ฟังให้เข้าใจ เข้าใจแค่ไหน


        ผู้ฟัง ไม่ค่อยชัดเจน ฟังให้เข้าใจ ก็ไม่มั่นใจว่า ฟังให้เข้าใจแค่ไหน รบกวนท่านอาจารย์ขยายความไม่ให้เข้าใจผิดว่าว่าเราศึกษาเข้าใจแล้วเข้าใจ หรือไม่

        ท่านอาจารย์ คุณอรวรรณคิดว่า มีใครที่สามารถเข้าใจพระไตรปิฎกโดยตลอดทั้งหมดได้ไหม

        ผู้ฟัง ไม่ได้

        ท่านอาจารย์ ก็หมดปัญหาไป

        ผู้ฟัง สิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ ใบไม้ทั้งป่า แต่ว่าเรารู้ อาจจะเป็นใบไม้กำมือเดียว ก็คือให้เข้าใจว่า ชีวิตประจำวันของเราเป็นอย่างไรตามที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้เพื่อให้อย่างน้อยความรู้ก็ละความไม่รู้ ก็สามารถละกิเลสได้ อันนั้นก็คือการศึกษา

        ท่านอาจารย์ กำมือเดียว คือ ได้ยินคำอะไร เข้าใจ ไม่ใช่ข้ามไปๆ แล้วก็ใช้คำนั้นโดยที่ไม่รู้ความหมายจริงๆ อย่างพูดถึงคำว่า “ธรรม” เข้าใจว่าอย่างไร

        ผู้ฟัง จากการศึกษา ก็คือสิ่งที่มีจริง

        ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นอภิธรรมกับธรรม เหมือนกันไหม

        ผู้ฟัง ถ้าอภิธรรมก็ขยายว่าธรรมะในส่วนละเอียด ถ้าหมายถึงสิ่งที่มีจริงก็เหมือนกัน

        ท่านอาจารย์ ธรรมะก็ต้องเป็นธรรมะ เปลี่ยนไม่ได้ ปรมัตถธรรม กับธรรมะ กับอภิธรรม เหมือนกันไหม

        ผู้ฟัง เหมือนกัน

        ท่านอาจารย์ เพียงแต่ใช้คำที่จะให้รู้ว่า กำลังกล่าวโดยละเอียดยิ่ง หรือว่ากล่าวเพื่อจะเข้าใจเฉพาะส่วนที่คนสามารถประจักษ์แจ้งได้ โดยไม่ต้องกล่าวถึงความละเอียดยิ่งก็ได้ เพราะว่าคนนั้นเคยอบรมปัญญามาแล้ว ไม่ใช่ว่า แล้วเราจะเอาอภิธรรมไปทำไม แล้วเราจะฟังอภิธรรมไปทำไม ฟังเพราะไม่รู้ แล้วไม่ละ แล้วทำอย่างไรถึงจะรู้ และละได้ ถ้าไม่ฟังให้ละเอียดยิ่งขึ้น ไม่ใช่ฟังไว้สำหรับที่จะไปกล่าวเป็นเรื่องราว แต่ฟังเพราะรู้ว่า ถ้าไม่ฟังอย่างนี้ ไม่สามารถละการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนได้ แม้แต่คำว่า “อายตนะ” ทั้งๆ ที่สภาพธรรม ทรงแสดงเรื่องนามธรรม และรูปธรรม เป็นอายตนะทั้งหมด เพราะเหตุว่าจะเกิดมีขึ้นโดยที่ปรากฏ และจะไม่ให้อยู่ตรงนั้น ให้หายไปไม่ได้ หมายความเป็นที่ประชุม ที่ต่อ ที่จะทำให้ขณะนี้เห็นสิ่งที่มีอยู่ในขณะนั้นที่นั่น

        เพราะฉะนั้นต้องเข้าใจความหมายด้วย ไม่ใช่จำชื่อ อายตนะภายใน ๖ ภายนอก ๖ กล่าวได้กี่วัน กี่เดือน กี่ปี ๖ นี่ก็แม่น ทั้งภายใน ทั้งภายนอก แต่จะรู้ความเป็นอายตนะเมื่อไร เดี๋ยวนี้รู้ได้ไหม ไม่ได้ แต่จากการฟังก็มีความเข้าใจความเป็นอนัตตาว่า แม้ขณะนี้เองที่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดเกิดปรากฏ เช่น สิ่งที่ปรากฏทางตาปรากฏ และจิตเห็นก็เกิดเห็นสิ่งที่ปรากฏ ณ ขณะนั้นเองไม่ใช่ตัวตนเพราะอะไร เพราะว่าตาเป็นอย่างหนึ่ง และสิ่งที่กระทบตาเป็นอีกอย่างหนึ่ง ตาก็เป็นส่วนที่เป็นภายใน ส่วนสิ่งที่มากระทบก็เป็นภายนอก

