ทาน ศีล ที่ประกอบด้วยปัญญาเป็นอย่างไร


    ศุกล   การให้ทานที่ประกอบด้วยปัญญาจะมีลักษณะอย่างไร และการรักษาศีลที่ประกอบด้วยปัญญา จะมีลักษณะอย่างไร

    ส.   ที่จริงผู้ที่กำลังให้ทาน หรือกำลังวิรัติทุจริตหรือมีศีลในขณะนั้น จะเป็นผู้รู้ว่า มีปัญญาหรือไม่มีปัญญา แต่ถ้ายังไม่มีปัญญา เราก็ไม่สามารถรู้ได้ว่า ขณะไหนจะเป็นปัญญา เพราะเหตุว่าปัญญายังไม่ได้เกิดขึ้น ก่อนที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าจะทรงตรัสรู้และทรงแสดงธรรม ก็มีการให้ทานแน่นอน แล้วมีการรักษาศีลด้วย แต่ก็เหมือนเดิม คือเป็นเราที่ให้ตลอด ไม่ว่าจะเป็นขณะให้ทานหรือวิรัติทุจริต แต่หลังจากการตรัสรู้แล้ว ก็มีผู้ฟังได้พระธรรมและมีปัญญา ความเห็นถูกเกิดขึ้น

    เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้ว่า ถ้าเราเพียงแต่ให้ทาน รักษาศีล เหมือนเดิม โดยไม่ได้ฟังพระธรรมเลย เราจะเอาปัญญามาแต่ไหนที่จะเกิดขึ้นในขณะที่ให้ทาน หรือรักษาศีล

    เพราะฉะนั้น อาศัยการฟังพระธรรมและเข้าใจเพิ่มขึ้น ก็จะเป็นปัจจัยให้ขณะที่ให้ก็จะมีความเห็นถูกเกิดขึ้น เราจะใช้คำว่า “ปัญญา” ตามภาษาเดิมหรือเราจะเข้าใจว่า ปัญญาก็คือความเข้าใจถูก เห็นถูกก็ได้

    เพราะฉะนั้น ความเข้าใจถูก ความเห็นถูกมีหลายระดับ ตั้งแต่ระดับที่รู้ว่า ทานมีประโยชน์ ถ้าไม่มีประโยชน์ คนรับจะได้อะไรจากทาน แต่การให้สิ่งที่เป็นประโยชน์แก่คนอื่นย่อมเป็นประโยชน์ทั้งผู้ให้และผู้รับ ขณะนั้นเวลาที่เราให้จริงๆ เข้าใจอย่างนี้หรือเปล่า อย่างบางคนผ่านคนขอทาน เกิดกุศลจิตคิดจะให้ เราคิดไหมว่า การที่คนใดเกิดมาจะมีภาวะอย่างใด เป็นไปตามกรรมโดยเลือกไม่ได้เลย และเวลาเห็นใครเป็นอย่างไร ไม่ว่าจะสูงต่ำอย่างไร ก็เป็นสิ่งที่แต่ละคนเคยเป็นมาแล้วทั้งนั้น เลือกไม่ได้เหมือนกัน ขณะนี้เราเป็นอย่างนี้ ยังไม่ถึงภาวะอย่างนั้น จะมีใครรับรองได้ไหมว่า เราจะไม่ถึงภาวะอย่างนั้นในวันหนึ่ง แม้แต่จะหมดสิ้นทรัพย์สมบัติเลย ก็อาจจะเป็นไปได้ หรือจะเกิดโรคภัยต่างๆก็เป็นไปได้ ถ้าเข้าใจถูกต้องว่า จริงๆแล้วไม่มีใครสามารถเลือกได้ ทุกอย่างที่เกิดเป็นไปตามเหตุที่ได้กระทำไว้แล้ว ถ้าเราเข้าใจอย่างนี้ การที่เราช่วยเหลือไม่ว่าใคร จะเป็นคนยากไร้ อนาถา พิการ หรืออาจจะเป็นคนที่อยู่ในภาวะคับขันอย่างไรก็ได้ เราก็จะเห็นใจ เข้าใจ และมีน้ำใจจริงๆในขณะนั้นที่ต้องการให้พ้นภาวะที่เป็นทุกข์  อย่างนี้ก็คือลักษณะของปัญญาด้วย ที่มีความเห็นถูก

    เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เราไปเลือกว่า ต่อไปนี้กุศลของเราจะได้ประกอบด้วยปัญญา ไม่ใช่อย่างนั้นเลย แต่ปัญญาก็คือความเข้าใจถูก เห็นถูกที่มีขึ้นหลังจากได้ฟังพระธรรมและพิจารณาเข้าใจ แต่ส่วนวันหนึ่งๆ แม้ไม่ให้ทาน ไม่ได้วิรัติทุจริต กุศลก็เกิดได้ เช่นในขณะนี้ที่กำลังฟังพระธรรม จุดประสงค์ของการฟังก็คือเพื่อให้เห็นถูก เข้าใจถูกในสิ่งที่มี ที่กำลังปรากฏในขณะนี้

    เพราะฉะนั้น ขณะนี้ก็ไม่ต้องไปเกี่ยงว่า แล้วเวลาให้ทาน ปัญญาจะเกิดได้อย่างไร ไม่ว่าขณะไหนทั้งสิ้นที่มีความเห็นถูกต้องในลักษณะของสภาพธรรม จะให้ทานหรือไม่ให้ทาน จะรับประทานอาหาร หรือกำลังทำธุรกิจต่างๆ ก็คือสามารถมีความเห็นถูกในขณะนั้นๆได้ แต่เรื่องความเห็นถูกเป็นเรื่องละเอียดขึ้นๆ จนกระทั่งเราสามารถเข้าใจพระปัญญาคุณขึ้นได้ว่า ที่พระองค์ทรงตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ด้วยปัญญาที่เห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏถ่องแท้โดยลิ้นเชิง โดยประการทั้งปวง ซึ่งวันหนึ่งๆ สภาพธรรมเหล่านี้ก็มีกับเราตั้งแต่เช้ามา แต่ความเห็นถูกมีไหม แล้วความเห็นถูกระดับไหน ระดับที่ไม่เคยฟังแล้วเริ่มฟัง หรือคิดมาเองโดยตลอดว่า ธรรมจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ก็ต้องไม่ตรงกับความเป็นจริง เพราะเหตุว่าถ้าทุกคนคิดได้ ไม่ต้องมีพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

    เพราะฉะนั้น ไม่ควรจะไปคิดตอนให้ทานและศีล แต่ไม่ว่าจะเป็นขณะไหนก็ตาม ปัญญาหรือความเห็นถูก เห็นอะไรถูกต้อง อันนี้จะเป็นปัจจัยให้มีความเห็นถูกเกิดขึ้นเมื่อไรก็ได้ โดยไม่เลือก

    ศุกล   ที่ท่านอาจารย์กล่าวนี้ รวมทั้งการรักษาศีลด้วย ถูกต้องไหมครับ

    ส.   แม้ในขณะนี้ ไม่ต้องเลือก ถ้ามีความเข้าใจแล้วความเห็นถูกจะเกิดระดับไหน เมื่อไรก็ได้

    ศุกล   พอจะกล่าวได้ไหมว่า ถ้ามีความเข้าใจถูกเห็นถูกในสภาพธรรมมากขึ้นๆ การให้ทานหรือรักษาศีลก็มีปัญญา

    ส.   แล้วแต่มีปัญญาเกิดเมื่อไร

    ศุกล   แล้วแต่ปัญญาเกิดเมื่อไร

    ส.   แน่นอนค่ะ ไม่ใช่ว่าพอฟังอย่างนี้แล้วต่อไปนี้พอให้ปุ๊บก็มีปัญญาเกิดอยู่เรื่อยๆ ไม่ใช่อย่างนั้น จะมีหรือไม่มีขณะไหนก็แล้วแต่ สิ่งที่สำคัญในพระพุทธศาสนาที่ต่างกันมากกับก่อนที่ฟังและไม่เข้าใจก็คือว่า ทุกคนก่อนฟัง ก่อนเข้าใจ มีความเป็นเรา ทุกอย่างเพื่อตัวตน แต่ถ้าเข้าใจจริงๆว่า ไม่มีตัวตนเลย มีแต่สภาพธรรม จะช่วยให้เราละการยึดติดในตัวตน

    เพราะฉะนั้น การที่เคยทำทุกอย่างเพื่อตัวตน แม้แต่กุศล ก็หวังว่าจะเกิดผลกับตัวตน อันนั้นก็คือยังไม่ได้เข้าใจในการไม่ใช่ตัวตนหรือไม่มีตัวตน

