เข้าใจบัญญัติกับปรมัตถ์เรื่องมหาภูตรูปถูกไหม


    ถาม   มหาภูตรูปที่เป็นชื่อลักษณะ อธิบายลักษณะก็คือเป็นบัญญัติ เป็นเรื่องราวของธรรม แต่เมื่อเริ่มมีสติระลึกถึงลักษณะที่แท้จริง นั่นคือปรมัตถ์ อันนี้ไม่ทราบเข้าใจถูกหรือเปล่าคะ แต่เผอิญเคยสงสัยตรงนี้เหมือนกัน

    ส.   ต้องขอถามว่า บัญญัติ ก่อนอื่นต้องตั้งต้นใหม่ เพื่อความชัดเจน ตอนนี้มี ๒ คำ ปรมัตถ์กับบัญญัติ

    ปรมัตถธรรมหมายถึงสิ่งที่มีจริง ไม่ต้องเรียกชื่อได้ไหม อย่างกำลังเห็น จะเรียกชื่ออะไรดี หรือไม่ต้องเรียก ก็เห็น จะใช้ภาษาไทยก็ได้ เห็น จะใช้ภาษาบาลี ก็จักขุวิญญาณ ใช้ภาษาอังกฤษ ภาษาญี่ปุ่น ภาษาอะไรก็ได้ เพื่อให้เข้าใจว่า หมายความถึงสภาพธรรมนี้

    เพราะฉะนั้น คำที่ใช้เพื่อให้เข้าใจก็คือบัญญัติ แต่ให้เข้าใจอะไร ไม่ใช่ให้เข้าใจลักษณะของบัญญัติ เพราะลักษณะของบัญญัติไม่มี เป็นแต่ภาษาหรือคำเพื่อให้เข้าใจสภาพธรรมนั้น ซึ่งถ้าไม่ใช้คำ แล้วจะเข้าใจได้อย่างไรว่า เราหมายถึงเห็น หรือหมายถึงได้ยิน แล้วบัญญัติคืออะไร

    ปรมัตถธรรมคือสิ่งที่มีจริง ยังไม่ต้องพูดถึงบัญญัติเลย ปรมัตถธรรมเป็นสิ่งที่มีจริง ไม่เรียกชื่อได้ไหม สิ่งที่มีจริงไม่ต้องเรียกชื่อก็มีจริงๆ หรือต้องเรียกชื่อถึงจะมีจริง

    ผู้ฟัง   รู้ในความรู้สึกหรือครับ

    ส.   ยังค่ะ ถามว่า สิ่งที่มีจริงต้องเรียกชื่อถึงจะมีจริง หรือแม้ไม่ต้องเรียกชื่ออะไรเลยทั้งสิ้น สิ่งนั้นก็มีจริงๆ สิ่งที่มีจริงไม่ต้องเรียกชื่ออะไรเลย สิ่งนั้นก็มีจริง อย่างเห็นเดี๋ยวนี้ มีจริง ไม่ต้องเรียกอะไรเลยก็มีจริง หรือจะมีจริงต่อเมื่อเรียกชื่อแล้วจึงจะมีจริง

    ผู้ฟัง   ไม่มีชื่อก็มีจริง

    ส.   ไม่มีชื่อก็มีจริง สิ่งที่มีลักษณะจริงๆ แม้ไม่เรียกชื่ออะไรเลย สิ่งนั้นคือปรมัตถธรรม ธรรมมีจริง เป็นปรมัตถ์  ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล  ไม่ใช่ของใคร ลักษณะเห็น เมื่อมีปัจจัยเกิดขึ้นเห็นแล้วก็ดับ เพราะไม่ใช่ขณะที่ได้ยิน จะเอาเห็นมาเป็นได้ยินไม่ได้

    เพราะฉะนั้น เมื่อได้ยินเกิดดับไป ก็ไม่ใช่เห็น ใช่ไหมคะ ได้ยินเป็นปรมัตถ์หรือเปล่า

    ผู้ฟัง   ได้ยินเป็นปรมัตถ์

    ส.   เห็น

    ผู้ฟัง   เห็นก็เป็นปรมัตถ์

    ส.   ไม่ต้องเรียกชื่อเลย แต่คำที่ใช้เพื่อให้เข้าใจความหมาย เป็นบัญญัติ เป็นเพียงภาษาหรือคำ หรือความทรงจำ ซึ่งไม่ใช่ลักษณะของปรมัตถธรรม แต่เป็นความทรงจำ เมื่อวานนี้ทำอะไรบ้างคะ

