรัสรู้ และทรงแสดงให้บุคคลอื่นสามารถรู้จริงๆ ไม่ใช่เพียงอ่าน เพราะเหตุว่าการศึกษาเพียงขั้นฟัง เป็นปริยัติศาสนา แต่เราไม่สามารถรู้แจ้งสภาพธรรมเพียงการฟัง เพราะขณะนี้หูได้ฟัง และทางตาก็มีจิตที่เห็น จิตที่ได้ยิน ก็มีเรื่องราวคิดนึก แต่ไม่มีลักษณะของแต่ละธรรมที่เป็นเห็น ที่เป็นนามธาตุ ไม่ใช่เรา เพียงเกิดขึ้นแล้วดับไป หรือว่านามธาตุที่สามารถจะได้ยินเพราะอาศัยหู นามธาตุชนิดนี้จึงเกิดขึ้นและได้ยินเสียง ซึ่งเสียงไม่มีรูปร่างอย่างสี อย่างสิ่งที่ปรากฏทางตา  แต่จิตสามารถรู้สิ่งที่แม้ไม่มีรูปร่าง แต่จิตรู้ได้ทุกอย่าง ไม่มีอะไรเลยที่จิตไม่รู้ อย่างเวลาที่รับประทานผลไม้บางอย่างที่มีรสต่างๆ อย่างกล้วยก็มีเปลือก แล้วมีรสของกล้วย ใครจะคิดว่า จิตสามารถลิ้มรสของกล้วย หรือรสของทุกๆอย่างได้ เกลือ น้ำตาล กาแฟ ชา ทั้งหมดนี้ถ้าไม่กระทบลิ้น รสจะปรากฏไม่ได้ รสปรากฏไม่ได้ เพราะจิตไม่ได้เกิดขึ้นลิ้มรส

    เพราะฉะนั้น ขณะใดที่รสปรากฏ ย้อนไปนึก เข้าใจได้ทันทีว่า  ขณะนั้นต้องมีนามธาตุ หรือสภาพธรรมชนิดหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นจึงสามารถจะรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา  ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจได้

    เพราะฉะนั้น เมื่อไรที่จิตเกิดต้องรู้ และมีสิ่งที่ปรากฏ แต่ด้วยความไม่รู้ก็มีความทรงจำ จากขณะแรกๆ ทำให้สามารถรู้ได้ทันทีว่า สิ่งที่กำลังปรากฏขณะนี้เป็นอะไร

    เพราะฉะนั้น ไม่ต้องไปคิดเรื่องจะทำ หรือจะตัด เพราะว่าเป็นไปไม่ได้เลย เป็นหน้าที่ของปัญญาท่จะค่อยๆอบรมเจริญขึ้น

    ผู้ฟัง   ที่เรากำลังฟังอยู่ เป็นธรรม ใช่ไหมคะ ที่ท่านอาจารย์พูดว่า ธรรมแบ่งเป็น ๒ อย่าง คื อนามธรรมและรูปธรรม ถ้าจะแบ่งเป็นบัญญัติธรรมกับปรมัตถธรรม จะต่างกับนามธรรมและรูปธรรมอย่างไรคะ

    ส.   ขณะนี้เราจะยังไม่ได้พูดถึงเรื่องชื่อต่างๆ เราพูดถึงสิ่งที่มีจริงว่า สิ่งที่มีจริงในชีวิตคืออะไร พูดถึงสิ่งที่มีจริงๆ ก็ต้องเป็นปรมัตถธรรม คือ จิต เจตสิก รูป

    ผู้ฟัง   ถ้าเราพูดถึงสิ่งที่มีจริง แล้วสามารถหลุดพ้นได้ไหมคะ ถ้าสมมติเราไม่เข้าสู่ปรมัตถธรรม คือทางธรรม

    อยากจะถามท่านอาจารย์นิดหนึ่ง เกี่ยวกับโลกปัจจุบันที่เราอยู่กับทางธรรม มันต่างกันอย่างไร

    ส.   ถ้าไม่รู้ธรรม แล้วจะรู้แจ้งว่า เป็นอริยสัจธรรมได้ไหมคะ

    ผู้ฟัง   ไม่ทราบค่ะ

    ส.   เราได้ยินบ่อยๆ ใช่ไหมคะ อริยสัจธรรม ธรรม สัจจะ  สิ่งที่มีจริงของพระอริยบุคคลที่ได้ประจักษ์แล้ว

