วัตถุกาม - กิเลสกาม - กับการรู้จักตนเอง


    ส.   การแสวงหารูปของทุกคนต้องมี แล้วแต่ว่าเราจะมีความติดในรูปนั้นมากน้อยแค่ไหน แม้แต่รถยนต์ ชอบรูปอะไร ไฟชนิดไหน สีอะไร ทุกอย่างหมดในชีวิต รูปขันธ์เป็นสิ่งที่ติดข้อง และยากที่จะดับได้ ผู้ที่จะละความยินดีติดข้องในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ต้องรู้แจ้งอริยสัจธรรม ดับกิเลสถึงความเป็นพระอนาคามีบุคคล เพราะเหตุว่ามีปุถุชนที่ยังไม่ได้รู้แจ้งอริยสัจธรรมเลย ยังเต็มไปด้วยความรู้ลักษณะของสภาพธรรม และสำหรับผู้รู้แจ้งอริยสัจธรรมขั้นต้นเป็นพระโสดาบัน สามารถดับความเห็นผิดทั้งหมด ไม่เกิดอีกเลย จะเกิดได้เพียง ๗ ชาติ แต่ยังติดในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ภาษาบาลีใช้คำว่า “กาม” เป็นสิ่งที่น่าพอใจ ความหมายของ “กาม” หมายความถึงสิ่งใดก็ตามซึ่งเป็นที่ตั้งของความยินดี ความพอใจ และแม้แต่ความพอใจนั้นเองก็เป็นกิเลสกาม ซึ่งเป็นกิเลสชนิดหนึ่งที่พอใจติดข้องในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ และสิ่งที่เป็นที่ติดข้อง คือ วัตถุกาม สิ่งที่เป็นที่ตั้งของความพอใจ

    เพราะฉะนั้น เราเริ่มรู้จักตัวเราในวันหนึ่ง เริ่มเห็นกิเลสทางตา ติดข้องในรูป สีสันวัณณะต่างๆ ทางหู ติดข้องในเสียง ดนตรีนานาชนิด ดนตรีไทย ดนตรีชาติต่างๆ เพลงต่างๆ ยุคต่างๆ แต่เสียง ไม่ว่าจะเป็นเสียงที่เกิดแล้วในอดีตก็ยังคงเป็นเสียง ที่ยังคงปรากฏขณะนี้ก็ยังเป็นเสียง และต่อไปก็จะมีเสียง คือสภาพธรรมที่เพียงสามารถปรากฏกับโสตวิญญาณที่ได้ยินเท่านั้น จิตอื่น เช่น ทางกาย ไม่สามารถรู้เสียงได้ เพราะฉะนั้น ก็เป็นสิ่งที่ปรากฏกับคนที่มีโสตปสาท แต่ก็ติดมาก เป็นรูปธรรม เพราะฉะนั้น ก็เป็นรูปขันธ์ เพราะคำว่า “ขันธ์” ก็หมายถึงสภาพธรรมใดๆก็ตาม ซึ่งมีปัจจัยปรุงแต่งเกิดแล้วดับ

    เพราะฉะนั้น ขันธ์ทั้ง  ๕ เป็นสภาพธรรมที่ปัจจัยปรุงแต่งเกิดแล้วดับ สภาพธรรมที่ไม่ใช่ขันธ์ ที่เป็นปรมัตถธรรม ก็มีนิพพานอย่างเดียว ซึ่งเป็นขันธวิมุติ ซึ่งเป็นสภาพที่เกิดดับ เป็นขันธ์

    เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้ว่า รูปมีความสำคัญมาก แยกเป็นส่วนหนึ่ง รูปธรรมจะเป็นนามธรรมไม่ได้ เป็นรูปขันธ์