    ผู้ฟัง   อ่านหนังสือ ฟังเทป

    ส.   จำได้ ใช่ไหมคะ เมื่อวานนี้หมดไปแล้ว แต่บอกว่าอ่านหนังสือ เพื่อให้รู้ความหมายว่าเมื่อวานนี้ทำอะไรบ้าง พอพูดว่าอ่านหนังสือ ทุกคนรู้เลยว่าทำอะไร ใช่ไหมคะ นั่นคือบัญญัติ แต่ไม่ใช่ตัวปรมัตถ์ ปรมัตถ์เมื่อวานนี้ก็ดับไปแล้ว แต่ว่าจำได้ พอจำว่าอ่านหนังสือ เป็นเรื่องราวหรือเปล่าคะ เพราะว่าไม่ใช่กำลังอ่าน ไม่ใช่เห็นเมื่อวานนี้ที่กำลังเห็นเป็นตัวหนังสือ แต่จำเรื่องราว ถ้าถามว่าเมื่อวานนี้ทำอะไรบ้าง ที่ตอบก็คือเรื่องราวว่าเมื่อวานนี้อ่านหนังสือ อ่านหนังสือเป็นเรื่องราวที่จำ แต่ไม่ใช่ตัวจิตเห็นที่กำลังเห็นในขณะนี้ ไม่ใช่จิตได้ยินที่กำลังได้ยินในขณะนี้

    เพราะฉะนั้น เรื่องราวทั้งหมดที่จำเป็นบัญญัติ ต้องเข้าใจความต่างกันของปรมัตถ์กับบัญญัติ ฟังธรรมต้องฟังมาก ตอนแรกอาจจะคิดว่าเข้าใจอย่างนี้ แต่ฟังไปๆ ก็จะรู้ว่า ที่เข้าใจอย่างนั้นคลาดเคลื่อนหรือเปล่า เพราะว่าก่อนอื่นต้องเข้าใจความต่างของปรมัตถ์กับบัญญัติเสียก่อน ถ้าไม่มีปรมัตถธรรม จะมีบัญญัติได้ไหม จะเอาบัญญัติมาแต่ไหน จิตไม่ได้เห็นอะไร แล้วจะไปจำอะไร จะไปคิดอะไร แต่เพราะเหตุว่ามีปรมัตถธรรมแล้วก็มีความทรงจำสืบทอดเป็นเรื่องราว ความคิดนึกต่างๆ ความคิดนึกทั้งหมด เรื่องราวเป็นบัญญัติ ถ้าจิตไม่เกิดขึ้นคิด เรื่องที่อ่านหนังสือมีไหมคะ ไม่มี

    เพราะฉะนั้น ที่มีว่า เมื่อวานนี้อ่านหนังสือ ก็เพราะจิตกำลังคิดเรื่องนั้น คำนั้น

    เพราะฉะนั้น บัญญัติก็คือไม่ใช่ปรมัตถธรรม เป็นเรื่องราวที่ทรงจำ ขณะนี้เห็นอะไรคะ

    ผู้ฟัง   เห็นโต๊ะ เห็นหนังสือ เห็นคน

    ส.   อะไรเป็นปรมัตถ์ อะไรเป็นบัญญัติ

    ผู้ฟัง   โต๊ะเป็นบัญญัติ

    ส.   อะไรเป็นปรมัตถ์

    ผู้ฟัง   เห็น

    ส.   เพราะฉะนั้น อะไรจริง

    ผู้ฟัง   โต๊ะจริง

    ส.   อันนี้ดีนะคะที่ตอบตามความคิด อันนี้ดีมาก เพราะคิดอย่างไรก็ตอบอย่างนั้น แต่จริงๆแล้วลองคิดใหม่อีกทีซิว่า โต๊ะมีจริง หรือเห็นมีจริง

    ผู้ฟัง   เห็นมีจริง

    ส.   ถ้าเห็นมีจริง เห็นอะไร

    ผู้ฟัง   เห็นโต๊ะ

    ส.   อันนั้นยังไม่เข้าใจว่า อะไรเป็นปรมัตถ์ อะไรเป็นบัญญัติ

    เพราะฉะนั้น ก่อนอื่นเรายังเพิ่งไปไหนไกลๆ กลับมาให้เข้าใจจริงๆ ถ้าพูดถึงบัญญัติ ให้เข้าใจบัญญัติ ถ้าพูดถึงปรมัตถ์ ก็ให้เข้าใจปรมัตถ์ จนไม่มีความสงสัยแล้วถึงจะรู้ว่า ที่บอกให้ฟังทางวิทยุ ให้พิจารณาอะไร ให้ปัญญารู้อะไร ต้องเป็นสิ่งที่มีจริงๆ อย่างคิด อะไรจริง เรื่องที่คิดจริง หรือจิตที่คิดจริง