    เพราะฉะนั้น พระพุทธศาสนานอกจากจะสอนให้รู้ความจริงว่า เป็นธรรม ไม่ใช่เรา ก็จะเป็นการละคลายความติดข้องด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่ละยากที่สุด เราเกิดมาไม่รู้ว่ากี่ชาติ ติดตลอดทั้งรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ สิ่งที่กระทบกาย ไม่ว่าจะเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส เป็นเรา เพื่อเรา แล้วจะให้ละความเป็นเรา และไม่ใช่เพื่อเรา ก็จะต้องอาศัยปัญญาที่รู้จริงๆ แล้วต้องอบรมจริงๆด้วย ไม่ใช่ฟังเท่านี้แล้วเราสามารถไม่มีเราได้

    ถาม   ต่อจากที่ท่านอาจารย์พูดเมื่อกี้นี้เรื่องทาน เรื่องศีล ถ้าอยากไม่ให้เป็นตัวเราในการให้ทาน ผิดหรือถูกคะ

    ส.   จะไม่ให้เป็นตัวเราได้อย่างไร เพราะฉะนั้น เวลานี้กำลังฟังธรรมให้เข้าใจ แต่ไม่ใช่เพื่อเวลาให้ทานจะไม่เป็นตัวเรา อย่างนั้นไม่ใช่ค่ะ ให้เข้าใจขึ้นๆ

    ผู้ฟัง   เข้าใจว่าอย่างไรคะ เช่นสมมติว่า ให้ทาน

    ส.   เข้าใจธรรม ธรรมคืออะไร

    ผู้ฟัง   คือสิ่งที่มีจริง

    ส.   ค่ะ ขณะนี้ยังไม่ได้ให้ทาน จริงไหมคะ

    ผู้ฟัง   จริง

    ส.   อะไรขณะนี้จริง

    ผู้ฟัง   ที่กำลังพูดถึง

    ส.   นั่นซิคะ อะไรจริง นี่ค่ะ เราจะต้องเข้าใจพื้นฐานที่มั่นคงจริงๆ มิฉะนั้นก็จะเป็นเราฟังไปเข้าใจไป เป็นตัวเราไปตลอด ก็ยังไม่เข้าใจความหมายของธรรม

    ผู้ฟัง   แล้วอย่างนั้นจะทำอย่างไร

    ส.   ต้องคิดพิจารณาจนกระทั่งเป็นความเห็นถูกของเราเอง นี่คือประโยชน์จากพระธรรมที่ทรงแสดง และไม่ใช่เพียงเพื่อพระองค์เดียว แต่เพื่อสัตว์โลกจะมีโอกาสได้ยินได้ฟังสิ่งที่ทรงตรัสรู้และทรงแสดง จนกระทั่งเกิดปัญญาของแต่ละบุคคลเอง อันนี้เป็นประโยชน์ที่สำคัญที่สุด คือ ฟังแล้วขอให้คิดว่า ก่อนฟังเราเคยไม่เข้าใจอะไร และเมื่อฟังแล้วเข้าใจอะไร ถ้าก่อนฟังไม่เคยเข้าใจอะไร หลังฟังก็ไม่เข้าใจอะไร การฟังจะมีประโยชน์อะไร ก็ไม่มีประโยชน์เลย แม้จะเข้าใจเพียงเล็กน้อยที่เกิดจากการฟังครั้งแรกๆ แต่ก็เป็นประโยชน์แล้ว เพราะเหตุว่าเข้าใจจากการฟัง ต้องเป็นของเราเองด้วย ใครจะพูดอย่างไรก็ตามแต่ ฟังแล้วพิจารณาจนกระทั่งเห็นว่า สิ่งนั้นถูกต้อง

    เพราะฉะนั้น ก็คงจะต้องเริ่มต้นตั้งแต่คำว่า “ธรรม”

    ผู้ฟัง   ถ้าจะลองว่า ตอนนี้อะไรเป็นจริงบ้าง รู้สึกมีลมพัด พัดลม ได้ยินเสียง

    ส.   ขอโทษค่ะ ยังไม่ต้องไกลนะคะ ลมพัด พัดลม แค่นี้ ๒ อย่าง ก่อนฟังธรรม เราก็รู้ว่าลมพัด ก่อนฟังธรรม เราก็รู้ว่าพัดลม อะไรเป็นธรรม