    เวลาได้รูปที่น่าพอใจ รู้สึกอย่างไรคะ อยากจะได้แต่รูปที่น่าพอใจ ทางตาอาจจะเป็นแหวนเพชร หรืออาจจะเป็นเสื้อผ้า หรืออะไรก็ได้ที่พอใจ ขณะนั้นความรู้สึกเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะว่าความรู้สึกมี ๓ อย่าง คือ สุข ๑ ทุกข์ ๑ อทุกขมสุข ไม่ใช่สุข ไม่ใช่ทุกข์  คือเฉยๆ หรืออุเบกขา อันนี้ไม่ได้แยกทางกายกับทางใจ แต่แยกทางกายทางใจก็มี ๕ คือ สุขทางกาย ทุกข์ทางกาย โสมนัสทางใจ โทมนัสทางใจ และอุเบกขา เพราะว่าบางคนอย่างพระอรหันต์ ผู้ที่ดับกิเลสหมดแล้ว ท่านยังต้องมีทุกข์กาย ตราบใดที่ยังมีกาย ก็เป็นที่นำมาซึ่งทุกข์ ความป่วยไข้ต่างๆ แต่ไม่มีทุกข์ใจเลย

    เพราะฉะนั้น ต่อไปนี้เราจะรู้สภาพที่เกิดกับเราว่า ตรงไหนเป็นทุกข์กาย และตรงไหนเป็นทุกข์ใจ เพราะถ้ากายของเราสุขภาพดี แต่วันนี้เป็นทุกข์ทั้งวันได้ไหมคะ ใจเป็นทุกข์ เพราะฉะนั้น ลักษณะนั้นเป็นเพราะกิเลส เป็นสิ่งซึ่งตราบใดที่ยังมีกิเลสอยู่ ก็จะทำให้มีความรู้สึกอย่างนั้น แต่ถ้าไม่มีกิเลส ดับกิเลสหมดแล้วก็ตาม แต่ก็ยังทุกข์กายและสุขกายได้ แต่เรื่องของใจก็จะเห็นได้ว่า ถ้ามีกิเลสมาก ทุกข์ก็มาก มีกิเลสน้อย ทุกข์ก็น้อย แต่ถึงแม้ไม่มีกิเลสเลย ความรู้สึกก็ต้องเกิดกับจิตทุกขณะ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมีโสมนัสเวทนาไหมคะ แม้ว่าไม่มีกิเลสก็มีได้ อย่างพระธรรมที่ทรงแสดงแล้ว ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน พระปฐมเทศนา มีผู้รู้แจ้งอริยสัจธรรม พยานของการบำเพ็ญบารมี ๔ อสงไขยแสนกัป สิ่งที่ทรงปรารถนา คือ สัตตูปการคุณ การที่อนุเคราะห์สัตว์โลกให้พ้นทุกข์อย่างพระองค์ด้วย ก็สำเร็จ เพราะมีผู้รู้แจ้งอริยสัจธรรม คือ ท่านพระอัญญาโกณฑัญญะ ซึ่งโสมนัสเวทนา แม้ไม่มีกิเลส ก็เกิดได้ เป็นกิริยาจิต

    อันนี้เราก็จะค่อยๆฟังไป

    เวทนา ในภาษาบาลี หมายถึงความรู้สึก เพราะฉะนั้น ความรู้สึกจะมี ๕ อย่าง สุขเวทนา ทุกขเวทนา โสมนัสเวทนา โทมนัสเวทนา อุเบกขาเวทนา

    ต่อไปนี้เวลาใช้คำว่า “เวทนา” ก็ไม่ได้หมายความว่า น่าสงสารมาก เพราะคนไทยเราจะใช้คำว่า น่าเวทนาเหลือเกิน แต่ความจริงเวทนาคือเจตสิกที่เป็นความรู้สึก ต้องเกิดกับจิตทุกขณะ เวลาที่จิตเกิดขึ้นเห็น ต้องมีเวทนาเจตสิกเกิดร่วมด้วย เวลาได้ยินเกิดขึ้นก็มีเวทนาเจตสิกเกิดร่วมด้วย เวทนาเจตสิกต้องเกิดกับจิตทุกขณะ แล้วเป็นสภาพธรรมที่ทุกคนต้องการแต่สุขเวทนา หรือโสมนัสเวทนา

