อัฏฐิสูตร ว่าด้วยโครงกระดูกลอยฟ้า


        สำหรับเปรต ไม่ใช่ว่าจะปรากฏให้เห็นได้ทั่วๆ ไป แล้วแต่ว่าบุคคลใดจะเห็น หรือว่าไม่เห็น

        สังยุตตนิกาย นิทานวรรค ลักขณสังยุต ปฐมวรรคที่ ๑ อัฏฐิสูตร มีข้อความว่า

        ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้

        สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน กลันทกนิวาปสถาน เขตพระนครราชคฤห์ ก็สมัยนั้นแล ท่านพระลักขณะกับท่านพระมหาโมคคัลลานะอยู่บนภูเขาคิชฌกูฏ

        สารัตถปกาสินี อรรถกถา ลักขณสังยุต อัฏฐิสูตร มีข้อความว่า

        ท่านพระลักขณเถระนั้นอยู่ในจำนวนชฎิล ๑,๐๐๐ รูป อุปสมบทด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทา บรรลุพระอรหันต์ในที่สุดแห่งอาทิตตปริยายสูตร เป็นพระมหาสาวกองค์ หนึ่ง เพราะเหตุที่ท่านเป็นผู้ที่มีอัตภาพสมบูรณ์ด้วยลักษณะ บริบูรณ์ด้วยอาการทุกอย่างเสมอพรหม จึงได้ชื่อว่าลักขณะ

        ข้อความต่อไปในพระไตรปิฎกมีว่า

        ครั้งนั้นแล เป็นเวลาเช้า ท่านพระมหาโมคคัลลานะนุ่งแล้ว ถือบาตร และจีวร เข้าไปหาท่านพระลักขณะจนถึงที่อยู่ ครั้นแล้วได้กล่าวชวนท่านพระลักขณะว่ามา ไปบิณฑบาตยังพระนครราชคฤห์ด้วยกันเถิดท่านลักขณะ ท่านพระลักขณะรับคำท่านพระมหาโมคคัลลานะว่า อย่างนั้น

        ถ้าท่านสังเกต จะเห็นได้ว่า ชีวิตปกติของพระอรหันต์ก็ดำเนินไปตามปกติ ตอนเช้าท่านก็ไปมาหาสู่กัน ชักชวนกันไปบิณฑบาตได้ไหม หรือว่าถ้าเป็นพระอรหันต์ก็ต้องปลีกตัวอยู่คนเดียว ไม่พูดอะไรกับใครทั้งนั้น เป็นอย่างนั้นหรือเปล่า ชีวิตของพระอรหันต์ท่านจะกระทำกายวาจาอย่างใด ก็ย่อมเป็นไปตามการสะสมของท่าน ท่านเคยสะสมมาที่จะไปมาหาสู่กัน เคยสะสมมาที่จะชักชวนกันกระทำในสิ่งที่ไม่ใช่อกุศลธรรม ท่านก็กระทำเป็นปกติ เป็นชีวิตธรรมดา แต่ว่าหลังจากที่บรรลุการเป็นพระอรหันต์แล้ว ไม่มีเจตนากรรมที่เป็นกุศล หรือเป็นอกุศลที่จะเป็นปัจจัยทำให้มีการปฏิสนธิอีก และปกติชีวิตของท่านก็เป็นธรรมดา ซึ่งอาจจะผิดความคาดหวัง หรือความเข้าใจของบางท่าน ถ้าคิดว่าเป็นพระอรหันต์แล้วจะต้องไม่พูดกับใคร ไม่เกี่ยวข้องกับใคร อยู่เฉยๆ ตามลำพัง ซึ่งหากท่านศึกษาในพระไตรปิฎกจะเห็นว่า พระอรหันต์แต่ละรูป ท่านก็มีชีวิตดำเนินไปตามปกติ ตามที่ท่านได้สะสมมาตามความเป็นจริง

        ข้อความต่อไปมีว่า

        ลำดับนั้นแล ท่านพระมหาโมคคัลลานะกำลังลงจากภูเขาคิชฌกูฏ ได้ยิ้มแย้มขึ้นในที่แห่งหนึ่ง ทีนั้นท่านพระลักขณะได้ถามท่านพระมหาโมคคัลลานะว่า