    ผู้ฟัง   จิตที่คิดจริง

    ส.   จิตที่คิดจริง เพราะฉะนั้น จะไปพิจารณาเรื่องราวไหม

    ผู้ฟัง   พิจารณาครับ

    ส.   พิจารณาทำไม

    ผู้ฟัง   ก็มันคิด

    ส.   ก็มันไม่จริง ตังจริงคืออะไร

    ผู้ฟัง   ตัวจิตครับ

    ส.   แล้วทำไมไม่รู้ว่า จิตกำลังคิด ถ้าจิตไม่คิด เรื่องราวก็ไม่มี

    ผู้ฟัง   ถ้าอย่างนั้นเวลาเราคิด เราก็บังคับจิตไม่ให้คิดหรือครับ

    ส.   ผิด ปรมัตถธรรมคืออะไร ธรรมไม่ใช่ของใคร บังคับบัญชาได้ไหม ไม่ใช่ของใครแล้วจะไปบังคับได้อย่างไร สภาพธรรมนั้นเป็นอย่างไร เกิดขึ้นเป็นอย่างนั้น ก็ต้องเป็นอย่างนั้น ถ้าจิตเกิดขึ้นคิด จะไม่ให้คิดได้ไหม ถ้าบอกว่าได้ นั่นคือไม่เข้าใจปรมัตถธรรม คิดแล้ว ทำไงได้ เกิดคิดแล้ว บังคับไม่ได้ เพราะเกิดคิดแล้ว ต้องเข้าใจจริงๆ ก่อนอื่นต้องเข้าใจปรมัตถ์กับบัญญัติ แล้วถึงจะรู้ว่า ปัญญาที่รู้ว่าไม่ใช่เรา ต้องเป็นปรมัตถธรรม เพราะถ้าไม่มีปรมัตถธรรม บัญญัติก็มีไม่ได้

    ยากไหมคะ เพราะเราคุ้นเคยอยู่ในโลกของบัญญัติตั้งแต่เกิดจนตาย ลืมเลยว่า มีปรมัตถธรรม คิดว่ามีแต่บัญญัติจริงๆ มีโต๊ะจริงๆ มีเก้าอี้จริง มีเรื่องราวต่างๆจริงๆ แท้ที่จริงถ้าไม่มีจิต เจตสิก รูป ไม่มีสภาพปรมัตถธรรม อะไรก็ไม่มี โลกก็ไม่มี

    เพราะฉะนั้น เวลาฟัง ฟังใหม่อีกทีว่า เวลาที่จะรู้ความจริง ต้องรู้ลักษณะของอะไร ตอบอีกทีได้ไหมว่า เห็นอะไร

    ผู้ฟัง   เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา

    ส.   อันนี้จำแน่ๆ แต่จริง กำลังเริ่มจำสิ่งที่จริง เห็นไหมคะว่า เราต้องเริ่มจำ ถ้าเราไม่เริ่มจำจริงๆแล้ว ได้ยินมาว่า เห็น ต้องเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ภาษาบาลีจะเรียกอะไรก็แล้วแต่ ชาติก่อนๆเคยได้ยินภาษาบาลีจนคล่อง ชาตินี้ได้ยินคำนี้แล้วก็ไม่รู้ว่าคืออะไร แต่มีสิ่งที่ปรากฏทางตา

    เพราะฉะนั้น ใช้ภาษาอะไรก็ได้ แต่ให้เข้าใจว่า เห็นจริงๆ ไม่ได้เห็นอย่างอื่นเลย เห็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ เร็วแค่ไหน ต้านไม่ได้เลย เพราะเห็นแล้วจำได้ทันทีว่า สิ่งที่เห็นเป็นอะไร นี่ค่ะบัญญัติเริ่มเข้ามาแล้ว

    เพราะฉะนั้น เราอยู่ในโลกของบัญญัติ หรือจะพูดเปรียบเทียบก็คือ อยู่ในโลกของทะเลภาพกับทะเลยชื่อ จนกว่าเมื่อไรลักษณะของสภาพธรรมปรากฏ เมื่อนั้นมีสิ่งที่มีจริงๆ ที่จะทำให้รู้ความจริงซึ่งเป็นอริยสัจได้

    ผู้ฟัง   อย่างนั้นเวลามีสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ก็ไม่ต้องไปนึกถึงบัญญัติเลย ใช่ไหมครับ

    ส.   ใครสั่งได้ นี่คือการเข้าใจผิด ถ้าเข้าใจถูกก็คือสภาพธรรมเกิดขึ้นเป็นอย่างไร ให้รู้ตามความเป็นจริง คิดมีไหม มี เคยคิดว่าเป็นเราที่คิดใช่ไหม เพราะฉะนั้น ก็ต้องรู้ว่า คิดเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย เราจะคิดถึงสิ่งที่เราไม่เคยเห็นได้ไหม คิดถึงเรื่องที่เราไม่เคยได้ยินได้ไหม