    ผู้ฟัง   ความรู้สึกที่เรารู้ว่า ลมพัดมาถูกเรา

    ส.   ก็ยังเป็นเรา เป็นธรรมหรือเปล่าคะ

    ผู้ฟัง   ถ้าไม่เป็นธรรม จะพูดว่าอย่างไรคะ

    ส.   เอาธรรมค่ะ ธรรมคือสิ่งที่มีจริงๆ

    ผู้ฟัง   รู้ว่ามีลมมากระทบ

    ส.   เพราะฉะนั้น มีสภาพที่กำลังรู้ ใช่ไหมคะ ไม่ใช่เรา ลักษณะนั้นเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งมีจริงๆ เป็นสภาพที่รู้ ถ้าไม่มีสภาพรู้ หรือสภาพที่สามารถจะรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดได้ อะไรๆก็ไม่ปรากฏ

    ผู้ฟัง   ไม่เข้าใจตรงคำพูดสุดท้ายค่ะ อะไรๆก็ไม่ปรากฏ

    ประเชิญ   ความหมายของคำว่า “ธรรม” ที่ท่านอาจารย์ได้กล่าว หมายถึงว่า สิ่งที่มีจริง มีจริงๆก็มี ๒ อย่าง คือ สภาพที่รู้อย่างหนึ่ง กับสภาพที่ไม่รู้อย่างหนึ่ง อันนี้คือภาษาปรมัตถธรรมที่พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ คำบัญญัติที่เราทราบทั่วไปที่ว่า ลมพัด พัดลม หรือเราเย็นทั้งหลาย อันนี้เป็นภาษาของคนทั่วไป แต่ถ้าเป็นภาษาธรรมที่พระองค์ทรงแสดงไว้ก็คือ มีจริงโดยเป็นสภาพรู้อย่างหนึ่ง ถึงแม้จะเกิดที่ไหนก็ตาม เป็นสัตว์บุคคลใดก็ตาม มนุษย์หรือสัตว์เดรัจฉาน หรือเทวดาทั้งหลาย นั่นคือสภาพรู้ จะกี่ภพกี่ชาติ นานแค่ไหนก็ตาม มีจริงโดยเป็นสภาพรู้ เสมอกันทั้งหมด นี่คือนามธรรม และรูปธรรมคือสภาพที่ไม่รู้ แต่ที่จะปรากฏได้ต้องมีสภาพรู้

    ส.   ขณะนี้เห็นมีจริงๆหรือเปล่า

    ผู้ฟัง   มีจริงค่ะ

    ส.   ก่อนฟังธรรมเป็นเราเห็น แน่นอน แต่พอฟังธรรมแล้ว เห็นมีจริง เพราะฉะนั้น เห็นเป็นธรรม เพราะว่าสิ่งที่มีจริงทั้งหมด ไม่ต้องเรียกชื่อเลย แล้วก็ไม่ใช่ของใครด้วย สัตว์เห็นไหม

    ผู้ฟัง   เห็นค่ะ

    ส.   นกก็เห็น ช้างก็เห็น เอารูปร่างออกหมด ไม่มีรูปร่างคน ไม่มีรูปร่างนก ไม่มีรูปร่างปลา เห็นเป็นเห็น เพราะฉะนั้น เห็นเป็นธรรม เป็นสิ่งที่มีจริง เรายังไม่แยก เพียงแต่บอกว่า ธรรมคือสิ่งที่มีจริง เพราะเหตุว่าเห็นขณะนี้จริง ศึกษาธรรมก็คือศึกษาเข้าใจสิ่งที่กำลังมีให้เข้าใจถูกต้อง โดยเราไม่ต้องไปทำอะไร ไม่ต้องไปแสวงหาอะไรเลย มีสิ่งที่มีอยู่ในชีวิตประจำวัน แต่ไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่า เป็นธรรม บางคนพยายามไปแสวงหาธรรมไกล ตื่นขึ้นมาก็ออกจากบ้านไปหาธรรม บางคนก็ไปถึงเหนือใต้ แต่ไม่รู้ว่า แท้ที่จริงแล้วทุกอย่างที่มีจริงเป็นธรรม ไม่ใช่ของเราเลย เพราะอะไรคะ เห็นเมื่อวานนี้ยังอยู่ไหม เมื่อเข้านี้ยังอยู่ไหม ได้ยินเมื่อกี้นี้กับเดี๋ยวนี้ก็คนละขณะแล้ว