    เพราะฉะนั้น เวทนาก็เป็นขันธ์หนึ่ง ขันธ์มี ๕ ๑. รูปขันธ์ ๒. เวทนาขันธ์ ๓. สัญญาขันธ์ ๔. สังขารขันธ์ ๕. วิญญาณขันธ์  

    สัญญา ความจำ สำคัญมาก เกิดกับจิตทุกขณะด้วย ถ้าไม่มีสัญญา ความจำ เราจะเดินเข้ามาในห้องนี้ได้ไหมคะ เราจะมีชีวิตเป็นอยู่ไม่ได้เลย ถ้าไม่มีสัญญาเจตสิก แต่สัญญาที่จำเกิดกับทั้งกุศลจิตและอกุศลจิต อย่างเวลาที่พูดถึงเรื่องบัญญัติ ถ้าไม่มีสัญญา ความจำ เราจะรู้ไหมว่า สิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้คืออะไร เพราะความจริงที่เป็นปรมัตถธรรม ขณะนี้ที่เราคิดว่า เรากำลังเห็นคน เห็นดอกไม้ เห็นโต๊ะ เห็นเก้าอี้ แต่ถ้าเป็นความจริงแท้ที่เป็นปรมัตถธรรม เห็นสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ถ้าดับไฟหมด มีคนในห้องนี้ไหมคะ คนยังไม่ได้ออกไป ยังอยู่เต็มเลย และไฟดับ ยังมีคนไหมคะ มี โดยความคิด ความจำ ในขณะที่ไฟดับ แต่ละคนอาจจะออกจากห้องนี้ทีละคนก็ได้ แต่เราอาจจะคิดว่า ยังมีอยู่ เพราะเราจำ

    เพราะฉะนั้น สัญญา ความจำ เกิดกับจิตทำให้สามารถให้รู้สิ่งที่กำลังปรากฏ ยากแสนยากที่จะเข้าใจว่า แท้ที่จริงแล้วขณะนี้สิ่งที่ปรากฏ เราจะใช้คำว่า สีสันวัณณะต่างๆ หรือแสงสว่าง เขียว แดงก็ได้ หมายความว่า ถ้าไม่เรียกชื่อว่าสีอะไร หรือสว่างแค่ไหน เราจะกล่าวสั้นๆเพียงว่า มีสิ่งที่ปรากฏเมื่อกระทบกับจักขุปสาท ก็ปรากฏเป็นสีสันวัณณะต่างๆ เพียงหลับตา สีสันวัณณะต่างๆไม่ปรากฏ แต่เวลาที่เราหรี่ไฟ ยังไม่ถึงกับดับ สีสันวัณณะต่างๆจะเปลี่ยนไปไหมคะ เปลี่ยนไป

    นี่แสดงให้เห็นว่า แท้ที่จริงแล้วมีสีต่างๆ แล้วความจำสีสันต่างๆ ทำให้มีการหมายรู้ว่า สิ่งนั้นเป็นอะไร อย่างถ้วยแก้ว มีรูปร่างตั้งหลายแบบ อาจจะเป็นทรงสูง อาจจะเป็นทรงเตี้ย อย่างไรก็ตาม แต่การจำสัณฐานและรู้ว่า สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ใส่น้ำได้ ใส่อะไรก็ได้ ขณะนั้นเราก็จำรูปร่างสัณฐานที่ปรากฏ

    เพราะฉะนั้น แท้ที่จริงแล้ว ตอนที่เรานอนหลับแล้วฝัน ไม่มีอะไรปรากฏทางตาในขณะที่กำลังหลับสนิท แต่ทำไมมีเรื่อง ฝันเห็นใครบ้างคะเมื่อคืนนี้ เห็น ใช่ไหมคะ เป็นเรื่องเป็นราว

