เห็นแล้วอยาก จะตั้งสติอย่างไรให้เร็วทันใจ


    ถาม   เราตั้งสติลำบาก เวลาโกรธ มันแว้บเข้ามาก็โกรธเลย อยากได้อะไรขึ้นมา ก็โลภอยากได้เลย เห็นเสื้อผ้างามๆ ก็อยากจะซื้อใส่ ไม่รู้จะตั้งสติอย่างไรให้มันเร็วทันใจ

    ส.   ฟังแล้วเหมือนอยากเป็นพระอรหันต์โดยไม่ต้องเข้าใจอะไร เพียงแต่จะตั้งสติเอา พอถึงเวลาก็ตั้งสติเอา ตั้งสติเอา แต่เมื่อเห็นว่า ตั้งไม่ได้ ก็จำเป็นอยู่เองที่ทางใดจะได้ คือต้องเป็นปัญญา ถ้าไม่ใช่ปัญญา เป็นตัวเราที่จะตั้งสติ ก็ไม่สามารถกระทำได้ ปัญญาสามารถกระทำกิจของปัญญา ความเห็นผิดไม่สามารถดับกิเลสได้ ความรู้สึกว่าเป็นตัวเราซึ่งเป็นตัวตน ไม่สามารถดับกิเลสได้

    เพราะฉะนั้น ข้อสำคัญที่สุดคือ มีปัญญาบ้างหรือยัง ปัญญาเพิ่มขึ้นหรือยัง ทำไมเอาไปทิ้ง แล้วเอาตัวตนตั้งสติอยู่เรื่อยๆ

    ผู้ฟัง    คือจะเข้าสติปัฏฐาน ก่อนจะเข้าสติปัฏฐาน เวลาลูกทะเลาะกัน ไม่รู้สติปัฏฐานหายไปไหน

    ส.   เพราะเหตุว่าปัญญาไม่เกิด เมื่อปัญญาไม่เกิด แล้วจะเอาสติที่ไหนมาตั้งได้ ต้องรู้เหตุว่า ที่สติจะเกิดได้ก็เพราะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมมากขึ้นเพิ่มขึ้น แล้วสติจึงจะระลึกตามที่เข้าใจถูกแล้ว แต่เมื่อยังไม่เข้าใจเลย ก็ไม่ทราบว่า สติจะเกิดขึ้นได้อย่างไร จะเอาสติไปตั้งตรงไหน ไม่ถูกทั้งนั้น ถ้าเป็นพระอริยะโดยพยายามตั้งสติ ถ้าต้องเป็นด้วยการอบรมเจริญปัญญา คนที่พยายามตั้งสติ จะไม่รู้เรื่องลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่เป็นอนัตตา นามธรรมและรูปธรรมอยู่ใกล้ตัวที่สุด แต่เป็นสิ่งที่ไม่รู้ที่สุด ใช่ไหมคะ รู้เรื่องอื่นนอกตัวมาก แต่นามธรรมและรูปธรรมที่อยู่ใกล้ตัวที่สุดไม่รู้เลย เพราะฉะนั้น ก็เต็มไปด้วยอวิชชาที่ยึดถือนามธรรมและรูปธรรมว่าเป็นเรา เป็นของเรา ต่อเมื่อใดรู้ได้ว่า โลกทั้งโลกที่ปรากฏทางตา เพราะอาศัยจักขุปสาท จึงมีการเห็นเกิดขึ้น แล้วก็ดับไป ในขณะที่มีการได้ยิน ก็ต้องอาศัยโสตปสาทเป็นปัจจัย ขณะนั้นก็จะแยกออกได้เป็นแต่ละโลก แต่ละลักษณะ

    ผู้ฟัง    คำว่า กัมมัฏฐาน พองหนอ ยุบหนอ เป็นรูปหรือเป็นนาม

    ส.   เข้าใจว่าอย่างไรคะ ข้อสำคัญอย่าลืมว่า ปัญญา รูปมีลักษณะอย่างไร นามมีลักษณะอย่างไร