    เพราะฉะนั้น แม้แต่ความคิดก็ต้องมีปัจจัย จะให้คนนี้ไปคิดถึงบ้านคนโน้นก็ไม่ได้ พี่น้องของคนโน้นก็ไม่ได้ เรื่องราวของคนโน้นคนนี้ก็ไม่ได้ ต้องเป็นประสบการณ์ของตัวเอง จากเห็น จากได้ยิน ในชีวิตตั้งแต่เกิดมาจำไว้หมดเลย จะย้อนไปคิดกี่ครั้งก็ได้ เพราะสิ่งนั้นเกิดขึ้นกับเรา มีความจำที่คิดไว้ จำไว้ จึงคิดได้

    เพราะฉะนั้น ก็ต้องเข้าใจจริงๆ พอพูดถึงบัญญัติ ตอนนี้รู้แล้วใช่ไหมคะ เมื่อกี้นี้รู้หรือเปล่าตอนพิจารณาบัญญัติ

    ผู้ฟัง   ไม่รู้ครับ

    ส.   เพราะฉะนั้น เราก็ต้องรู้ว่า การฟังธรรมเพื่อเป็นความเข้าใจของเราที่เข้าใจแล้วจะไม่เปลี่ยนแปลง ต่อไปนี้ใครพูดถึงปรมัตถธรรม เรารู้ว่า หมายความถึงสภาพธรรมที่มีจริง ต่อไปจะทราบว่า สภาพธรรมที่มีจริงมีเพียง ๔ นิดเดียวเอง ใช่ไหมคะ จิต เจตสิก รูป นิพพาน แต่หลากหลายมหาศาล จนกระทั่งกว่าจะรู้ได้จริงๆว่า เป็นจิตประเภทต่างๆ เป็นเจตสิก เป็นรูป ไม่ใช่เรา ก็ต้องอาศัยการฟัง

    เพราะฉะนั้น เมื่อมีความเข้าใจขั้นฟังแล้ว ภายหลังก็จะรู้ตรงลักษณะที่เป็นอย่างนั้นจริงๆ แล้วค่อยๆเข้าใจว่า สิ่งนั้นต่างหากที่มีจริง เกิดแล้วปรากฏ ซึ่งไม่ใช่เรา จนกว่าจะหมดความเป็นเรา ถ้าเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา แล้วจะรู้อะไร กำลังเห็น เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา แล้วจะรู้อะไรคะ

    ผู้ฟัง   รู้สี รูปร่าง

    ส.   รู้อย่างไร รู้สี เข้าใจอย่างไรในสี

    ผู้ฟัง   คือมีสีและมีรูปร่างต่างๆ

    ส.   เวลาเป็นรูปร่างสัณฐาน จำหรือเปล่าคะ

    ผู้ฟัง   จำครับ

    ส.   ในห้องนี้เห็นอะไรบ้าง

    ผู้ฟัง   เห็นพัดลม เห็นหนังสือ เห็นตู้

    ส.   มีสิ่งที่ไม่ได้พูดถึง เพราะไม่เห็นหรือไงคะ

    ผู้ฟัง   อันนี้เป็นบัญญัติ ที่ผมเอ่ยไป ชื่ออะไร

    ส.   ก็ใช่ มีอีกตั้งเยอะแยะ

    ผู้ฟัง   ถ้าไม่พูดถึงบัญญัติ ก็เป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา

    ส.   ถูกต้อง แต่ขณะนี้ที่พูดมาแล้ว ยังมีออ่างอื่นอีก

    ผู้ฟัง   ยังมีอย่างอื่นอีก

    ส.   แล้วที่ไม่ได้พูดถึงเลย แม้มี มีหรือเปล่า

    ผู้ฟัง   มี

    ส.   อะไรคะ ทำไมมีแล้วไม่พูดถึง

    ผู้ฟัง   คิดไม่ถึงครับ

    ส.   ไม่ได้คิดถึงสิ่งนั้น จึงเหมือนไม่ปรากฏเลย แม้มี นี่แสดงให้เห็นว่า นอกจากเห็นแล้ว ยังมีการคิด แล้วจำในสีสันวัณณะที่ปรากฏรูปร่างสัณฐานต่างๆ ขณะหนึ่ง