    เพราะฉะนั้น สิ่งที่มี มีเมื่อเกิดขึ้น ปรากฏแล้วก็หมดไป จะเป็นของใคร เมื่อวานนี้ชอบอะไรบ้าง วันนี้เปลี่ยนแล้วใช่ไหมคะ ความชอบ ชอบอีกอย่างหนึ่ง แค่เดินมาที่ประตู เห็นดอกไม้ชนิดหนึ่งก็ชอบ พอเข้ามาในห้อง ก็เห็นดอกไม้อีกอย่างหนึ่งก็ชอบอีก ชอบดอกไม้ข้างนอกประตูคนละขณะกับชอบดอกไม้ที่กำลังอยู่ในห้องนี้ ต้องไม่มีการชอบดอกไม้ข้างนอก ต้องหมดไปก่อน เปลี่ยนแล้วใช่ไหมคะ ดอกไม้ข้างนอกไม่มีปรากฏให้ชอบ แต่มีของใหม่ปรากฏให้ชอบ

    เพราะฉะนั้น ความชอบดอกไม้ข้างนอกกับความชอบดอกไม้ข้างในก็คนละขณะ ขณะนี้ไม่ได้ชอบดอกไม้ข้างนอก สิ่งที่เคยชอบเมื่อกี้นี้หมดไปแล้ว แต่ขณะนี้มีชอบสิ่งที่กำลังปรากฏ สิ่งที่เกิดแล้วหมดไป เป็นของใคร มีใครเป็นเจ้าของ หมดแล้ว ไม่กลับมาอีกเลยในสังสารวัฏ สิ่งที่จะต้องเข้าใจถูกต้องก็คือ สภาพธรรมมีจริง อาศัยปัจจัยเกิดขึ้น แล้วก็ดับไป เร็วมาก ถ้าไม่มีพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า จะไม่มีการรู้เลยในลักษณะที่ไม่เที่ยง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ที่เราได้ยินได้ฟังบ่อยๆ แต่เราไม่ได้ศึกษาธรรม ก็คิดเรื่องอื่นว่า เกิดมาก็แก่เจ็บตาย นี่คืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แต่ในพระพุทธศาสนาคำสอนของผู้ที่ทรงตรัสรู้รู้ว่า สภาพธรรมที่กำลังปรากฏเดี๋ยวนี้ปรากฏได้เพราะเกิดขึ้น ถ้าไม่เกิดขึ้นจะปรากฏได้ไหม ไม่มีทางเลย สิ่งใดๆที่ไม่เกิดจะปรากฏได้อย่างไร แต่สิ่งกำลังปรากฏในขณะนี้ เราไม่รู้เลยว่าเกิด โดยปัจจัยต่างๆที่ทำให้เกิดแล้วดับไปเร็วมาก

    นี่คือการฟังพระธรรม ถ้าเราไม่เคยฟังพระธรรมเลย เราก็เพียงแต่คิดอริยสัจ ๔ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค แต่อะไรก็ไม่รู้  แต่ที่ศึกษาแล้วเราจะต้องเข้าใจถูกตั้งแต่ในขั้นพื้นฐานว่า ธรรมคืออะไร เพราะเหตุว่าถ้าจะฟังธรรม ก็ต้องรู้ว่า ธรรมคืออะไร ไม่อย่างนั้นเราฟังอะไรคะ เราก็ไม่ได้ฟังสิ่งที่มีจริงๆที่กำลังปรากฏ แต่ถ้าเรากำลังสิ่งที่มีจริงๆในขณะนี้ แล้วรู้ว่า นี่คือธรรม มาจากภาษาบาลี ใช้คำว่า ธา – ตุ หรือธาตุ ธรรมหรือธาตุก็ความหมายเดียวกัน เวลาที่เราพูดถึงคำว่า ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ธาตุอะไรต่างๆ เป็นของใครหรือเปล่าคะ ไม่เป็นของใครเลย ในพระพุทธศาสนาทรงแสดงว่า ทุกอย่างเป็นธรรม คือเป็นธาตุแต่ละชนิด ซึ่งไม่มีใครเป็นเจ้าของเลย อาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ถ้าฟังเพียงเท่านี้ วันนี้ เข้าใจถูกอย่างนี้ คือ ปัญญาที่เกิดจากการฟัง แล้วเรารู้ด้วยว่า นี่คือธรรม ถ้าเราฟังเรื่องอื่นที่ไม่ทำให้เข้าใจสิ่งที่มีจริงๆ ในชีวิตประจำวันตั้งแต่เกิดจนตาย เราฟังอะไรคะ เราไม่รู้เรื่องของธรรมที่มีจริงๆเลย แต่เวลาฟังธรรมแล้วเข้าใจสิ่งที่มีจริงๆ เรารู้เลยว่า เมื่อไรเราฟังธรรม เมื่อไรเราเข้าใจธรรม เมื่อไรเราไม่ได้ฟังธรรม ฟังอะไรก็ไม่รู้ ซึ่งไม่ทำให้เข้าใจสิ่งที่มีจริงๆในขณะนี้ เราก็สามารถจะเข้าใจได้ เป็นสาวก เป็นพุทธบริษัท คือผู้ฟังพระธรรม แล้วจะเข้าใจสิ่งที่มีจริง

