สุนทรสมุทรเถรคาถา


    อีกตัวอย่างหนึ่ง ใน ขุททกนิกาย เถรคาถา สัตตกนิบาต สุนทรสมุทรเถรคาถา คือที่จะกล่าวในที่นี้ ก็เพื่อแสดงให้ท่านเห็นชัดว่า ไม่ใช่ว่าท่านเห็นแล้วท่านไม่รู้อะไร แต่การเจริญสติของท่านนั้นรู้ชัดในสังขารใดๆ ไม่ว่าจะเป็นนาม ชนิดใด รูปชนิดใด ก็ไม่ทำให้ท่านหวั่นไหวคลอนแคลน ว่าจะต้องเป็นนามชนิดนั้นเท่านั้น เป็นรูปชนิดนั้นเท่านั้น ปัญญาจึงจะเจริญได้ ท่านสุนทรสมุทรเถระ ท่านได้กล่าวถึงสมัยที่ท่านจะหมดสิ้นกิเลสบรรลุความเป็นพระอรหันต์ไว้ว่า หญิงแพศยาผู้ประดับประดาร่างกาย นุ่งห่มผ้าใหม่อันงาม ทัดทรงดอกไม้ ลูบไล้ด้วยเครื่องหอม เท้าย้อมด้วยสีแดง สวมรองเท้าทอง นางถอดรอง เท้า ยืนประคองอัญชลีอยู่ข้างหน้า กล่าวเล้าโลมด้วยถ้อยคำอันอ่อนหวานว่า ท่านเป็นบรรพชิตหนุ่ม ขอจงเชื่อฟังคำของดิฉัน ขอเชิญท่านจงสึกออกมาบริโภคกามอันเป็นของมนุษย์เถิด ดิฉันจะมอบทรัพย์สมบัติอันให้เกิดความปลื้มใจแก่ท่าน ดิฉันขอให้สัตย์ปฏิญาณแก่ท่านว่า ดิฉันจะเป็นภรรยาปฏิบัติท่านเหมือนพราหมณ์บูชาไฟ ฉะนั้น เมื่อใดเราทั้งสองแก่เฒ่าจนถือไม้เท้า เมื่อนั้นเราทั้งสองจึงค่อยบวช เราทั้งสองถือเอาชัยในโลกทั้งสองก่อนเถิด เราเห็นหญิงแพศยาคนนั้น ผู้ตกแต่งร่างกายนุ่งห่มผ้าใหม่อันงามดี มาประคองอัญชลีพูดจาเล้าโลมเรา เหมือนกับบ่วงมัจจุราชอันธรรมชาติมาดักไว้ ลำดับนั้น โยนิโสมนสิการบังเกิดขึ้นแก่เรา เราได้เห็นโทษของสังขารแล้ว เกิดความเบื่อหน่าย ลำดับนั้น จิตก็หลุดพ้นจากกิเลส ของท่านจงเห็นคุณวิเศษของธรรมอย่างนี้เถิด

    เห็นก็เห็นได้ยินก็ได้ยินถ้อยคำทั้งหมด และก็รู้ความหมายด้วย แต่การเจริญสติปัฏฐานที่ท่านมี แล้วอาทีนวโทษปรากฏ ก็เหมือนกันกับที่ว่าทุกท่านที่จะรู้แจ้งอริยสัจจ์ ก็จะต้องรู้การเกิดดับของสังขารใดๆ ไม่ใช่เว้นว่าจะต้องเป็นประเภทนั้นประเภทนี้ ฉะนั้น นี่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ยกตัวอย่างให้เห็นว่า เมื่ออินทรีย์ของผู้ใดพร้อมในขณะใด ก็สามารถที่จะรู้แจ้งสภาพของสังขาร และปัญญาก็แทงตลอดในสภาพของธรรม แล้วก็หลุดพ้นจากกิเลสได้ เมื่อหลุดพ้นท่านก็กล่าวสรรเสริญคุณอันวิเศษของธรรม ไม่ว่าท่านจะอยู่ที่ไหน ชีวิตปกติธรรมดาของท่านจะเป็นการบิณฑบาต จะเป็นการเห็นอะไรก็ตาม คุณวิเศษของธรรมที่ท่านเจริญก็สามารถที่จะทำให้ท่านแทงตลอดในสภาพของธรรมนั้นได้ แต่เพื่อที่จะให้ท่านผู้ฟังได้รู้ว่า ท่านพระสุนทรสมุทรเถระท่านบรรลุในสถานที่ใด ก็จะขอเล่าเรื่องของท่านพระสุนทรสมุทรเถระ