    เพราะฉะนั้น เราเพียงพูดชื่อที่ท่านเหล่านั้นได้ประจักษ์แจ้ง แต่สภาพธรรมนั้นๆ ยังไม่ได้ปรากฏกับบุคคลใด ก็ยังไม่แจ่มแจ้งกับบุคคลนั้น

    เพราะฉะนั้น เวลาที่เรารู้ว่า มีจิต เจตสิก รูป ก็จริง แต่ถ้าไม่มีคำสำหรับเรียก เราสามารถรู้ความต่างของจิตกับเจตสิกไหม จิตเป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้ แต่จิตไม่โกรธ ไม่ดีใจ จิตไม่จำ จิตไม่เมตตา นั่นเป็นหน้าที่ของสภาพธรรมที่เกิดกับจิต เป็นเจตสิกประเภทต่างๆ ซึ่งจิต ๑ ขณะเกิดขึ้นต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยอย่างน้อยที่สุด ๗ ชนิด หรือ ๗ ประเภท

    เพราะฉะนั้น ก็ต้องแสดงให้เห็นว่า เวลาที่จำเป็นต้องใช้คำ เพื่อแสดงความต่างๆ หรือชื่อต่างๆ เพราะเหตุว่าขณะนั้นมีจิตซึ่งเป็นสภาพรู้ จังสามารถคิดคำ ถ้าไม่มีจิตที่คิดคำ หรือเรื่องราวต่างๆ คำหรือเรื่องราวต่างๆก็ไม่มี

    เพราะฉะนั้น สภาพที่เป็นปรมัตถธรรมมีลักษณะจริงๆ เกิดดับจริง ๆ แต่ต้องอาศัยคำซึ่งเป้นบัญญัติเรียกสิ่งต่างๆเหล่านั้นให้หมายรู้ว่า หมายความถึงสิ่งใด เช่น ถ้าพูดถึงจิต ไม่ได้หมายความถึงเจตสิก ไม่ได้หมายความถึงรูป และคำต่างๆ การนึกคิดต่างๆ เป็นบัญญัติ เป็นอารมณ์ของจิต ถ้าไม่มีจิตก็จะไม่มีบัญญัติ

    คุณสุภีร์จะให้ความหมายของบัญญัติ ในภาษาบาลี ได้ไหมคะ

    สุภีร์   คำว่า บัญญัติ มาจากภาษาบาลีว่า ป ญัติติ ญัตติ แปลว่าให้รู้ บทหน้าหมายความว่า โดยประการนั้นๆ บัญญัติ ก็หมายความว่า การให้รู้โดยประการนั้นๆ หรือว่าสิ่งที่ให้รู้โดยประการนั้นๆ คือรู้ว่า อะไรเป็นอะไร จริงๆแล้วการที่จะมีบัญญัติต่างๆได้ ก็ต้องมาจากสิ่งที่มีจริง ก็คือจิต เจตสิก รูปนั่นเอง ทุกท่านมองมาเห็นเป็นแก้ว ยังไม่ต้องใช้คำอะไรเลย เป็นปัญญัติติ คือให้รู้ว่าเป็นแก้ว จริงๆแล้วเป็นสิ่งที่สามารถมองเห็นได้ ถ้าเราไม่ได้มองเห็น จะไม่เห็นสิ่งนี้เลย สิ่งที่มีจริงๆ ก็คือมองเห็น เห็นแล้วก็คิดถึงสิ่งที่เห็น ฉะนั้น สิ่งที่มีจริงก็คือจิตที่เห็น แล้วก็จิตที่คิดเรื่องสิ่งที่เห็น แต่ว่าปัญญัตติ เกิดจากการคิดทางใจ สามารถรู้ได้ว่า เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด หมายรู้กันว่า เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด

    สิ่งที่มีจริงก็คือการเห็น เห็นสิ่งที่สามารถมองเห็นได้ทางตา แล้วก็คิดเรื่องสิ่งที่เห็น แล้วก็หมายรู้ว่า สิ่งนั้นเป็นอะไร นั่นแหละครับเป็นปัญญัตติ ให้รู้โดยประการนั้นๆ ทุกท่านมองมาก็จะเห็นเป็นไมโครโฟน เป็นคนนั้นคนนี้ ซึ่งสิ่งต่างๆเหล่านี้เป็นบัญญัติ ให้รู้ว่าเป็นประการนั้นๆโดยจิตคิดนึก แล้วก็แล้วแต่เป็นภาษาไหน ภาษาไทยใช้คำนี้ ภาษาอังกฤษใช้อีกคำหนึ่ง ภาษามาเลเซีย ภาษาเขมร ภาษาลาวก็แล้วแต่ ก็เพื่อให้รู้ แต่ถึงไม่ใช่คำ ก็เป็นการหมายรู้ไปแล้ว ก็เป็นการนึกคิดทางใจถึงเรื่องราวต่างๆนั่นเอง เรียกว่า บัญญัติ ให้รู้ว่าเป็นอะไร เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เป็นสิ่งของอะไร เป็นสัตว์ชนิดใด นี่เป็นความหมายของบัญญัติ ซึ่งบัญญัติจะมีได้ ก็ต้องมีจิต เจตสิก รูป ของจริง สิ่งที่มีจริงๆที่เราได้พูดมาแล้ว อย่างแก้วก็เป็นรูป เพราะแก้วไม่มีนามธรรมเกิดร่วมด้วย ใช่ไหมครับ ไม่มีชีวิต มีเพียงรูปธรรมเท่านั้นเอง เวลารูปธรรมปรากฏกับจิตเห็นของเรา เราก็คิดถึงสิ่งที่เห็น กลายเป็นแก้ว เป็นการคิดนึกทางใจ ซึ่งเป็นบัญญัติ ถ้าไม่มีจิตที่คิดก็ไม่มีบัญญัติ

    ส.   ขอเพิ่มเติมนิดหน่อยนะคะ ความจำมีไหมคะ ต้องมีแน่นอน ทุกคนจำได้ ลักษณะที่จำ เป็นธรรมหรือเปล่า เป็น มีจริงๆหรือเปล่า มี เป็นรูปธรรมหรือนามธรรม เป็นนามธรรม เป็นจิตหรือเจตสิก เป็นเจตสิก หมายความว่าจิตจะไม่จำ จะไม่รู้สึกใดๆทั้งสิ้น แต่เป็นใหญ่ในการเห็นแจ้งอารมณ์ คือสิ่งที่ปรากฏ สิ่งที่จิตกำลังรู้ ไม่ว่าจะทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ อย่างเวลาที่ได้ยินเสียง สามารถจำได้ทันที เสียงโทรศัพท์มือถือ หรือเสียงอะไร หรือเพียงรับโทรศัพท์ จำเสียงคนพูดได้ทันที

    เพราะฉะนั้น ลักษณะที่จำเป็นเจตสิก เจตสิกจะไม่เกิดกับจิตได้ไหมคะ ไม่ได้ จิตจะเกิดโดยไม่มีเจตสิกได้ไหมคะ ไม่ได้ เพราะจิตกับเจตสิกเป็นนามธรรมที่ต้องเกิดร่วมกัน เพราะฉะนั้น ความจำเป็นเจตสิก

    ความรู้สึกดีใจ เสียใจ เฉยๆ มีจริงไหมคะ มีจริง เป็นธรรมหรือเปล่าคะ เป็น เป็นปรมัตถธรรมหรือเปล่าคะ เป็น เป็นอภิธรรมหรือเปล่า เป็น

    ถาม   ที่เราคิดนึกว่า ประโยคนี้มีความหมายว่าอย่างไร และสิ่งที่เราต้องการจะตอบถูกหรือไม่

    ส.   ถ้ารู้จักธรรมแล้วจะมีคำขยายเพิ่มเติม ซึ่งธรรมก็ต้องเป็นปรมัตถธรรม ถ้าใช้คำว่า “ธรรม” ไม่ได้เรียกเป็นชื่อคนนี้ คนโน้นสักคนเดียว แต่ใช้คำว่า “ธรรม” แสดงความเป็นใหญ่ของสภาพธรรมนั้น ซึ่งไม่มีใครสามารถเปลี่ยนแปลงได้

    เพราะฉะนั้น การที่ธรรมมีลักษณะอย่างนั้น ซึ่งไม่มีใครสามารถจะเปลี่ยนแปลงได้ ใช้คำว่า “ปรมัตถธรรม” เป็นบัญญัติ แต่มีสภาพธรรมจริงๆ ลักษณะของสภาพธรรมนั้นแหละเป็นปรมัตถธรรม เพราะใครเปลี่ยนแปลงไม่ได้