    ผู้ฟัง    พองหนอ ยุบหนอเป็นรูปใช่ไหม

    ส.   สิ่งใดก็ตามที่ไม่ใช่สภาพรู้ เป็นรูปธรรม

    ผู้ฟัง    ถ้ารู้สึกว่า ท้องพองยุบ หมายความว่าอย่างไร

    ส.   ทั้งหมดนี้จะมีแต่ความไม่เข้าใจลักษณะของนามบ้าง รูปบ้าง ทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ลิ้นบ้าง กายบ้าง ไม่ใช่ไม่เข้าใจแต่เฉพาะพองยุบ ถูกไหมคะ ทางตา อะไรเป็นรูป เป็นนาม ทางหู อะไรเป็นนาม เป็นรูป ทางกาย อะไรเป็นนาม เป็นรูป ถ้าเข้าใจแล้วจะไม่ถามอย่างเจาะจงว่า นี่เป็นรูป หรือเป็นนาม เพราะเหตุว่าเป็นผู้ได้พิจารณาแล้วว่า สภาพนั้นเป็นสภาพรู้หรือไม่ใช่สภาพรู้ สภาพนั้นปรากฏทางไหน ปรากฏทางตา หรือปรากฏทางหู หรือปรากฏทางจมูก หรือปรากฏทางลิ้น หรือปรากฏทางกาย หรือปรากฏทางใจ ต้องเป็นผู้ตรงจริงๆ และต้องเป็นปัญญาของตัวเองที่พิจารณา

    ข้อสำคัญที่สุดอย่านึกอยากตั้งสติที่หนึ่งที่ใด ขณะนั้นก็ควรจะทราบว่า เป็นปัญญาหรือเปล่า หรือเป็นตัวตนที่จะตั้งสติ

    เพราะฉะนั้น ก็ไม่มีการจำกัดว่า เป็นข้อปฏิบัติชนิดใดก็ตาม เป็นสภาพของสติซึ่งเกิดระลึกได้ที่จะรู้ลักษณะของสภาพที่ปรากฏตามปกติทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ หรือมีความรู้สึกเป็นตัวตนที่จะตั้งสติอยู่ที่หนึ่งที่ใด ซึ่งข้อปฏิบัติ ๒ อย่างนี้ต่างกัน โดยข้อปฏิบัติอย่างหนึ่ง รู้ในลักษณะที่เป็นอนัตตาของสติ ข้อปฏิบัติอีกอย่างหนึ่งเป็นตัวเราซึ่งจะตั้งสติที่หนึ่งที่ใด

    เพราะฉะนั้น การยังมีตัวเราจะตั้งสติที่หนึ่งที่ใด จะไม่สามารถรู้ว่า สติเป็นอนัตตา เพราะฉะนั้น ต้องละคลายตั้งแต่ขั้นต้นด้วยการรู้ลักษณะของสติว่า แม้สติก็เป็นอนัตตา จึงค่อยๆอบรมปัญญาที่จะรู้ว่า สภาพธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตาเพิ่มขึ้น จากการรู้ว่า แม้สติก็เป็นอนัตตา

    ผู้ฟัง    รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธัมมารมณ์ ยากที่จะทราบว่า อันนี้เป็นรูปหรือเป็นนาม

    ส.   เสียงไม่รู้อะไรเลย แต่ปรากฏให้รู้ทางหู เพราะฉะนั้น เสียงเป็นรูปธรรม แต่สภาพที่กำลังได้ยินเสียง เสียงจึงปรากฏ ลักษณะนั้นเป็นนามธรรม

    ผู้ฟัง    ที่เขาว่า หนอ หนอ หมายความว่าอะไร

    ส.   หนอ คือคิดคำ คิดถึงคำว่า หนอ

    ผู้ฟัง    ทุกสิ่งทุกอย่างที่มากระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อย่างได้ยินเสียงทางหู ทีนี้ก็กำหนดว่า ได้ยินหนอ ได้ยินหนอ

    ส.   ก็เป็นตัวตนที่จะทำอย่างนั้น จะทำอย่างนี้ ไม่รู้ว่า สติเป็นอนัตตา

    ผู้ฟัง    แล้วคำว่า พองหนอ ยุบหนอ ไม่มีสิ่งใดสิ่งหนึ่งมารบกวน สมาธิเป็นหนึ่ง อย่างนี้จะหมายความว่าอย่างไร

    ส.   ต้องการสมาธิ หรือต้องการรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ตามปกติในขณะนี้คะ

