มิคลุททเปตวัตถุ


        ข้อความต่อไป เป็นตัวอย่างของกรรมที่ทำให้ปฏิสนธิในอบายภูมิ เป็นเปรต

        มิคลุททเปตวัตถุที่ ๑ มีข้อความว่า

        ท่านพระนารทเถระถามเปรตตนหนึ่งว่า

        ท่านเป็นคนหนุ่มแน่น ห้อมล้อมด้วยเทพบุตรและเทพธิดา รุ่งเรืองอยู่ด้วยกามคุณ อันให้เกิดความกำหนัดยินดีในราตรี เสวยทุกข์ในกลางวัน ท่านได้ทำกรรมอะไรไว้ในชาติก่อน

        เปรตนั้นตอบว่า

        เมื่อก่อนกระผมเป็นพรานเนื้อ อยู่ที่ภูเขาวงกตอันเป็นที่รื่นรมย์ใกล้กรุงราชคฤห์ เป็นผู้มีฝ่ามือเปื้อนโลหิต เป็นคนหยาบช้าทารุณ มีใจประทุษร้ายในสัตว์เป็นอันมาก ผู้ไม่กระทำความโกรธเคือง ยินดีแต่ในการเบียดเบียนสัตว์อื่น เป็นผู้ไม่สำรวมแล้วด้วยกาย วาจา ใจเป็นนิตย์

        อุบาสกคนหนึ่งผู้เป็นสหายของกระผม เป็นคนใจดีมีศรัทธา ก็อุบาสกคนนั้นเป็นคนเอ็นดูกระผม ห้ามกระผมอยู่เนืองๆ ว่า อย่าทำบาปกรรมเลย พ่อเอ๋ย อย่าไปทุคติเลย ถ้าท่านปรารถนาความสุขในโลกหน้า จงงดเว้นการฆ่าสัตว์อันเป็นการไม่สำรวมเสียเถิด

        กระผมฟังธรรมของสหายผู้หวังดี มีความอนุเคราะห์ด้วยประโยชน์นั้นแล้ว ไม่ทำตามคำสั่งสอนทั้งสิ้น เพราะกระผมเป็นคนไม่มีปัญญา ยินดีแล้วในบาปตลอดกาลนาน สหายผู้มีปัญญาดีนั้น แนะนำกระผมให้ตั้งอยู่ในความสำรวม ด้วยความอนุเคราะห์ว่า ถ้าท่านฆ่าสัตว์ในเวลากลางวัน ส่วนกลางคืนจงงดเว้นเสีย กระผมจึงฆ่าสัตว์แต่เฉพาะกลางวัน กลางคืนเป็นผู้สำรวมงดเว้น เพราะฉะนั้น กลางคืนผมจึงได้รับความสุข กลางวันได้เสวยทุกข์ ถูกสุนัขรุมกัดกิน คือ กลางคืนได้เสวยทิพยสมบัติด้วยผลแห่งกุศลกรรมนั้น ส่วนกลางวันฝูงสุนัขมีจิตเดือดดาล พากันห้อมล้อมกัดกินกระผมรอบด้าน

        ก็ชนเหล่าใดผู้มีความเพียรเนืองๆ บากบั่นมั่นในศาสนาของพระสุคต กระผมเข้าใจว่า ชนเหล่านั้นจะได้บรรลุอมตบท อันปัจจัยอะไรๆ ปรุงแต่งไม่ได้อย่างแน่นอน

        ถ้อยคำของพวกเปรตก็ดี หรือผู้ที่ไปปฏิสนธิในอบายภูมิ และได้เห็นกรรม ได้เห็นผลของอกุศลกรรม จะมีถ้อยคำที่แสดงความเชื่อมั่นในกรรม และถ้าผู้ใดเป็นผู้ที่บากบั่นในกุศล ละเว้นอกุศลจริงๆ แม้แต่เปรตก็ยังกล่าวว่า ผู้นั้นย่อมถึงอมตบท คือ ความพ้นทุกข์โดยสิ้นเชิง

        ท่านผู้ที่มีปัญญาจะต้องเห็นอย่างนี้ สามารถที่จะละเว้นอกุศลกรรมได้ แต่ถ้าปัญญายังไม่พอ อกุศลกรรมก็ยังละเว้นไม่หมด แต่ถ้าดูในพระวินัยของพระภิกษุ สิ่งใดที่ประพฤติปฏิบัติตามพระวินัยแล้ว ย่อมเป็นสิ่งที่เหมาะ ที่ควร ที่ดี ที่งามทั้งสิ้น เพื่อความสุขในโลกหน้า เพื่อความพ้นจากทุกข์ของอกุศลกรรม

        เพราะฉะนั้น ถ้าท่านผู้ใดจะเห็นกุศลซึ่งต่างกับอกุศล และอบรมเจริญกุศลให้มากขึ้น ลดอกุศลให้น้อยลง ท่านก็ย่อมเป็นผู้ที่จะได้รับวิบากของอกุศลกรรมน้อยลงด้วยตามควรแก่ปัจจัย แม้แต่เรื่องการเว้นของอุบาสกที่เป็นคนฆ่าสัตว์ ถ้าเว้นในเวลากลางคืน ตอนกลางคืนก็ยังมีโอกาสที่จะได้รับความสุขตามควรแก่กรรมนั้นๆ

        ที่มา ...

        แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 279


    Tag  เปรต  
    หมายเลข 12869
    22 พ.ย. 2566