    ก่อนที่ท่านจะบรรพชาอุปสมบทเป็นพระภิกษุนั้น ท่านเป็นชาวเมืองสาวัตถี และท่านก็เห็นมหาชนไปสู่พระวิหารเชตวัน เพื่อจะฟังธรรมเป็นจำนวนมาก ฉะนั้นท่านก็มีความสนใจ แล้วก็ได้ไปฟังธรรมที่พระวิหารเชตวันด้วย ซึ่งพระผู้มีพระภาคก็ได้ทรงแสดงอนุปุพพิกถาเรื่องของทาน ศีล สวรรค์ โทษของกามและอานิสงส์ของการที่จะออกจากกาม ท่านก็เกิดศรัทธาเลื่อมใสอย่างมากทีเดียว ทูลขอบรรพชาอุปสมบท ซึ่งพระผู้มีพระภาคก็ได้ตรัสให้ท่านไปขออนุญาตมารดาบิดาของท่านก่อน ซึ่งท่านก็ต้องอ้อนวอนเป็นอันมากทีเดียว เช่นเดียวกับท่านพระรัฐปาล เพราะว่ามารดาบิดาของท่านนั้นไม่อยากให้ท่านอุปสมบท แต่ในที่สุดก็เห็นว่าท่านมีศรัทธาจริงๆ มารดาบิดาก็ได้อนุญาตให้ท่านอุปสมบท แต่เวลาที่มารดาบิดาเห็นสหายของท่านได้บริโภคทรัพย์สมบัติ ได้ใช้ทรัพย์สมบัติด้วยความสุขความสำราญต่างๆ มารดาบิดาของท่านก็เสียใจมากที่ลูกชายนั้นไม่สามารถที่จะได้บริโภคทรัพย์ ใช้ทรัพย์ในทางที่สนุกสำราญอย่างสหายของเขา

    หญิงแพศยาคนหนึ่ง ไปหามารดาบิดาของท่านพระสุนทรสมุทรเถระ ก็เห็นว่ามารดาบิดาของท่านนั้นมีความเศร้าโศกเสียใจมาก ก็ถามว่าเนื่องจากเหตุอะไร มารดาบิดาก็เล่าให้ฟังถึงเรื่องของท่านพระสุนทรสมุทรว่า ไม่อยากให้ท่านบวชมีชีวิตอย่างบรรพชิตเลย หญิงแพศยาคนนั้นก็รับอาสาที่จะไปทำให้ท่านลาสิกขาบท แล้วก็ได้ถามมารดาบิดาของท่านว่า ถ้าทำสำเร็จจะให้อะไรเป็นเครื่องตอบแทน มารดาบิดาก็บอกว่าจะให้ทรัพย์สมบัติที่มีอยู่ ท่านพระสุนทรสมุทรเถระท่านเป็นชาวเมืองสาวัตถี ท่านบวชที่เมืองสาวัตถี แต่ท่านมีญาติพี่น้องเพื่อนฝูงเครื่องผูกพันพัวพันที่รู้ว่าไม่ต้องการให้ท่านเป็นบรรพชิต ฉะนั้น ท่านก็ไม่อยู่ที่พระนครสาวัตถีแต่ท่านไปอยู่พระนครราชคฤห์ เมื่อหญิงแพศยาคนนี้ทราบ ก็ได้เดินทางไปที่พระนครราชคฤห์ แล้วก็สังเกตุสังกาว่า ท่านพระเถระบิณฑบาต ณ ที่ใด ก็ได้ถวายอาหารบิณฑบาตท่านเป็นประจำ ๒ - ๓ วัน

