เขามีมานะ - คำเตือนที่ประเสริฐสุดคือพระธรรม


        ผู้ฟัง ที่ว่ามานะ โดยประสบการณ์ส่วนตัว ผู้ที่ศึกษาธรรมะแล้ว มีโอกาสที่มีมานะได้ คือ สำคัญตนเข้าใจตนว่ามีความรู้ธรรมะมาก ถ้าเรามีโอกาสที่จะเตือนในสิ่งที่มีประโยชน์ เพราะถ้าเราไม่เตือนเขาเลยเราปล่อยให้เขาสะสมมานะไป วันใดวันหนึ่งก็จะหลงผิดได้

        ท่านอาจารย์ ฟังดูคนนั้นก็มีมานะมากทีเดียว เพราะฉะนั้นถ้าเราจะเตือนเขา เขามีมานะด้วย หรือไม่ ที่ว่าเรา หรือคนอื่นเตือนเขา แต่คำเตือนที่ประเสริฐสุดคือพระธรรม ถ้าเราจะกล่าวถึงธรรมะบ่อยๆ เป็นพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง คนอื่นย่อมจะรับฟังแล้วแต่เขาจะพิจารณาอย่างไร แต่ถ้าเป็นคำเตือนของเราก็ต้องรู้จักบุคคลนั้นพอสมควรว่า จะไปเพิ่มมานะเขา หรือไม่ และเขาอาจจะมีมานะว่า เราเป็นใคร แล้วก็ไปเตือนเขา ก็เป็นไปได้

        เพราะฉะนั้นแม้ว่าจะเป็นความหวังดี แต่จริงๆ แล้วต้องแล้วแต่บุคคล แล้วแต่กาละ แล้วแต่ประโยชน์จะเกิดขึ้นไหม ถ้าเป็นประโยชน์ก็ทำ แต่ถ้าไม่เป็นประโยชน์ เราก็รู้ไม่ได้ว่า จะเป็นประโยชน์ หรือไม่เป็นประโยชน์ แต่ที่ปลอดภัยที่สุด คือ กล่าวถึงพระธรรม เตือนดีที่สุด ไม่ว่าใครจะรู้จักมากน้อยอย่างไรก็ตามเเต่ แต่ว่าพระธรรมที่ทรงแสดงไว้ก็กล่าวถึงเรื่องมานะ ว่ามานะมีหลายระดับ และละเอียดมาก ถ้าเขาฟัง เขาก็จะได้รู้พิจารณาว่ามานะไม่ได้อยู่ที่อื่น แต่อยู่ที่ตัวเขา และจะมีความเข้าใจด้วยว่า มานะที่พระอนาคามีดับแล้วถึงความเป็นพระอรหันต์ จะต้องต่างกับมานะของผู้ที่เป็นปุถุชน

        เพราะฉะนั้นแต่ละคนจะมีมานะที่รู้ตัวบ้าง ไม่รู้ตัวบ้าง เพราะว่ามานะเป็นเรื่องที่ละเอียด บางทีเราเห็นมานะของคนอื่นมากกว่ามานะของเราเอง เพราะว่าอาจจะเป็นคนที่สะสมความอ่อนน้อม ความหวังดี ความเมตตา และเข้าใจถึงความต่างของแต่ละบุคคลว่าเป็นไปตามกรรม ซึ่งแต่ละคน แต่ละภพ แต่ละชาติสูงบ้างต่ำบ้าง หรือแม้ในชาติเดียวกันก็มีทั้งขึ้นลงต่างๆ กันไป ก็จะมีความเข้าใจ และมีความเห็นใจแทนมานะก็ได้ แม้กระนั้นคนนั้นก็ต้องเป็นผู้ที่ตรง ที่จะสังเกต และเข้าใจมานะที่ละเอียดขึ้น ว่ามานะอย่างนั้นไม่มี แต่มีมานะอย่างอื่นไหม แม้ขณะนี้เอง ขณะใดที่ไม่ได้ฟัง ไม่ได้พิจารณา ก็เหมือนไม่ได้ยินคำนั้น มีแต่เสียงกระทบ ปรากฏนิดเดียวแล้วก็หมดไป แต่ไม่รู้ว่าอะไร เพราะฉะนั้นขออนุโมทนาทุกท่านที่ฟังธรรมะ กุศลจิตที่จะเกิด ที่จะฟังธรรมะนี่ไม่ง่าย และเมื่อฟังแล้วต้องเป็นผู้ที่ละเอียดด้วย มิฉะนั้นแล้วก็ไปทางผิดได้

        ที่มา ...

        พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 367


    หมายเลข 12903
    17 ธ.ค. 2566