    เพราะฉะนั้น ขณะนี้เองเหมือนกับภาพนิ่ง เป็นสีสันวัณณะต่างๆ แล้วเราก็คิดเรื่อง เอาเรื่องออกมาจากสิ่งที่ปรากฏ เอาสีสันวัณณะมาเป็นดอกไม้ หรือมาเป็นโต๊ะ หรือมาเป็นคน หรือเป็นสัตว์ เป็นรูปภาพ เป็นนาฬิกา จากความทรงจำทั้งหมด แต่ความจริงแท้ๆ เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา ต่างกับขณะที่ฝัน ขณะที่ฝันไม่มีสิ่งใดปรากฏ แต่มีเรื่อง

    เพราะฉะนั้น มีสิ่งที่ปรากฏแล้วมีเรื่องจากสิ่งที่ปรากฏเหมือนฝัน ถ้าเอาสิ่งที่ปรากฏออกไป ความคิดความจำก็เหมือนห้องนี้ ลองหลับตาแล้วคิดถึงห้องนี้ แต่ยังไม่เหมือนฝันจริงๆ ฝันจริงๆ ต่างกับขณะที่ไม่ฝัน คือเพียงแต่ว่าขณะที่ไม่ฝันมีสิ่งที่กระทบตาแล้วปรากฏ แล้วเราก็นึกคิดไปต่างๆนานากับสีสันวัณณะที่ปรากฏ เป็นคน เป็นสัตว์ เป็นเรื่อง เป็นราวต่างๆ จากความคิด แต่เวลาที่ฝันเราก็ยังคิดเรื่องพี่น้อง เรื่องญาติต่างๆ แต่ไม่มีสีสันวัณณะปรากฏ

    เพราะฉะนั้น ความต่างก็อยู่ที่ว่าความจำซึ่งเป็นเจตสิกชนิดหนึ่งที่เกิดกับจิตทุกขณะ เป็นสิ่งที่สำคัญมาก เป็นสัญญาขันธ์

    เพราะฉะนั้น เราก็ได้ ๓ ขันธ์แล้วใช่ไหมคะ รูปขันธ์ ๑ เวทนาขันธ์  ๑ สัญญาขันธ์ ๑ เจตสิกอื่นอีก ๕๐ เป็นสังขารขันธ์ 

    ถ้าพูดถึงเจตสิก ทรงแสดงว่าเจตสิกทั้งหมดมี ๕๒ ประเภท แต่ระดับของเจตสิกนั้นต่างกัน เช่น ความโกรธ ความขุ่นใจ มีระดับต่างกัน ตั้งแต่ความขุ่นใจเล็กๆน้อยๆ นิดเดียวจนกระทั่งถึงความพยาบาท ความผูกโกรธ หรือความแค้นเคือง ก็เป็นระดับความโกรธที่ต่างกัน ซึ่งมีชื่อต่างๆ

    เพราะฉะนั้น เราใช้คำบัญญัติเพื่อให้เข้าใจสภาพธรรมที่มีจริง แม้บัญญัติในสิ่งที่ไม่มี แต่หมายรู้กันก็ได้ เช่น พระราชา มีปรมัตถธรรมอะไรที่เป็นพระราชาหรือเปล่าคะ มีจิต เจตสิก รูป แต่ก็บัญญัติคำนี้สำหรับบุคคลที่มีกุศลวิบากที่ได้รับการสมมติบัญญัติว่าเป็นพระราชา

    เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้ว่า บัญญัติเป็นสิ่งที่เราหมายรู้ด้วยความทรงจำ รูปขันธ์  เวทนาขันธ์  สัญญาขันธ์ เจตสิกทั้งหมดมี ๕๒ ชนิด เวทนาเป็นปรมัตถธรรมอะไรคะ เป็นเจตสิก ๑ ประเภทใน ๕๒ สัญญา ความจำ เป็นปรมัตถธรรมอะไร เป็นสัญญาเจตสิก ๑ ใน ๕๒ เจตสิกที่เหลืออีก ๕๐ เป็นสังขารขันธ์