        ท่านโมคคัลลานะ อะไรเล่าเป็นเหตุเป็นปัจจัยทำให้ยิ้มแย้ม

        ท่านพระมหาโมคคัลลานะตอบว่า

        ท่านลักขณะ มิใช่เวลาที่จะเฉลยปัญหาข้อนี้ ท่านจงถามผมในสำนักพระผู้มีพระภาคเถิด

        การยิ้มแย้มต้องมีเหตุ หรือไม่มีเหตุ และเหตุอะไรเป็นปัจจัยให้เกิดการยิ้มแย้ม โสมนัสเวทนาที่เกิดกับจิตในขณะนั้น เป็นปัจจัยให้เกิดการยิ้มแย้มขึ้น ถ้าท่านเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน ไม่ว่ากายจะเป็นอย่างไร ถ้าขณะนั้นท่านระลึกรู้ถึงสภาพของจิต ท่านทราบได้ว่า ที่กายเกิดขึ้นเป็นไปอย่างนั้น เพราะจิตประเภทนั้นๆ เป็นปัจจัย ถ้าท่านกำลังหัวเราะรื่นเริงสนุกสนาน และท่านเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติ ขณะนั้นที่กำลังหัวเราะสนุกสนาน สติระลึกรู้ลักษณะของจิต จะรู้ว่าเป็นจิตที่โสมนัส ประกอบด้วยความยินดีในขณะนั้น ทำให้เกิดการยิ้มแย้มขึ้น

        เพราะฉะนั้น สำหรับการยิ้มแย้มของท่านพระมหาโมคคัลลานะ ก็มีปัจจัยที่ทำให้เกิดการยิ้มแย้มขึ้น ซึ่งก็ต้องเป็นจิตประเภทโสมนัสนั่นเอง แต่ไม่ใช่ด้วยกุศลหรืออกุศล เพราะจิตของพระอรหันต์ไม่มีกุศลและอกุศล จึงเป็นกิริยาจิต สำหรับวิบากจิตก็เป็นผลของอกุศลกรรมและกุศลกรรมในอดีต ด้วยเหตุนี้ พระอรหันต์จึงมีเฉพาะวิบากจิต กับกิริยาจิตเท่านั้น

        ข้อความต่อไปมีว่า

        ครั้งนั้นแล ท่านพระลักขณะกับท่านพระมหาโมคคัลลานะเที่ยวบิณฑบาตในพระนครราชคฤห์ กลับจากบิณฑบาต ภายหลังภัตตาหารแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วท่านพระลักขณะได้ถามท่านพระมหาโมคคัลลานะว่า

        ท่านพระมหาโมคคัลลานะ เมื่อลงมาจากภูเขาคิชฌกูฏได้ยิ้มแย้มขึ้นแล้วในที่แห่งหนึ่ง ดูกร ท่านมหาโมคคัลลานะ อะไรเล่าเป็นเหตุเป็นปัจจัยทำให้ยิ้มแย้มขึ้น

        ท่านพระมหาโมคคัลลานะได้ตอบว่า

        เมื่อผมลงมาจากภูเขาคิชฌกูฏ ได้เห็นโครงกระดูกลอยอยู่ในเวหาส พวกแร้งบ้าง กาบ้าง นกตะกรุมบ้าง ต่างก็โผถลาตามเจาะจิกทึ้งโครงกระดูกนั้น ได้ยินว่า โครงกระดูกนั้นส่งเสียงร้องครวญคราง ผมคิดว่า อัศจรรย์จริงหนอ ไม่เคยมีมาหนอ สัตว์แม้เห็นปานนี้ก็จักมี ยักษ์แม้เห็นปานนี้ก็จักมี การได้อัตภาพแม้เห็นปานนี้ก็จักมี

        ท่านคิดว่าเป็นไปได้ไหม เรื่องของเปรต เป็นอบายภูมิอีกภูมิหนึ่ง ซึ่งก็ได้รับความทุกข์ทรมาน และมีรูปร่างกายวิจิตรต่างๆ ตามกรรมที่ได้กระทำไว้

        ที่มา ...

        แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 277

        ข้อความต่อไปมีว่า

        ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สาวกทั้งหลายเป็นผู้มีจักษุหนอ เป็นผู้มีญาณหนอ เพราะว่าแม้สาวกก็จักรู้ จักเห็นสัตว์เช่นนี้ หรือจักเป็นพยาน เมื่อก่อนเราก็ได้เห็นสัตว์ตนนั้นเหมือนกัน แต่ว่าไม่ได้พยากรณ์ไว้ หากว่าเราพึงพยากรณ์สัตว์นั้นไซร้ คนอื่นๆ ก็จะไม่พึงเชื่อถือเรา ข้อนั้นพึงเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์ เพื่อความทุกข์สิ้นกาลนานแก่ผู้ไม่เชื่อถือเรา

        ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สัตว์นี้เป็นคนฆ่าโค อยู่ในพระนครราชคฤห์นี้เอง ด้วยผลของกรรมนั้น เขาจึงหมกไหม้อยู่ในนรกสิ้นปี สิ้น ๑๐๐ ปี ๑,๐๐๐ ปี ๑๐๐,๐๐๐ ปีเป็นอันมาก ด้วยผลของกรรมนั้นแหละยังเหลืออยู่ เขาจึงต้องเสวยการได้อัตภาพเห็นปานนี้

        ซึ่งการเกิดเป็นเปรตมีอัตภาพที่เป็นทุกข์ต่างๆ กันนั้น ก็ยากที่ท่านจะเชื่อว่าเป็นไปได้ เพราะเหตุว่าถ้าท่านศึกษาในพระไตรปิฎกจะเห็นได้ว่า นอกจากเปรตโครงกระดูกนี้ ยังมีเปรตก้อนเนื้อ เปรตบุรุษไม่มีผิวหนังเลย เปรตบุรุษผู้มีขนเป็นดาบ มีขนเป็นเข็ม เป็นต้น แต่ถ้าท่านระลึกถึงอกุศลกรรมที่วิจิตรต่างๆ กันในปัจจุบันชาติ ซึ่งท่านก็คงจะได้ยินได้ฟังมาบ้างว่า มีการกระทำอกุศลกรรมในลักษณะต่างๆ กันมาก เมื่อเหตุที่วิจิตรอย่างนั้นมี ผลต่างๆ ก็จะต้องเป็นไปตามเหตุเหล่านั้นด้วย

        ถ้าท่านพิจารณาดูชีวิตของท่านเองในวันหนึ่งๆ มีเรื่องยุ่งบ้างไหม เรื่องยุ่งนี้คงจะมีมากเหมือนกัน และบางท่านก็คงจะบ่อยเหมือนกัน เรื่องยุ่งๆ พวกนี้มาจากไหน เกิดขึ้นได้อย่างไร อยู่ดีๆ วันนี้ไม่ยุ่ง แต่พรุ่งนี้อาจจะมีเรื่องยุ่งมากมากมายทีเดียว เรื่องยุ่งมากๆ เหล่านั้นมาจากไหน ถ้าไม่มีเหตุไม่มีปัจจัยก็เกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าเป็นผลที่เป็นอกุศลวิบากต่างๆ ก็ต้องมาจากเหตุในอดีตที่เป็นอกุศลกรรม

        นี่คือผลที่ได้รับในปัจจุบันชาติที่เป็นมนุษย์ แต่ถ้าในกำเนิดอื่น ความวิจิตรของ

        อกุศลกรรมที่ได้กระทำมาต่างๆ กัน ย่อมเป็นปัจจัยให้ปฏิสนธิในอบายภูมิได้ แล้วแต่ว่าจะเป็นภูมินรก หรือภูมิสัตว์ดิรัจฉาน หรือเป็นภูมิเปรต สำหรับมนุษย์ก็ยังมีกายที่วิจิตร สัตว์ดิรัจฉาน ทั้งสัตว์บก สัตว์น้ำ ก็มีรูปกายที่วิจิตรมาก เพราะฉะนั้น พวกเปรตซึ่งเป็นอบายภูมิๆ หนึ่ง ก็ย่อมมีรูปร่างกายที่วิจิตรตามควรแก่กรรมนั้นๆ ด้วย

        สารัตถปกาสินี อรรถกถา อธิบายความในพระสูตรนี้ว่า

        ท่านพระมหาโมคคัลลานะได้แย้มยิ้ม เพราะได้เห็นสัตว์ที่เกิดในเปตโลกผู้หนึ่งร่างกระดูก ด้วยทิพยจักษุไม่ใช่ด้วยปสาทจักษุ จริงอยู่ อัตภาพทั้งหลายเหล่านั้นไม่มาสู่คลองแห่งปสาทจักษุ