    อีกชื่อ หนึ่ง อีกคำหนึ่ง คร่าวๆ ไม่ละเอียดก็คือ อภิธรรม เพราะฉะนั้น ถ้าได้ยินคำว่า “ธรรม” “ปรมัตถธรรม” “อภิธรรม” ก็คือความหมายเดียวกัน ถ้ามีคนบอกว่า รู้จักธรรม แต่ไม่รู้จักปรมัตถธรรม ถูกต้องหรือเปล่าคะ ไม่ถูก เพราะถ้าเข้าใจธรรม รู้จักธรรม ก็ต้องเข้าใจว่า ธรรมเป็นปรมัตถธรรม แล้วก็เป็นอภิธรรมด้วย

    สุภีร์   โดยความหมาย ปัญจทวาร มาจากคำว่า ปรม คือ เปลี่ยนแปลงไม่ได้ หรือไม่แปรเปลี่ยนเป็นอย่างอื่น เป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น ปรม + อัตถ อัตถะ ก็คือลักษณะของเขา อย่างเช่นการเห็นเป็นลักษณะอย่างหนึ่ง สิ่งที่เห็นก็เป็นลักษณะอย่างหนึ่ง ก็คือเป็นสิ่งที่สามารถมองเห็นได้ทางตา เสียงก็ลักษณะหนึ่ง คือสามารถได้ยินทางหู ทางตาไม่สามารถได้ยินได้ ฉะนั้น เสียงก็มีอีกลักษณะหนึ่ง สิ่งที่ปรากฏทางตาก็เป็นอีกลักษณะหนึ่ง แข็งก็มีอีกลักษณะหนึ่ง คือสามารถปรากฏได้ทางกาย อย่างนี้เรียกว่า ลักษณะ

    ปรมัตถธรรมก็มาจากคำว่า ปรม + อัตถ + ธรรม ธรรมคือสิ่งที่มีจริง เมื่อรวมกันแล้ว ปรมัตถธรรมก็คือสภาพธรรมที่มีจริง ที่มีลักษณะไม่เปลี่ยนแปลงเลย ไม่ว่าจะชื่อต่างๆ อย่างการเห็น ภาษาไทยเรียกว่า การเห็น ภาษาบาลีเรียก จักขุวิญญาณ ได้ศัพท์เพิ่มอีกหนึ่ง คือ ภาษาบาลีเรียกจักขุวิญญาณ ภาษาอังกฤษอาจจะเรียกอีกชื่อหนึ่งไป หรือว่าภาษาอื่นอาจจะเรียกชื่ออื่น แต่ก็คือการเห็นนั่นเอง

    อันนี้คือความหมายของปรมัตถธรรม คือ สิ่งที่มีจริงที่มีลักษณะไม่เปลี่ยนแปลงไปเลย

    ส่วนคำว่า “อภิธรรม”  อภิ แปลว่าละเอียด จริงอยู่ว่า ธรรม สิ่งที่มีจริงในชีวิตประจำวัน คือ จิต เจตสิก รูป แต่อภิธรรมก็คือกล่าวเรื่องจิต เจตสิก รูปโดยละเอียดยิ่งขึ้นไป ให้ค่อยๆเข้าใจขึ้นว่า ทุกอย่างๆที่มีอยู่ในชีวิตประจำวันที่ปรากฏก็ดี หรือจะปรากฏต่อไปข้างหน้าก็ดี เป็นธรรมเท่านั้น

    อภิธรรม คือธรรมที่ละเอียด แสดงโดยไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคลไปแทรกอยู่ในนั้น อย่างพูดถึงการเห็น ก็มีชื่ออย่างหนึ่งให้ละเอียดลงไป ถ้าเป็นความโกรธ ก็จะมีชื่ออย่างหนึ่งเรียก ให้รู้ว่า เป็นธรรมชนิดหนึ่ง เป็นการแสดงธรรมอีกนัยหนึ่ง