    ยังมีใครสงสัยคำว่า “ธรรม” ลักษณะของธรรมไหมคะ ถ้าไม่มี ตอบได้แน่ เมื่อกี้นี้มีพัดลม เย็น อะไรเป็นธรรม

    ผู้ฟัง   เย็นค่ะ

    ส.   ค่ะ เย็นเป็นธรรม ขณะนี้กำลังเห็น อะไรเป็นธรรม

    ผู้ฟัง   สิ่งที่ปรากฏ

    ส.   และอะไรอีก

    ผู้ฟัง   รู้ว่าเห็น

    ส.   รู้ว่ามีเห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ปรากฏทางตาได้ไหม ถ้าไม่มีเห็น จะมีอะไรปรากฏทางตาก็ไม่ได้ นี่คือธรรมแล้ว ขณะที่คิดมีจริงๆไหมคะ

    ผู้ฟัง   ขณะที่คิด คิดมีจริง แต่เรื่องที่คิดอาจจะไม่จริง

    ส.   คิดมีจริง คิดเป็นธรรมหรือเปล่าคะ

    ผู้ฟัง   คิดเป็นธรรม

    ส.   สภาพที่คิดเป็นธรรม นี่เราเริ่มเข้าใจว่า ทั้งหมดตั้งแต่เกิดมา มีขณะไหนบ้าง เป็นธรรม เพราะว่าธรรมจริงๆมีลักษณะที่แยกกัน ต่างกันใหญ่ๆ เป็น ๒ ประเภท คือ สภาพธรรมประเภทหนึ่งไม่สามารถรู้อะไรได้เลย กับสภาพธรรมอีกอย่างหนึ่งเป็นธาตุชนิดหนึ่ง เป็นธาตุรู้สิ่งที่กำลังปรากฏให้รู้ อย่างเสียง ขณะใดที่เสียงปรากฏ หมายความว่าต้องมีสภาพได้ยิน เสียงนั้นจึงปรากฏได้ ถ้าไม่มีสภาพที่สามารถได้ยินเสียง เสียงจะปรากฏไม่ได้เลย

    เพราะฉะนั้น สภาพธรรมแบ่งโดยประเภทใหญ่ๆ ก็เป็นสภาพที่ไม่รู้อะไรเลย ซึ่งทางธรรมใช้คำว่า “รูปธรรม” รูปะกับธรรม ส่วนสภาพรู้ก็ใช้คำว่า “นามธรรม” หมายความถึงสภาพที่เกิดขึ้นเป็นปกติ ก็เป็นสภาพรู้

    เพราะฉะนั้น ที่เราเคยยึดถือว่า เป็นเรา หรือเป็นใครก็ตาม หรือเป็นโลก เป็นอะไรนอกโลกไปอีก ก็จะไม่พ้นจากนามธรรมและรูปธรรม ถ้าไม่ใช่สภาพรู้ก็เป็นรูปธรรม ถ้าเป็นสภาพรู้ก็เป็นนามธรรม แข็งมีจริงๆไหมคะ เป็นธรรมหรือเปล่าคะ

    ผู้ฟัง   เป็นค่ะ

    ส.   เป็นธรรมประเภทไหน ลักษณะไหน

    ผู้ฟัง   รูปธรรม

    ส.   แล้วสภาพที่รู้แข็งมีไหมคะ

    ผู้ฟัง   มีค่ะ

    ส.   เป็นเราหรือเปล่า

    ผู้ฟัง   ไม่ใช่เรา

    ส.   เป็นอะไร

    ผู้ฟัง   เป็นนามธรรม

    ส.   เท่านั้นเอง อย่างย่อที่สุดก็คือ กี่ภพกี่ชาติก็คือนามธรรมและรูปธรรม แต่เพราะความไม่รู้ก็ยึดถือนามธรรมและรูปธรรมว่าเป็นเรา และเป็นของเราด้วย เป็นทั้งตัวเราและเป็นของเรา แต่ความจริงก็ไม่มีเรา เพราะฉะนั้น ก็จะไม่มีของเราไม่ได้เลย นอกจากความคิดนึกเท่านั้นเองที่ยังคิดว่า เป็นเราและเป็นของเรา