    ผู้ฟัง   คนละขณะ

    ส.   เพราะฉะนั้น ก็มีจิตหลายประเภท จิตประเภทหนึ่งเพียงแค่เห็น แล้วจิตประเภทที่คิดนึก ทรงจำก็เกิดสืบต่อ รวมกันแล้วก็เป็นเราเห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดไปตลอดชีวิตเลย ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรม  แต่ถ้าฟังพระธรรม ก็ค่อยๆละเอียดขึ้น แล้วอย่าหวังว่า เราจะหมดความสงสัยในสภาพธรรมโดยรวดเร็ว ต้องเป็นการอบรม เป็นความเข้าใจของเราจริงๆ ที่รู้ความต่างกันของขณะที่เป็นปัญญาแต่ละขั้น มิฉะนั้นก็จะสับสนไปเอาปัญญาขั้นคิดเป็นปัญญาขั้นละกิเลส ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลย

    ผู้ฟัง   เพราะฉะนั้น ขั้นฟังก็ยังไม่สามารถรู้สภาพปรมัตถ์กับบัญญัติ

    ส.   ค่ะ เพียงแต่เข้าใจ จนกว่าสติสัมปชัญญะระลึกลักษณะของปรมัตถ์ ถามคุณวรศักดิ์ว่าเป็นปัญญาอันไหน

    วรศักดิ์   เท่าที่ฟังในความคิดของผม ในลักษณะที่เราเห็นปั๊บ สีสันวัณณะที่ปรากฏทางตาคือสภาพที่เรารู้ว่า นี่คือสีอะไร ในความคิดของผม เพราะมันคือสี แต่ความคิดที่เกิดดับและเร็วมาก จะมีตัวบัญญัติออกมาทันทีว่า มันคือโต๊ะ อย่างนี้ครับ

    ส.   ไม่ใช่บอกว่า เห็นแล้วคิดว่า เป็นสิ่งที่ปรากฏทางตาพวกนี้ เป็นความรู้ระดับไหน

    วรศักดิ์   เห็นแล้วก็คิดว่า เป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ถ้าจะเป็นลักษณะของการฟังว่าฟังมาอย่างนี้ ก็เลยคิดอย่างนี้ว่า ผมก็เพิ่งมาฟัง ยังไม่ใช่ผู้ชำนาญ คือ ถ้าจะถามว่า เราพิจารณาบัญญัติไหม ที่จริงเหมือนท่านอาจารย์พูดว่า ถึงแม้ไม่มีบัญญัติ สิ่งเหล่านี้ก็มีจริง เพราะฉะนั้น โต๊ะเขามีอยู่แล้ว เพียงแต่สภาพธรรมที่เกิดดับ ผมเคยได้ยินอาจารย์บอกว่า จิตเกิดดับเร็วมาก มี ๑๗ ขณะจิต หรืออย่างไรครับ

    ส.   รูปๆหนึ่งจะมีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ

    วรศักดิ์   ใช่ครับ ผมคิดว่า มันเร็วมาก เพราะฉะนั้น ตัวสัญญา คือความจำได้หมายรู้บวกกับสังขารขันธ์มันเร็วมาก แล้วมันจะบอกเราเลยว่า โต๊ะ สมมติว่าเราชอบ ก็จะปรุงแต่งไปเลยว่า เราชอบ ถ้าเราบอกว่าเราไม่ชอบ เราเกลียดโต๊ะ ลักษณะมันก็จะออกมาอย่างนี้ ผมคิดอย่างนี้

    ส.   ปัญญามี ๓ ระดับ ฟัง คิด อบรม

    ถาม   ที่เห็นแล้วยากมาก หมายความว่าฟังแล้ว แล้วคิดว่าแค่บัญญัติ ที่ท่านอาจารย์บอกว่ามี ๓ ระดับ

    ส.   เข้าใจขั้นฟัง ในขณะที่กำลังฟังเข้าใจ เป็นเหตุให้เกิดคิดเวลาเห็นว่า สิ่งที่ปรากฏเป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏเท่านั้น นี่คือขั้นคิด แต่ไม่ใช่ขณะที่ค่อยๆเข้าใจจริงๆในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ

    ผู้ฟัง   ที่เรียนถามหมายความว่า แค่ขั้นคิด ก็เป็นขั้นที่เราดับกิเลสที่ยากได้หรือยัง ยัง ต้องเข้าใจอีก

    ส.   สุตตมยปัญญา จินตามยปัญญา ภาวนามยปัญญา

    ผู้ฟัง   ในความรู้สึกขณะนี้ที่ฟังอยู่ มีความรู้สึกว่า ถ้าเราแค่ฟัง แล้วเราไม่บานปลายออกไปนอกเรื่องกว่านี้ เราแค่เห็น เอาแค่นี้ คือเราเข้าใจแล้ว เราก็ไม่เกิดกิเลสแล้ว สีม่วง สีเหลือง คือเราพอแล้ว ว่านี่คือธรรม เราก็หยุดได้ ตรงนี้ช่วยได้ไหมคะ ถามนี่หมายความว่า ทุกคนที่มองเห็นดอกไม้สวย แล้วบังคับอารมณ์ไม่ได้ สามารถฟังแล้วเกิดอารมณ์