    เมื่อถวายอาหารบิณฑบาตเป็นประจำ ๒ - ๓ วันแล้ว ในวันต่อมาก็ได้ นิมนต์ให้ท่านนั่งฉันที่ระเบียงอีก ๒ - ๓ วัน และพร้อมกันนั้นก็ได้ว่าจ้างเด็กมาทำเสียงอึกทึกในขณะที่พระเถระท่านฉัน พอเวลาที่ท่านพระเถระนั่งฉันที่ระเบียงได้ ๒ - ๓ วัน เด็กพวกนั้นก็ได้ทำเสียงอึกทึก หญิงแพศยานั้นก็ได้นิมนต์ท่านเข้าไปนั่งฉันภัตตาหารในเรือน ๒ - ๓ วัน นี่ก็เป็นเรื่องของกิเลส เป็นเรื่องของปุถุชน เป็นเรื่องของจิตใจที่ยังเต็มไปด้วย โลภะ โทสะ โมหะ แม้คนในสมัยโน้นหรือว่าคนในสมัยนี้ก็ตาม ที่ยกตัวอย่างนี้ก็เพื่อให้ท่านเห็นว่า เป็นชีวิตปกติธรรมดาจริงๆ ที่ว่าการบรรลุมรรค ผลนั้น ก็ต้องบรรลุมรรคผลตามปกติของชีวิตธรรมดาที่ท่านได้เจริญสติท่านพระเถระก็ได้เข้าไปนั่งฉันภัตตาหารในเรือน ๒ - ๓ วัน หญิงแพศยาคนนั้นก็ได้ให้เด็กทำเสียงเอะอะเกรียวกราวอีก แล้วได้นิมนต์ท่านขึ้นไปในปราสาทข้างบนแล้วปิดประตู แล้วก็กล่าวคำเล้าโลมท่าน

    ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับ ณ พระวิหารเชตวัน ซึ่งไกลจากพระนครราชคฤห์ พระองค์ทรงเห็นเหตุนั้น แล้วทรงทำความยิ้มแย้มให้ปรากฏท่านพระอานนท์ก็ทูลถามว่า พระเจ้าข้า อะไรหนอแลเป็นเหตุ อะไรเป็นปัจจัยแห่งการทรงทำความยิ้มแย้มให้ปรากฏ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสกับพระอานนท์ว่า ขณะนี้สงครามของภิกษุชื่อ สุนทรสมุทรกับสงครามของหญิงแพศยา กำลังเป็นไปอยู่ ณ บนพื้นปราสาท ๗ ชั้น ในกรุงราชคฤห์ ท่านพระอานนท์ก็กราบทูลว่า สงครามครั้งนี้ใครเป็นผู้ชนะ พระผู้มี พระภาคก็ตรัสว่า ท่านพระสุนทรสมุทรเถระเป็นผู้ชนะ เพราะว่าท่านได้ฟังคำเล้าโลมของหญิงแพศยานั่นแล้วท่านก็เกิดความสลดใจ

    นี่ก็เป็นเรื่องที่ให้เห็นเรื่องของการบรรลุมรรคผล ว่าการบรรลุของผู้ที่เจริญอินทรีย์แล้วนั้น ไม่จำเป็นต้องกลัวหรือหวั่นเกรงว่า ถ้าไม่อยู่ในสถานที่นั้นและสถานที่นี้แล้วจะไม่บรรลุ


    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 15


    หมายเลข 13509
    21 เม.ย. 2568