    ธรรมยากไหมคะ ธรรมดา ธรรมดาจริงๆ ธรรมคือธรรมดา แต่กว่าจะรู้แล้วละความเป็นเราหมดสิ้น ไม่เหลือเลย

    ผู้ฟัง   ที่บอกว่า ยากเพราะอะไรคะ

    กุลวิไล เพราะสภาพธรรมปรากฏ แต่เราไม่ทราบ แต่หลังจากฟังแล้วก็เข้าใจทีละนิดๆ

    ส.   เมื่อกี้นี้เราพูดถึงธรรม กาย คืออะไร อยู่ที่ไหน ข้อสำคัญที่สุด เราอย่าเพิ่งใจร้อน  ไปพูดเรื่องที่เรายังไม่รู้เลยว่า คืออะไร อยู่ที่ไหน พูดไปพูดมาก็ยังไม่รู้ว่าคืออะไร แล้วอยู่ที่ไหน อย่างนั้นไม่ใช่ทางที่ทำให้เข้าใจจริงๆ เพราะว่าพระธรรมเป็นสิ่งที่ชัดเจน ละเอียด ลึกซึ้ง และสามารถเข้าใจได้ด้วย แต่ต้องเป็นไปตามลำดับ โดยที่เราไม่ประมาทเลย ใครจะพูดชื่ออย่างไรก็ตาม อย่าเพิ่งคล้อยไป คืออะไร เราเข้าใจสิ่งนั้นจริงๆเสียก่อน แล้วค่อยต่อไปทีละเล็กทีละน้อย เช่นถามว่า กาย กายในกายคืออะไร ไม่เข้าใจ ไม่เข้าใจธรรม กายคืออะไร รู้ไหมคะ อยู่ที่ไหน เห็นไหมคะ ก็หมายความว่า พูดคำ พูดชื่อ แล้วพูดเรื่องราวของชื่อนั้น แต่ไม่ควรจะเป็นอย่างนั้น ควรจะเป็นว่า ขณะนี้เป็นธรรมทั้งหมด พอเอ่ยคำว่า “กาย” เคยเข้าใจว่าคืออะไร อยู่ที่ไหนเสียก่อน แล้วถึงเข้าใจต่อไปได้ ไม่ข้ามขั้นไปเลย เรามีสิทธิ์จะซักถามให้หายสงสัยในสิ่งที่เราได้ยินได้ฟัง ถ้าได้ยินได้ฟังแล้วคิดว่า รู้แล้ว ถูกหรือผิด ใช่ไหมคะ แต่ถ้าได้ยินได้ฟัง ต้องรู้ว่าคืออะไรก่อน ช่วยอธิบายให้ชัดเจนให้หายสงสัย ไม่ว่าจะได้ยินได้ฟังคำอะไรทั้งสิ้น เราต้องเข้าใจตรงนั้นให้ถูกต้องเสียก่อน แล้วความเข้าใจของเราจึงจะเจริญขึ้นมากขึ้นได้ แต่ถ้าเราไม่เข้าใจตั้งแต่ต้น บอกอะไรก็ตามไป อย่างบอกว่ากายคืออะไร แล้วอธิบายไปมากมาย แล้วอยู่ตรงไหนก็ไม่รู้ คืออะไรก็ไม่รู้ ก็ไม่มีประโยชน์อะไร ทั้งวัน ทั้งเดือน ทั้งปี ถึงจะฟังไปอย่างนี้ แต่ถ้าเราเริ่มต้นจากความเข้าใจของเราเอง ถ้าไม่รู้ก็คือไม่รู้