    ประเชิญ   เอาแค่เข้าใจก่อน คือขั้นประจักษ์แจ้ง ไถ่ถอนบัญญัติตรงนั้นจริงๆ ต้องเป็นปัญญาอีกระดับหนึ่ง อย่างที่เมื่อกี้ตั้งแต่ตอนแรกที่ว่า สักแต่ว่าเห็น เป็นปัญญาของผู้เจริญสติปัฏฐาน คือผู้อบรมเจริญปัญญาขั้นสูงแล้ว อย่างที่ท่านแสดงกับท่านพระพาหิยะ ในสมัยครั้งพุทธกาล ท่านพระพาหิยะสะสมอบรมมาแสนกัป พร้อมที่จะตรัสรู้ ฟังแค่ ๑ คาถา ๔ บาท ก็รู้แจ้งธรรม คือเข้าใจในพระดำรัสที่ว่า เห็นสักแต่ว่าเห็น คือ เห็นแล้วไม่ยินดี ไม่ยินร้าย เหมือนจักขุวิญญาณ ซึ่งต้องปัญญาขั้นสติปัฏฐาน ขั้นวิปัสสนาญาณ ไม่ใช่เพียงแค่ไปหลอกตัวเองว่า สักแต่ว่าเห็น ไม่ใช่แค่นั้น ต้องเป็นปัญญา

    ถาม   เราจะมีวิธีบอกเขาอย่างไร คือเราก็พยายามมาทำความเข้าใจ รู้สึกว่ายากมาก เราก็บอกว่า นี่คือธรรม จะทำอย่างไร คือถ้าบอกว่า แค่ตัดใจได้ เห็นแค่เห็น หรือไม่ไปเกิดอารมณ์อยากได้ โลภ หรือเวลาโกรธ ก็อย่าไปโกรธ เพราะว่าเกิดความเข้าใจ

    ส.   พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนเพียงแค่นี้หรือ สอนแค่นี้ใครก็สอนได้ คิดเองก็อาจคิดได้ เพราะฉะนั้น เรามีพระธรรมเป็นสรณะหรือเปล่า  เรามีพระผู้มีพระภาค พระธรรม พระสงฆ์เป็นสรณะหรือเปล่า สรณะที่นี่ เราพึ่งอย่างไร พึ่งเมื่อไร พึ่งเมื่อไม่ฟัง แล้วไปพึ่งตอนไหน

    ผู้ฟัง   ฟังดูแล้วก็ต้องค่อยๆพิจารณา

    แอ๊ว   ครั้งหนึ่งนานมาแล้ว หนูเคยคิดเหมือนพี่ คือได้ยินธรรมอะไรๆ ก็เที่ยวไปเกื้อกูลคนอื่น ไปช่วยคนอื่น แต่สามีบอกว่า หนูคิดผิด สามีหนูเป็นฝรั่ง เขาบอกว่าหนูคิดผิด เขาบอกว่า ตัวเองยังไม่เข้าใจเลย และจะไปเที่ยวสอนชาวบ้านนี่ไม่มีทาง เพราะฉะนั้น เราต้องศึกษาเองให้เข้าใจก่อน ตั้งแต่ธรรมคืออะไร อย่างที่ท่านอาจารย์พูดเมื่อตอนต้นว่า ธรรมคืออะไร ตั้งแต่ศูนย์ แล้วค่อยๆเพิ่มขึ้น จนกว่าเราจะเข้าใจ ในที่สุดจึงเลิกล้มความคิดที่จะไปสอนคนอื่น

    ผู้ฟัง   หนูว่ายากมาก

    ส.   กราบไหว้ใครคะทุกวัน

    ผู้ฟัง   หนูจะไหว้พระ

    ส.   พระไหนคะที่ไหว้

    ผู้ฟัง   พระพุทธรูปบนหิ้งค่ะ

    ส.   เรารู้จักพระพุทธรูปบนหิ้ง แต่เราไม่ได้รู้จักพระคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

    ผู้ฟัง   ส่วนตัวก็คงจะใช่มานานแล้ว แต่เมื่อ ๔ ปีที่แล้วก็เริ่มรู้สึกว่า กราบด้วยความจริงใจ กราบและบูชาพระพุทธคุณที่สุด เป็นครั้งแรกที่รู้สึก และค่อยๆมาอ่านหนังสือบ้าง และครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ได้มาฟัง