    ผู้ฟัง    ไม่มีอะไรปรากฏครับ

    ส.   เวลานี้เห็นนี่คะ

    ผู้ฟัง    คิดนึกเป็นสมาธิอยู่

    ส.   ก็ไปทำเป็นหนึ่ง ไม่ใช่ปกติที่เห็นขณะนี้ ปกติที่ได้ยินขณะนี้ตามเหตุปัจจัย แล้วถ้าหลับตาจะรู้ไหมว่า กำลังเห็นเป็นสภาพนามธรรมที่กำลังเห็น

    ธงชัย   เวลานี้เวลาก็เหลือน้อยแล้ว อยากจะเรียนถามปัญหาสุดท้ายว่า ไม่เรียนปริยัติ ทำไมเจริญวิปัสสนาไม่ได้ เพราะเหตุใด ถ้าอย่างนั้นคนที่ไม่รู้หนังสือ ไม่มีโอกาสได้ปฏิบัติวิปัสสนาใช่ไหมครับ

    ส.   ปริยัติคืออะไร ปริยัติไม่ใช่กระดาษ สมุด ดินสอ แต่ปริยัติคือพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเรื่องลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริง ที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

    เพราะฉะนั้น การเรียนปริยัติหมายความถึงการฟังให้เข้าใจเรื่องของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ซึ่งถ้าไม่เข้าใจเรื่องของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ จะปฏิบัติอะไร เพราะเหตุว่าการปฏิบัติเพื่ออะไร ถ้าไม่ใช่เพื่อความรู้ ไม่ใช่เพื่อปัญญาที่ประจักษ์แจ้งชัดในลักษณะของสภาพธรรมที่มีปรากฏตั้งแต่เกิดจนตาย จะเกิดจนตายไปโดยไม่รู้เรื่องของสภาพธรรมที่มี คือ เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส สุข ทุกข์ต่างๆ นั่นคือผู้ไม่ศึกษาปริยัติคือเกิดมาแล้วก็ตายไป โดยไม่ได้ฟังเรื่องสภาพธรรมที่ปรากฏที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง

    เพราะฉะนั้น ถ้าใครคิดว่า จะปฏิบัติโดยไม่ศึกษา คือไม่ฟังให้เข้าใจเรื่องของสภาพธรรมซึ่งเป็นปริยัติ คือ การเข้าใจเรื่องของตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ผู้นั้นมีพระธรรมเป็นสรณะหรือมีอะไรเป็นสรณะ เพราะเหตุว่าทุกท่านที่ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ ไม่ได้ถึงแต่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นสรณะ แต่ยังถึงพระธรรมที่ทรงแสดงเพื่อจะได้รู้แจ้งอริยสัจธรรมดับกิเลสได้เป็นสรณะด้วย

    เพราะฉะนั้น ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรมที่ทรงแสดงเรื่องของสภาพธรรม เพื่อให้ปัญญาเกิดขึ้นปฏิบัติกิจของปัญญา สติเกิดขึ้นปฏิบัติกิจของสติ ไม่ใช่ว่าเมื่อไม่ได้ฟังพระธรรมเลย แล้วก็สามารถปฏิบัติธรรมได้ ถ้าอย่างนั้นไม่ต้องมีธรรมเป็นสรณะ ซึ่งก็เท่ากับไม่ต้องมีพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นสรณะนั่นเอง เพราะเหตุว่าหนทางข้อปฏิบัติที่จะให้รู้แจ้งอริยสัจธรรมนั้น คนอื่นไม่สามารถแสดงได้ นอกจากพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