    ทุกๆท่านอาจจะคุ้นเคยกับคำว่า พระอภิธรรมปิฎก ก็คือปิฎกๆหนึ่งในส่วนของพระไตรปิฎก ที่กล่าวถึงสภาพธรรมหรือสิ่งที่มีอยู่จริงโดยละเอียดเลย เพราะว่าการแสดงโดยพระสูตร แสดงโดยว่า มีท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีบ้าง มีท่านพระวิสาขามหาอุบาสิกาบ้าง บุคคลนั้นบุคคลนี้บ้าง ท่านพระอานนท์บาง ท่านพระสารีบุตรบ้าง อันนี้กล่าวสภาพธรรมที่มีจริงนั่นแหละ แต่ยังไม่ละเอียด แต่อภิธรรมกล่าวธรรมโดยละเอียดเลย ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคลเข้าไปเกี่ยวข้อง

    ฉะนั้น ความหมายของปรมัตถธรรมกับอภิธรรม ความแตกต่างก็อย่างที่ผมกล่าวไป แต่จริงๆแล้วก็คือ สภาพธรรมที่มีจริงนั่นเอง

    ส.   ขอเชิญคุณเผชิญพูดถึงเรื่องบัญญัติ

    เผชิญ  สำหรับเรื่องบัญญัติ คุณสุภีร์ก็ได้กล่าวถึงศัพท์และความหมายไปแล้ว สิ่งที่สมมติขึ้นที่จิตคิดขึ้นโดยอาศัยปรมัตถธรรม เป็นที่ยอมรับของกลุ่ม หรือของคณะของแต่ละที่ ซึ่งแต่ละที่ก็ไม่เหมือนกัน แต่ความจริงที่ไม่ต้องใช้บัญญัติ ที่เป็นปรมัตถธรรม หรืออภิธรรม หรือธรรม ก็เป็นสิ่งที่มีเหมือนกันหมด คือ จะใช้ศัพท์ต่างกัน บัญญัติต่างกัน แต่ความจริงเหมือนกัน อย่างเช่นลักษณะที่ร้อน ภาษาไทยใช้อย่างหนึ่ง ภาษาอังกฤษใช้อย่างหนึ่ง ภาษาจีนใช้อย่างหนึ่ง แต่ว่าความจริงที่ทุกคนรู้ได้ ที่รู้สึกได้เป็นสภาพที่ร้อนปรากฏ ทางกาย นี่คือปรมัตถธรรม แต่ศัพท์หรือคำเป็นที่ให้รู้กันคือบัญญัติ

    เพราะฉะนั้น เราก็ได้เรียนรู้บัญญัติมาตั้งแต่เด็ก ไปจนถึงปริญญาโท เอก ก็เป็นเรียนรู้เรื่องของบัญญัติที่เป็นวิชาแขนงต่างๆ เป็นการรู้เรื่องราวของความจริง ไม่ได้รู้ตัวจริงๆของธรรม

    เพราะฉะนั้น การที่เราจะค่อยๆเรียนรู้เรื่องของปรมัตถธรรม ก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจ และผู้ที่รู้แล้ว ก็จะเป็นบุคคลที่ประเสริฐที่เรียกว่า ปริยัติ ซึ่งก็ตรงกับปัญหาที่ท่านหนึ่งถามว่า การดำรงชีวิตอย่างไรในชีวิตประจำวันจึงจะมีความสุขได้ ผู้ที่มีความสุขที่สุดคือ พระอรหันต์ ที่ท่านอาจารย์ได้กล่าวแล้วว่า พระอรหันต์ท่านไม่ยึดถือ ไม่สำคัญในตัวเอง การดำรงชีวิตของท่าน ท่านไม่มีความหวัง ไม่มีความต้องการ ไม่มีความโกรธ ความโลภ ความหลงเหล่านี้เลย ชีวิตของท่านก็จะมีความสุข แต่ก่อนจะเป็นพระอรหันต์ ก็จะค่อยละกิเลสไปตามลำดับขั้น ตั้งแต่พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี แต่ผู้ที่จะเป็นพระอริยบุคคลได้ ท่านก็ต้องรู้ความจริง คือ ปรมัตถธรรม หรืออภิธรรม หรือธรรมนี่เอง ที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ เพราะถ้าเรายังรู้เพียงบัญญัติ ก็ไม่ได้รู้ความจริง แต่ถ้ารู้ปรมัตถธรรมซึ่งมีอยู่จริง ที่ทำให้เราสำคัญผิด สุขก็ดี ทุกข์ก็ดี หวั่นไหวไปวันหนึ่งๆ ก็เพราะเรื่องราวต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นยศถาบรรดาศักดิ์ เสียงที่มีความหมายต่างๆกัน ทำให้เราเกิดความทุกข์ ทำสิ่งที่ไม่ดีไม่งาม ก็ยิ่งทุกข์มากขึ้น