        จักษุธรรมดาไม่เห็นเปรตเหล่านั้น แต่ว่าผู้ที่มีทิพยจักษุอย่างท่านพระมหาโมคคัลลานะ เมื่อน้อมระลึกถึงย่อมเห็นได้ เพราะฉะนั้น ถ้าสมัยนี้จะมีบุคคลหนึ่งบุคคลใดที่รู้สึกเหมือนกับว่าเห็นเปรต หรือเห็นเทพ จะเป็นเพราะมีทิพยจักษุ หรือว่าจะเป็นเพราะมโนภาพ ความคิดคำนึงทำให้รูปนิมิตอย่างความฝันปรากฏขึ้น แต่จะทราบได้อย่างไรว่าเป็นความจริง ถ้าบุคคลนั้นไม่มีทิพยจักษุก็ยากที่จะทราบได้ เพราะเหตุว่าการที่จะเห็นอย่างละเอียดถึงลักษณะของเปรตที่เป็นร่างกระดูกลอยอยู่ในอากาศหรือว่าเป็นพวกก้อนเนื้อ เป็นบุรุษมีขนเป็นดาบต่างๆ เหล่านี้ ต้องเป็นด้วยทิพยจักษุ

        ข้อสารัตถปกาสินี อรรถกถา มีว่า

        เมื่อเห็นอัตภาพเห็นปานนี้แล้ว คือ ท่านพระมหาโมคคัลลานะเห็นเปรตร่างกระดูกนั้นแล้ว ควรทำความกรุณา แต่ทำไมท่านพระมหาโมคคัลลานะจึงยิ้ม

        อธิบายว่า พระเถระยิ้ม เพราะระลึกถึงสมบัติของตน และสมบัติแห่งพระ พุทธญาณ คือ พระญาณของพระผู้มีพระภาค จริงอยู่ท่านพระเถระเห็นเปรตนั้นแล้ว ระลึกถึงสมบัติของตนว่า อัตภาพเช่นนี้ อันบุคคลผู้ไม่เห็นสัจจะพึงได้ เราได้พ้นแล้วจากอัตภาพนั้น เป็นลาภของเราหนอ เราได้ดีแล้ว แล้วระลึกถึงสมบัติแห่งพระ พุทธญาณอย่างนี้ว่า ญาณสมบัติของพระผู้มีพระภาคน่าอัศจรรย์ พระองค์ทรงแสดงไว้ว่า

        ดูกร ภิกษุทั้งหลาย วิบากแห่งกรรมเป็นอจินไตย ใครๆ ไม่พึงคิด พระผู้มีพระภาคทั้งหลาย ย่อมทรงแสดงกรรมวิบากนั้นให้ประจักษ์ ธรรมธาตุทั้งหลายอัน พระผู้มีพระภาคทั้งหลายทรงแทงตลอดดีแล้ว

        เมื่อท่านพระเถระระลึกอย่างนี้แล้วจึงยิ้ม

        ซึ่งท่านพระลักขณเถระก็ได้ถามท่าน พระมหาโมคคัลลานเถระว่า อะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัยแห่งการยิ้ม แต่ว่าท่านพระมหาโมคคัลลานะต้องการที่จะให้พระผู้มีพระภาคทรงเป็นพยาน ท่านจึงให้ท่านพระลักขณะถามเมื่อได้ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค เพราะท่านพระมหาโมคคัลลาทราบว่า ชนเหล่าใดไม่เห็นการอุบัตินี้ด้วยตนเอง จะให้ชนเหล่านั้นเชื่อนั้นยาก

        ข้อความที่ว่า พระเถระเห็นเปรตนั้นแล้วระลึกถึงสมบัติของตนว่า อัตภาพเช่นนี้ อันบุคคลผู้ไม่เห็นสัจจะพึงได้

        หมายความว่า ตราบใดที่ยังไม่รู้แจ้งอริยสัจธรรม ก็มีโอกาส มีปัจจัยที่จะทำให้เกิดในอบายภูมิ ด้วยการสะสมของกรรมที่วิจิตรที่ได้กระทำแล้ว ไม่มีบุคคลใดจะทราบเลยว่า จุติจากชาตินี้แล้ว อาจจะไปเกิดเป็นเปรตมีรูปร่างลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดก็ได้ซึ่งเป็นความวิจิตรมากทีเดียว

        ด้วยเหตุนี้ ท่านพระมหาโมคคัลลานะจึงยิ้มด้วยเหตุ ๒ ประการ คือ ท่านพ้นจากอบายภูมิแล้วประการที่หนึ่ง และอีกประการหนึ่ง เพราะญาณสมบัติของพระผู้มีพระภาคนั้นน่าอัศจรรย์ ทรงรู้ทั้งกรรม และวิบาก คือ ผลของกรรมว่า เมื่อบุคคลใดประกอบกรรมนั้นแล้วจะให้ผลเป็นวิบากอย่างไร

        ที่มา ...

        แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 278


    Tag  เปรต  
    หมายเลข 12865
    22 พ.ย. 2566