    ก็กำลังจะครบแล้ว รูปขันธ์  เวทนาขันธ์  สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์  สังขารขันธ์ก็ได้แก่เจตสิกอื่นซึ่งในวันหนึ่งๆ ชีวิตที่เราเรียกหรือพูดกันก็คือเจตสิกทั้งนั้น วันนี้ขยันไหม วันนี้ขี้เกียจไหม วันนี้โกรธไหม วันนี้ชอบหรือเปล่า ทั้งหมดนี้พูดถึงเจตสิกทั้งนั้น เป็นสภาพธรรมที่มีจริงๆ แม้ไม่เรียกชื่อ แต่ถ้าเรียกชื่อ ก็จะรู้ความต่างกัน  พวกนี้เป็นสังขารขันธ์ จิตทุกชนิดทุกประเภทเป็นวิญญาณขันธ์

    เพราะฉะนั้น วันนี้ก็เข้าใจปรมัตถธรรม คือ จิต ๑ เจตสิก ๑ รูป  ๑ นิพพาน ๑ แต่สภาพธรรมที่เกิดดับเท่านั้นที่เป็นขันธ์ เพราะฉะนั้น ก็ได้แก่จิต เจตสิกและรูปเป็นขันธ์ ๕ แต่นิพพานเป็นขันธวิมุติ

    ถาม   คำว่า “นิพพาน”  เราก็ทราบว่า สิ่งที่เกิดขึ้นและดับไป คือ จิต เจตสิก รูป ฉะนั้น นิพพานคือสิ่งที่ไม่ใช่จิต เจตสิก รูป ทุกท่านที่นั่งอยู่ในที่นี่ มีจิต เจตสิก รูปเกิดดับสืบต่อกันมาเรื่อยๆ จนถึงขณะนี้ จิต เจตสิก รูปชั่วโมงที่แล้ว หรือ ๒ ชั่วโมงที่แล้วที่มานั่งที่นี่ ก็ดับไปหมดแล้ว ไม่มีการย้อนกลับมาอีกเลย อันนี้เป็นจิต เจตสิก รูป แต่นิพพานไม่ใช่จิต เจตสิก รูป เพราะว่าไม่มีการเกิด

    คำว่า “นิพพาน” ก็มาจากคำว่า นิ แปลว่า ไม่มี + วาณ แปลว่าตัณหาเครื่องร้อยรัด ฉะนั้นเมื่อรวมกันแล้วเป็นนิพพาน แปลโดยศัพท์คือไม่มีตัณหาเครื่องร้อยรัด โดยสภาพธรรมก็คือสภาพที่ไม่ใช่จิต เจตสิก รูป สภาพขณะนี้ก็คือจิต เจตสิก รูป ทุกๆท่านไม่ว่าจะนั่ง เดินออกไปก็ดี พรุ่งนี้ไปทำงาน ก็คือจิต เจตสิก รูป นิพพานไม่ใช่อย่างนี้

     

       วันจันทร์ที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๔๕

    กฤษณา   กราบนมัสการพระคุณเจ้า ท่านรองเลขานุการรัฐสภา ท่านอำนวยกองกรรมาธิการ ๒ ท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน

    ก็เป็นโอกาสดีอีกครั้งที่เราได้ร่วมสนทนาธรรมในวันนี้ จะขอสนทนาต่อไปถึงเรื่องของขันธ์

    คุณสุภีร์คะ   พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงแสดงแต่เรื่องขันธ์ ๕ แต่ทรงแสดงอุปาทานขันธ์ด้วย ขอให้แสดงความต่างกันของขันธ์และอุปาทานขันธ์

    สุภีร์   ปรมัตถธรรม ๓ จิต เจตสิก รูป เป็นขันธ์ ๕ ที่นั่งอยู่ตอนนี้ ที่เห็นตอนนี้ ที่ได้ยินตอนนี้เป็นขันธ์ ๕ นั่นเอง เวลาเรามองเห็น จิตที่เห็นเป็นขันธ์อะไรคะ เป็นวิญญาณขันธ์ จิตเป็นสภาพที่รู้อารมณ์ เวลาเกิดจะมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย

    เพราะฉะนั้น เวลาจิตเห็นเกิดครั้งหนึ่ง จะมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ก็คือเวทนาเจตสิกที่เกิดร่วมกับจิตก็เป็นเวทนาขันธ์ สัญญาเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยก็ทำหน้าที่จำสิ่งที่เห็น เราอาจจะคิดว่า เราจำไม่ได้มาก แต่จริงๆแล้วสัญญาเจตสิกเกิดกับจิตทุกๆขณะเลย เหมือนกับว่าเราจำไม่ได้ แต่จริงๆแล้วสัญญาเจตสิกคือสภาพธรรมที่เกิดร่วมกับจิตนั้นจำไว้แล้ว

    เพราะฉะนั้น การที่เราทำอะไรบ่อยๆ ครั้งแรกๆก็จำไม่ได้ ครั้งต่อไปจึงจะชัดเจนยิ่งขึ้น ถ้าไม่มีการจำครั้งแรก ครั้งต่อไปก็จำได้เลย ฉะนั้น แม้แต่การเห็นครั้งนั้น นั่งรถไฟไปสถานที่ที่ไม่รู้จัก เห็นแล้วกลับมาบ้านจำอะไรไม่ได้เลย แต่จริงๆแล้วสภาพธรรมที่รู้อารมณ์ที่เกิดร่วมกับจิตนั้นจำเรียบร้อยแล้ว ถ้าเราไปครั้งที่ ๒ ครั้งที่ ๓ สิ่งต่างๆเหล่านั้นก็จะชัดเจนยิ่งขึ้น

    ฉะนั้น สัญญาเจตสิก ความจำอารมณ์ เกิดกับจิตทุกดวง ทุกท่านที่นั่งฟังอยู่ตอนนี้ ฟังเรื่องปรมัตถธรรมครั้งแรก จำไม่ค่อยได้ เป็นเราที่จำไม่ค่อยได้ แต่สภาพธรรมเขาจำแล้ว เมื่อได้ฟังอีกครั้ง ความจำเก่าๆก็จะค่อยๆชัดเจนขึ้น ๆ ก็เหมือนกับการศึกษาทางโลกที่เราได้ศึกษากันมา ตั้งแต่เขียน ก. ไก่ ข. ไข่ จนถึงเดี๋ยวนี้ หนังสือกองใหญ่ก็อ่านได้ ซึ่งได้มาจากการจำครั้งแรกๆ จนถึงเดี๋ยวนี้

    ฉะนั้น ความจำเป็นสัญญาขันธ์ ดังนั้นขันธ์ ๕ ไม่ได้อยู่ไกลเลย อยู่ในขณะนี้ทุกๆขณะเลย เมื่อกี้ยกตัวอย่างเรื่องการเห็น จิตที่เห็นเป็นวิญญาณขันธ์ จิตได้ยินมีไหมครับ การได้ยินก็มี จิตได้ยินเป็นวิญญาณขันธ์เช่นเดียวกัน เวลาได้ยินก็มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย สัญญาเจตสิกก็เกิดร่วมด้วย ก็เป็นสัญญาขันธ์ เวทนาเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย คือความรู้สึกกับเสียงนั้น ก็เป็นเวทนาขันธ์ เจตสิกอื่นๆทั้งหมดที่เหลือ ซึ่งยังไม่ได้กล่าวชื่อทั้งหมด แต่ก็เป็นความจริงในชีวิตประจำวัน เราอาจจะรู้สึกชอบหรือไม่ชอบ เหล่านั้นเป็นสังขารขันธ์ ก็คือขันธ์ ๕ ในชีวิตประจำวันนั่นเอง