    เพราะฉะนั้น ถ้าไม่ศึกษา ก็ไม่ทราบว่า จะมีประโยชน์อะไรกับการมีพระธรรมเป็นสรณะ แล้วก็บอกว่า ปฏิบัติโดยไม่ต้องศึกษา ศึกษาไม่ใช่ศึกษาอื่นเลย ศึกษาพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคตรัสรู้และทรงแสดง เมื่อเข้าใจแล้ว สภาพธรรม คือสติเกิดขึ้นปฏิบัติกิจของสติ คือ สัมมาสติ ปัญญาเกิดขึ้นปฏิบัติกิจของปัญญา คือ สัมมาทิฏฐิ ความเข้าใจถูก ความเห็นถูก วิริยะเกิดขึ้นปฏิบัติกิจของวิริยะ คือ สัมมาวายามะ ไม่ใช่ตัวตนที่จะไปทำ เพราะเหตุว่ามรรคมีองค์ ๘ ซึ่งเป็นสภาพธรรมซึ่งทำกิจของตนๆ ถ้าสัมมาสติไม่เกิดขึ้น จะไม่มีการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ถ้าไม่น้อมพิจารณาลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ขณะนั้นก็ไม่ใช่สัมมาทิฏฐิ เพราะเหตุว่าปัญญาเท่านั้นที่สามารถกระทำพิจารณาค่อยๆรู้ในลักษณะของสภาพธรรมจนกว่าจะรู้ชัด ไม่ใช่อยู่ดีๆ ปัญญาจะเกิดขึ้นได้เอง โดยไม่มีการฟังพระธรรม เพราะฉะนั้น การปฏิบัติหมายถึงเมื่อฟังแล้ว เข้าใจแล้ว สภาพธรรมคือโสภณเจตสิก ซึ่งเป็นมรรคมีองค์ ๘ ก็จะเกิดขึ้นกระทำกิจของมรรคนั้นๆร่วมกัน ไม่ใช่เราเลย

    ธงชัย   คำว่า “นึก” กับ “รู้สึก” นั้นต่างกัน ตัวอย่างเช่น เกลือนึกรู้ว่าเค็ม อย่างนี้เป็นนึก เป็นอดีต เอาเกลือมาสัมผัสกับลิ้นจึงรู้สึกว่า เค็ม อย่างนี้เรียกว่ารู้สึก เป็นปัจจุบันธรรม นึกใช้กับการเจริญสมถะ รู้สึกใช้กับการเจริญวิปัสสนา ถูกต้องหรือไม่ครับ

    ส.   บางทีสิ่งที่มีอยู่เป็นปกติในชีวิตประจำวัน ของธรรมดาๆ ก็อาจจะเกิดงงก็ได้ อย่างคำว่า “นึก” คืออะไร  นามธรรมหรือรูปธรรมคะ นามธรรม เพราะฉะนั้น นึกไม่ใช่เห็น ถูกไหมคะ นึกไม่ใช่ได้ยิน เพราะได้ยินกำลังรู้เสียง ไม่ใช่การรู้กลิ่น นึกไม่ใช่ขณะที่ลิ้มรส นึกไม่ใช่ขณะกำลังรู้เฉพาะแข็ง ยังไม่ได้นึกอะไรเลย

    เพราะฉะนั้น นึกก็คือการคิดคำต่างๆ เรื่องต่างๆ เท่านั้นเอง ไม่ว่าจะเป็นขณะไหน แต่ว่าสำหรับสมถภาวนา เป็นการให้จิตสงบ โดยที่ว่าขณะนั้นไม่ใช่การระลึกรู้ลักษณะที่เป็นนามธรรมหรือรูปธรรม ที่จะละการยึดถือว่าเป็นตัวตน

    ธงชัย   มีผู้ใดสงสัยไหมครับ อันที่จริง นึกก็เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง รู้สึกว่าจะเกิดคั่นอยู่ตลอดเวลาเลยใช่ไหมครับ สภาพนึกคิดก็เป็นนามธรรม ขณะใดที่สภาพนึกคิดเกิดขึ้น แสดงว่าขณะนั้นเราไม่ได้พิจารณาอยู่ที่รูปแข็ง อ่อน เย็น ร้อนใช่ไหมครับ เพราะว่านึกคิดเข้ามาคั่น นึกคิดก็เป็นอารมณ์ของวิปัสสนาได้ใช่ไหมครับ

    ส.   สภาพธรรมทุกอย่างที่มีจริงไม่ใช่ตัวตน ปัญญาที่รู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้นถูกต้อง ขณะนั้นจึงจะเป็นวิปัสสนา คิด ไม่ใช่ไม่มี แต่ว่าเป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง เป็นจิตประเภทหนึ่งซึ่งไม่ใช่จิตเห็น ไม่ใช่จิตได้ยิน

    เพราะฉะนั้น สติปัฏฐานก็จะต้องรู้ว่า ขณะใดที่คิด ขณะนั้นเป็นสภาพรู้ชนิดหนึ่ง แต่เป็นการรู้คำ รู้เรื่อง ไม่ใช่รู้กลิ่น รู้รส เป็นต้น


    หมายเลข 1923
    2 ก.ย. 2558