    ส.   ถ้าเราไม่ได้ศึกษาพระพุทธคุณ เรารู้จักพระพุทธเจ้า พระคุณของพระองค์ได้อย่างไร เราคิดเอาเอง แต่ความจริงพระคุณมากมายมหาศาลยิ่งกว่าที่เราจะประมาณได้ ถึงแม้เราจะศึกษาแล้ว ผู้ที่ศึกษาปรมัตถธรรม จิต เจตสิก รูป อบรมเจริญปัญญา ก็ยังไม่สามารถพรรณนาพระคุณของพระองค์ได้ ยิ่งรู้ยิ่งเห็น ก็ยิ่งเข้าใจถ่องแท้ในพระปัญญาคุณว่ามากมายมหาศาล แต่ถ้าเราไม่เริ่ม เราก็คิดแต่ว่าพระองค์เป็นผู้ไม่มีกิเลส เป็นผู้ประเสริฐสุด แต่สอนอะไร

    แอ๊ว   คือจะทำอย่างไรกับผู้ที่ได้เริ่มต้นฟังใหม่ รู้สึกว่ายากตั้งแต่นามธรรมและรูปธรรม ทำอย่างไรเขาถึงจะไม่รู้สึกย่อท้อ หรือหมดกำลังใจที่จะเข้าใจธรรม เขาควรจะตั้งตนไว้อย่างไร

    ส.   เขานับถือใคร

    ผู้ฟัง   บูชาพระพุทธคุณแล้ว

    ส.   รู้พระคุณของพระองค์ได้อย่างไร

    ผู้ฟัง   ส่วนตัวแล้วเมื่อก่อนนี้ไม่ได้สนใจ ตามพ่อแม่ไปไหว้พระ ก็กราบไหว้ไปตามเรื่อง

    ส.   รู้ว่า เป็นผู้ที่มีจริง บริสุทธิ์ ประกอบด้วยพระมหากรุณาคุณ พระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ รู้แค่นี้เอง

    ผู้ฟัง   รู้ว่าธรรมของท่านมีมากมาย แล้วเราฟังนิดเดียว ก็มีประโยชน์

    ส.   สิ่งที่เรารู้น้อยแค่นี้ แต่พระองค์มีพระคุณมากกว่านี้ และควรจะรู้มากกว่านี้หรือเปล่า มีทางที่จะรู้จักพระพุทธเจ้ามากกว่าพระพุทธรูปบนหิ้ง ยิ่งเข้าใจพระธรรมมากเท่าไร ก็ยิ่งเห็นพระองค์มากเท่านั้น

    ผู้ฟัง   ผู้ที่เห็นก็ขึ้นอยู่กับการศึกษามากกว่า

    ส.   จริงๆแล้วก็เป็นเรื่องของแต่ละบุคคล ใครจะศึกษาอย่างไร ใครจะคิดอย่างไร ใครจะเข้าใจอย่างไร ใครจะสอนอย่างไร ก็เป็นเรื่องของแต่ละบุคคล แต่เราเองรู้ไหมว่า เราเข้าใจอะไรเพิ่มขึ้น หรือยังคงสับสนเรื่องคำต่างๆ และแท้ที่จริงธรรมก็มี แต่ไม่เคยรู้เลยว่า เป็นธรรม แม้แต่จะไปฟังปฏิจจสมุปปาท โพชฌงค์ หรืออะไรก็แล้วแต่ ก็ยังสับสนเรื่องชื่อ แต่เดี๋ยวนี้เรามีความรู้ความเข้าใจอะไรในสิ่งที่มีจริงๆ ที่ปรากฏ ไม่ใช่เมื่อวานนี้ หรือไม่ใช่สิ่งที่ยังไม่ปรากฏเลย เป็นแต่เพียงความนึกคิดถึงอดีตที่ผ่านมาแล้ว หรือสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น ข้ามสิ่งที่กำลังมี

    เพราะฉะนั้น ขณะนี้ที่กำลังเห็น จะมีอวิชชาหรือวิชชา ถ้าอวิชชาก็คือยังคงไม่เข้าใจสิ่งที่มีจริงๆ แต่ถ้าเป็นวิชชาเมื่อไร ไท้ใช่เรา แต่เป็นความเห็นถูกที่ค่อยๆเข้าใจถูกขึ้น