    สำหรับในภูมิที่มีขันธ์ ๕ อย่างมนุษย์เราเป็นประเภทที่มีขันธ์ ๕ เวลาจิต เจตสิก รูปเกิดจะมีที่เกิด ฉะนั้น จะมาบอกว่า จิต เจตสิก รูปของเราลอยไปนั่นไปนี่ไม่ได้ เพราะเหตุว่าในภูมิที่มีขันธ์ ๕ จิต เจตสิก รูปจะเกิดที่รูป ฉะนั้น เวลาเห็นครั้งหนึ่ง ขันธ์ ๕ เกิดเรียบร้อยแล้ว

    สิ่งที่เป็นที่เกิดของจิตเห็นเรียกว่า จักขุปสาทรูป เป็นรูปที่ซึมซาบอยู่ในตา บางคนไม่มีจักขุปสาทรูป ชาตินั้นก็จะไม่เห็นเลย ของเรามีจักขุปสาทรูป จึงมีปัจจัยให้จิตเห็นเกิดได้ บางคนที่ตาบอด โลกของเขาก็จะมืดสนิท ไม่มีอาการสว่างอย่างที่เราเห็น  จะต่างกัน ถ้าเราลองหลับตานานๆ แล้วลืมตาขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง ช่วงที่หลับตา ช่วงที่ลืมตา จะต่างกันมาก ก็เหมือนกับคนตาบอด ไม่มีจักขุปสาทรูป คือไม่มีรูปที่เป็นที่เกิดของจิตเห็น ก็ไม่มีปัจจัยให้การเห็นเกิดขึ้น

    ฉะนั้น การที่เราเห็นได้ จิตเห็นเป็นวิญญาณขันธ์ เวทนาเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยเป็นเวทนาขันธ์ ความจำ หรือสัญญาที่เกิดขึ้นร่วมด้วย ก็เป็นสัญญาขันธ์ ความชอบ ไม่ชอบทั้งหลายเว้นเวทนาและสัญญาแล้วเป็นสังขารขันธ์ รูปที่เป็นที่เกิดของจิตและเจตสิกเหล่านี้ก็เป็นรูปขันธ์

    ครบแล้วนะครับ เห็นครั้งเดียวก็ครบ ๕ ขันธ์แล้ว ได้ยินครั้งเดียวก็ครบ ๕ ครั้งแล้ว ขันธ์ที่ล่วงไปแล้ว ๒ นาที หรือ ๓ วินาทีที่แล้ว อะไรก็แล้วแต่ ขันธ์เหล่านั้นที่เห็นก็ดี ที่ได้ยินก็ดี เป็นอดีตไป นั่นแหละคือขันธ์ที่เป็นอดีต เป็นกองของส่วนต่างๆที่เป็นอดีต ขณะที่เห็น ขณะที่ได้ยิน ขณะที่คิดนึกตอนนี้เป็นปัจจุบัน เป็นขันธ์ที่เป็นปัจจุบัน ที่จะเกิดต่อไปอีกข้างหน้า ก็ไม่มีอะไรจะเกิด นอกจากขันธ์จะเกิด ก็คือจิต เจตสิก รูปนั่นแหละเกิด จิต เจตสิก รูปที่เกิดก็เป็นขันธ์ ๕ นั่นเอง ก็เป็นเรื่องเดียวกัน

    ฉะนั้น ไม่ว่าในชาตินี้ก็ดี ไม่ว่าในชาติไหนๆก็ดี ไม่มีคนเกิด ไม่มีสัตว์เกิด มีแต่จิต เจตสิก รูปเกิด ความจริงเป็นเช่นนี้

    เมื่อกล่าวถึงขันธ์ ๕ เราอาจจะงงในศัพท์ ที่จริงแล้วขันธ์ ๕ ก็นั่งอยู่ที่นี่ แล้วมีการเห็น การได้ยิน สิ่งเหล่านี้เป็นขันธ์ ๕ ทั้งหมด

    ต่อไปที่พี่กฤษณาได้ถามผมว่า นอกจากมีขันธ์ ๕ แล้วยังมีอุปาทานขันธ์ ๕ คำว่า อุปาทาน หมายถึงความยึดมั่นถือมั่น


    หมายเลข 1570
    2 ก.ย. 2558