    ธรรมคืออะไร ตอนนี้รู้แล้วใช่ไหม แล้วกายคืออะไร

    ผู้ฟัง   กายเป็นธรรมอย่างหนึ่งใช่ไหมคะ

    ส.   ถูกต้อง ถ้ามีจริงๆ ก็ต้องเป็นธรรมอย่างหนึ่ง เป็นรูปหรือเป็นนาม

    ผู้ฟัง   เป็นรูป

    ส.   อยู่ที่ไหน

    ผู้ฟัง   อยู่ที่ทุกคน

    ส.   อยู่ที่ตัว ที่เคยยึดถือว่าเป็นเราทั้งหมด แล้วความจริงเป็นอะไร

    ผู้ฟัง   ความจริงเป็นรูปธรรม

    ส.   เป็นสภาพธรรม เกิดหรือเปล่าคะ

    ผู้ฟัง   เกิด

    ส.   แล้วดับไหม

    ผู้ฟัง   ดับค่ะ

    ส.   เพราะฉะนั้น กายของเราหรือเปล่า

    ผู้ฟัง   ไม่ใช่ค่ะ

    ส.   เพราะฉะนั้น ถ้ามีความรู้ถูกต้อง กายก็คือกาย เป็นธรรมชนิดหนึ่ง เกิดแล้วก็ดับไป ถ้าเรามั่นคงอย่างนี้ เราไม่เขว จะฟังอะไรก็ตาม เรามิสิทธิ์ที่จะซักถามได้ จนกระทั่งเป็นความเข้าใจของเราเองจริงๆ

    ศีลกัล  ทีนี้คำว่า “กายในกาย” หมายถึงสติปัฏฐาน ท่านอาจารย์ยังไม่ได้อธิบายเลย

    ส.   ฟังตอนนี้เดี๋ยวนี้ เพื่อให้เข้าใจสติปัฏฐาน หรือว่าฟังให้เข้าใจก่อน แล้วสติปัฏฐานทีหลัง

    ศีลกัล  ฟังให้เข้าใจก่อน ทีนี้กายในกายมีลักษณะอย่างไร

    ส.   เห็นแปลว่า ความเห็นถูก ถ้าจะเห็นกาย จะเห็นที่ไหน ก็ต้องเห็นที่กาย ก็คือเห็นกาย นี่คือความหมายของเห็นกายในกาย หรือเข้าใจถูกต้องว่ากายเป็นกาย

    ศีลกัล  หมายถึงสภาพธรรมที่ปรากฏที่กาย เราเรียกว่า กายในกายใช่ไหมครับ

    ส.   เป็นกาย เห็นกาย ก็คือมีความรู้ถูกต้องในกายว่า เป็นกาย แล้วเห็นที่ไหน ก็เห็นกายที่กาย เห็นกายในกายถูกต้องว่าเป็นกาย

    ศีลกัล  เวทนา ก็ลักษณะเดียวกัน เห็นเวทนา

    ส.   เห็น เป็นความเห็นถูก จะเป็นอื่นไม่ได้เลย ความเข้าใจถูก ความเห็นถูก เป็นปัญญา เพราะฉะนั้น ถ้าพูดถึงสติปัฏฐาน พูดถึงกายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรม อย่างที่เคยได้ยิน เป็นปัญญาทั้งหมด ไม่ใช่เห็นเฉยๆ ไม่ใช่รู้เฉยๆ แต่ต้องเป็นความเห็นถูกต้องตามความเป็นจริง

    ศีลกัล  ที่ว่าเห็นถูกต้อง หมายถึงสติปัฏฐานเกิดระลึกรู้สภาพธรรมที่ปรากฏทางใดทางหนึ่งที่กาย หรือที่เวทนา หรือที่จิต หรือที่ธรรม อันนี้หมายถึงการเห็นถูก

    ส.   ถ้าไม่เห็นตรงนั้นก็คิด ใช่ไหมคะ แต่ไม่ใช่กำลังมีกายปรากฏให้รู้ถูก ให้เข้าใจถูกจริงๆ

    กุลวิไล   ผู้มาใหม่คงไม่เข้าใจว่า เห็นหมายถึงเห็นด้วยตา เพราะคำว่า เห็นกายในกาย เห็นในทีนี้คือปัญญา อย่างที่ท่านอาจารย์กล่าวมา ถ้าเราคิดว่าเห็นกาย แล้วกายยังเป็นเราอยู่ ก็ไม่ได้เห็นด้วยปัญญาแล้ว เพราะฉะนั้น ที่ว่า เห็นกายในกาย จะต้องเห็นด้วยปัญญา เพราะว่าถ้าเป็นธรรมแล้วไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใด

    เพราะฉะนั้น ที่เรายึดถือว่าเป็นกาย ลองค้นหาซิว่า มีส่วนใดที่เป็นของเรา ถ้าเป็นธรรมแล้วต้องมีลักษณะ ถ้ากระทบสัมผัสที่กาย ลักษณะใดปรากฏ


    หมายเลข 1607
    2 ก.ย. 2558