    เพราะฉะนั้น เราจะไม่ไปเกี่ยวข้องกับบุคคลอื่น เพราะแท้ที่จริงแล้วแต่ละบุคคลอยู่ในโลกตามลำพังคนเดียวกับความคิดนึก จิตเกิดขึ้นทีละ ๑ ขณะ ๒ ขณะไม่ได้เลย เพราะเป็นสภาพธรรมซึ่งเป็นธาตุชนิดหนึ่ง ซึ่งถ้าจิตขณะนี้ยังไม่ดับไป จิตขณะต่อไปเกิดไม่ได้ เพราะว่าจิตทุกจิตเว้นจุติจิตของพระอรหันต์ เมื่อจิตนั้นดับ จิตที่เกิดในขณะนี้เป็นอนันตรปัจจัย เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้จิตขณะต่อไปเกิด เวลาฟังสวดอภิธรรม พอได้ยินคำว่า อนันตรปัจจัย หมายถึงจิตเจตสิกซึ่งเป็นปัจจัยที่ทันทีที่จิตนี้ดับ จิตอื่นจึงเกิดขึ้นได้

    เพราะฉะนั้น แต่ละคนจะมีจิตเกิดขึ้นเพียงทีละ ๑ ขณะ และได้ยินปัจจัยอีกอันหนึ่งด้วย อนันตรปัจจัย วิคตปัจจัย สมันตรปัจจัย และปัจจัยอื่นอีก แต่เราก็ค่อยๆเข้าใจไปทีละเล็กทีละน้อย อย่างน้อยที่สุดเราเข้าใจอนันตรปัจจัย หมายความว่า จิตเป็นสภาพธรรมที่เกิดเมื่อมีปัจจัย แล้วก็ดับ และจิตที่เกิดแล้วดับไป เป็นอนันตรปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดขึ้น

    เพราะฉะนั้น แต่ละคนจะอยู่ในโลกของตัวเอง คือในโลกที่จิตนั้นเกิด แล้วก็ดับไป แล้วก็เกิด แล้วก็ดับ เพราะฉะนั้น ก็มีการเห็น การได้ยิน ซึ่งทำให้คิดนึกต่อไปอีกในสิ่งที่เห็น คิดนึกต่อไปอีกในเรื่องที่ได้ยิน ก็เป็นจิตทั้งนั้น แต่เกิดขึ้นทีละ ๑ ขณะ ถ้าเข้าใจในเรื่องของสิ่งที่มีจริงๆ เราอยู่กับหลายๆคน หรือจริงๆแล้วจิต ๑ ขณะเกิดขึ้นก็รู้สิ่งที่จิตนั้นกำลังรู้ ถ้ากำลังได้ยินเสียง ขณะอื่นไม่มีเลย  และเสียงก็ไม่ใช่คน ไม่ใช่ใคร สภาพที่ได้ยินก็ไม่ใช่คน ไม่ใช่ใคร คือสภาพธรรมที่เกิดได้ยินแล้วก็ดับไป แต่ตามด้วยความคิดนึกถึงเรื่องราวของเสียง ถึงเรื่องราวของสิ่งที่เห็น ก็ทำให้ปรากฏว่า เราอยู่ในโลกของความคิดและความทรงจำ ในสิ่งที่มีเหมือนฟ้าแลบ คือปรากฏนิดเดียวแล้วก็ดับไป เห็นขณะนี้เกิดดับอย่างนั้น เหมือนกับเสียงขณะนี้ก็เกิดดับอย่างนั้น ทุกขณะเกิดดับเร็วมาก

    เพราะฉะนั้น เราก็จะเข้าใจความหมายของคำว่า “อยู่คนเดียวกับความคิดนึก” ไม่เคยขาดความคิดนึกเลย เพราะฉะนั้น จะไปบังคับให้ไม่คิดไม่ได้ เห็นอะไรก็คิดถึงสิ่งที่เห็น โดยไม่รู้ตัว คิดเรียบร้อยไปแล้ว ชอบไม่ชอบในสิ่งที่เห็น และหลังจากเห็นแล้ว ไม่เห็นอีก ไม่ได้ยินอีก ยังคิดนึกถึงสิ่งที่เห็นแล้ว แม้ไม่มีในขณะนี้

    เพราะฉะนั้น เราจะทรงจำเรื่องราวเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นโลกกว้างใหญ่ เป็นดวงดาว เป็นวิชาการต่างๆ ทั้งหมดเป็นเรื่องราวทั้งนั้น เราไม่มีปัญญาระดับที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏได้ด้วยตัวเอง ถ้าไม่เคยได้ยินได้ฟังธรรมที่ทรงแสดง ที่ทำให้เห็นความเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า เหนือบุคคลใดทั้งสิ้น ใครจะแสดงได้อย่างนี้ ถ้าไม่ได้ประจักษ์จริงๆว่า ธรรมเป็นอย่างนี้ และประจักษ์ได้เมื่ออบรมบารมีนานมาก

    เพราะฉะนั้น เราจะรู้แค่ โดยที่ว่าเพียงแค่ฟังนิดๆหน่อยๆ แล้วดับกิเลส เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นก็ต้องฟัง


    หมายเลข 1610
    2 ก.ย. 2558