        เพราะฉะนั้นเวลาที่พูดถึงอายตนะภายใน ทุกคนก็จะคิดถึงตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ เวลาที่มีสิ่งที่ปรากฏกับตา ส่วนที่ปรากฏกระทบจึงปรากฏ จึงเป็นภายนอก เสียงกระทบโสตปสาทจึงปรากฏ เสียงก็เป็นภายนอกที่กระทบกับโสตปสาทที่เป็นภายใน

        ถ้ามีความเข้าใจสิ่งที่พูด หรือชื่อที่ได้ยินเพิ่มขึ้น ก็จะคลายการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน แต่ไม่ใช่เป็นการไปจำชื่อ แล้วก็ไม่รู้ว่าคืออะไร และต้องเข้าใจจริงๆ ว่า ปัญญาที่จะรู้สภาพธรรมตามลำดับ ขณะนี้ฟังเรื่องอายตนะ แต่จะรู้ลักษณะที่เป็นอายตนะได้ไหม ในเมื่อขณะนี้บางคนก็บอกว่า เจตนาก็ตาม ผัสสะก็ตาม สติก็ตาม คุ้นหู รู้ว่าขาดไม่ได้เลย เวลาที่รู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ต้องมีผัสสเจตสิก และมีเวทนาเจตสิก รู้หมดเลย รู้เรื่องของสภาพธรรมในขณะนี้ที่มีจริงๆ แต่ว่าขณะนี้รู้ลักษณะของเห็น หรือเปล่า เพียงเห็นยังไม่รู้ แล้วจะรู้ลักษณะของผัสสเจตสิก หรือเวทนาเจตสิกได้ไหม ถ้าไม่ปรากฏ แต่ขั้นเข้าใจเป็นปัญญาที่ทำให้ค่อยๆ เข้าใจถูกต้องว่า แต่ละขณะที่เกิดขึ้นไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตนเลย เป็นธรรมะทั้งหมดที่เป็นนามธรรม และรูปธรรม

        เพราะฉะนั้นถ้าจะมีคนถามว่า ขณะนี้สติเกิดไหม ถูกไหม เพราะไม่รู้สภาพของนามธรรมที่เห็น และลักษณะของสติ จะรู้ไหม

        ผู้ฟัง ไม่ทราบ

        ท่านอาจารย์ นี่ก็เป็นเรื่องที่เราฟังเรื่องราวของธรรมะแล้วเป็นผู้ที่ตรงว่า ธรรมะละเอียดทั้งนามธรรม และรูปธรรม ทั้งๆ ที่รูปกล่าวว่า มีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ แต่ก็ดับสืบต่อจนกระทั่งไม่ปรากฏการเกิดดับ แต่การฟังค่อยๆ เข้าใจทีละเล็กทีละน้อยเพิ่มขึ้น ก็จะทำให้ปัญญาที่เกิดจากความเข้าใจ ไม่มีใครสามารถรู้เลย เป็นสังขารขันธ์ที่จะปรุงแต่งจนกระทั่งสามารถเกื้อกูลให้มีความเห็นถูกเพิ่มขึ้น

        เวลาที่วิสาขามิคารมารดาขอพรพระผู้มีพระภาคที่จะถวายอาคันตุกะภัตรบ้าง หรือจีวรแก่พระภิกษุที่มาเมืองสาวัตถี เพื่อประโยชน์เวลาที่ธรรมะทั้งหลาย โพธิปักขิยธรรมเกิดขึ้น ปีติจึงเกิด นี่เห็นไหมคะกว่าจะปรุงแต่งที่จะกระทำกิจที่ทำให้เกิดโสมนัสในทางกุศล เป็นปัจจัย เป็นสังขารขันธ์ที่จะปรุงแต่งให้ขณะนั้นเกิดปีติได้

        เพราะฉะนั้นเราจะไม่รู้การปรุงแต่งของสภาพธรรมแต่ละขณะเลย ซึ่งมีความเข้าใจเริ่มเกิดขึ้นทีละเล็กทีละน้อยๆ ๆ เวลาที่มีปัญญาเพิ่มขึ้น เป็นปัจจัยให้มีการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม เมื่อนั้นเราก็สามารถจะรู้ขณะที่ต่างของขณะที่หลงลืมสติ กับขณะที่สติเกิด

        ที่มา ...

        พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 367


    หมายเลข 12907
    17 ธ.ค. 2566