    เพราะฉะนั้น สิ่งที่น่าเรียนรู้ น่าศึกษา น่าเข้าใจ ก็คือปรมัตถธรรม เพราะว่าจะมีแสดงเฉพาะยุคที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าอุบัติขึ้นเท่านั้น ถ้าไม่มีพระพุทธเจ้าแล้วก็จะไม่มีคำว่า ปรมัตถธรรม และไม่มีการแสดงสภาวะลักษณะของปรมัตถธรรม สภาวะลักษณะของอภิธรรม สภาวะลักษณะของธรรม

    เพราะฉะนั้น การที่เราได้เกิดขึ้นเป็นมนุษย์ แล้วได้พบพระพุทธศาสนาแล้ว แล้วได้ฟังธรรม ไม่ควรทิ้งโอกาสเหล่านี้ไป ควรจะเรียนรู้ในความจริงที่มีจริงในชีวิตประจำวัน จะทำให้เราได้รู้ความจริง และถึงความเป็นพระอริยบุคคล คือเป็นผู้ประเสริฐในอนาคตได้ ถ้าเรารู้จริงๆ

    ส.   ก็ขอทบทวนเพิ่มเติม เพราะใกล้จะหมดเวลาแล้ว ขณะนี้มีรูปธรรมไหมคะ มี ก็เป็นรูปขันธ์ คือจะให้เข้าใจขันธ์ ๕ ในวันนี้ ถ้าใช้คำว่า “รูป” หมายความถึงสภาพธรรมที่มีจริงๆ แล้วไม่ใช่สภาพรู้ รูปทุกชนิดเป็นรูปขันธ์

    คำว่า “ขันธ์” หมายความถึงกอง หรือส่วน หรือประเภท เพราะลักษณะของรูปจะเป็นนามธรรมไม่ได้เลย รูปในอดีตก็เป็นรูปธรรม คือไม่ใช่สภาพรู้ รูปในขณะนี้ก็ไม่ใช่นามธรรม เพราะเหตุว่าไม่ใช่สภาพรู้ รูปในอนาคตก็เป็นรูป เพราะฉะนั้น สภาพของรูปธรรม ไม่ว่าจะเกิดแล้วดับไป หรือจะเกิดขึ้นข้างหน้า หรือขณะที่กำลังเป็นรูปธรรมขณะนี้ก็เป็นส่วนของรูป จึงเป็นรูปขันธ์

    ขันธ์ทั้งหมดมี ๕ รูปขันธ์ ได้แก่ รูปทุกชนิด ทุกประเภท สำคัญไหมคะ สำคัญมากไหมที่จะรู้ว่า เป็นเพียงรูป แต่ความจริงแล้วทุกคนติดในรูป สุขทุกข์เพราะรูป แสวงหารูป ตั้งแต่เกิดมาไม่รู้เลยว่า มีความพอใจในรูปมากน้อยแค่ไหน ในรูปทางตาต้องสวย ทุกอย่างเลย ไม่ว่าจะที่บ้าน ที่ทำงาน ในสวน ที่ไหนทั้งหมดต้องเป็นสิ่งที่น่าพอใจ

    นี่แสดงให้เห็นถึงความติดข้องในสิ่งที่เป็นเพียงรูป ซึ่งสามารถปรากฏสำหรับผู้มีจักขุปสาท คือผู้ที่เห็นได้เท่านั้นเอง แต่เมื่อเห็นแล้ว ความติดมากมายสักแค่ไหน การแสวงหารูปของทุกคนต้องมี แล้วแต่ว่าเราจะมีความติดในรูปนั้นมากน้อยแค่ไหน แม้แต่รถยนต์ ชอบรูปอะไร ไฟชนิดไหน สีอะไร ทุกอย่างหมดในชีวิต รูปขันธ์เป็นสิ่งที่ติดข้อง และยากที่จะดับได้ ผู้ที่จะละความยินดีติดข้องในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ต้องรู้แจ้งอริยสัจธรรม ดับกิเลสถึงความเป็นพระอนาคามีบุคคล


    หมายเลข 1569
    2 ก.ย. 2558