ความรู้สึกว่า เราสุข เราทุกข์ ทำไมจึงกำจัดออกไม่ได้


        ผู้ฟัง ที่กล่าวว่า สุข และทุกข์เป็นเวทนา ไม่ใช่ตัวตน เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง เหมือนกับเราเข้าใจในอรรถ แต่ว่าตามความเป็นจริงแล้วพอมันเกิดสุขเกิดทุกข์กับตัวเอง ก็มีความรู้สึกว่า เราสุข เราทุกข์ อยู่ตลอดเวลา ทำไมเราถึงไม่สามารถกำจัดความรู้สึกที่ว่า เราสุข เราทุกข์อยู่ตลอดเวลาได้

        สุ. ก่อนฟังธรรม มีความรู้สึกว่าเป็นเรา ใช่ไหมคะ เห็นก็เราเห็น สุขก็เราสุข แต่พอฟังธรรมแล้ว เป็นธรรม สุขก็เป็นธรรม คือเป็นสิ่งที่มีจริงๆ ทุกข์ก็เป็นธรรม เป็นสิ่งที่มีจริงๆ เป็นความรู้สึก

        เพราะฉะนั้นความรู้สึก ใครจะทำให้เกิดขึ้นได้ไหม หรือเกิดเมื่อมีเหตุปัจจัย และเมื่อเกิดแล้วจะให้ตั้งอยู่ ไม่หมดสิ้นไปได้ไหม

        นี่คือความหมายของ “ธรรม” สิ่งที่มีจริง เป็นธรรม เพราะเหตุว่าไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร และไม่ใช่ของใครด้วย

        เดิมทีเข้าใจว่า เราสุข สุขเป็นของเรา ทุกข์ก็เป็นของเรา แต่เมื่อฟังธรรมต้องรู้ว่า ไม่ได้คิดเอง ฟังใคร ฟังคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงตรัสรู้ความจริง ซึ่งก่อนจะได้ฟัง ไม่มีใครสามารถรู้ความจริงอย่างนี้ได้ว่า แท้ที่จริงสิ่งที่เรามองเห็นเหมือนเที่ยง ยั่งยืน ความจริงเกิดดับอย่างเร็วมาก ทุกอย่างมีปัจจัยเกิดแล้วดับไป ขณะที่กำลังพูดเรื่องเห็น หรือเรื่องจิต หรือเรื่องความรู้สึกต่างๆ ทั้งหมด ดับแล้ว แต่สืบต่อปรากฏให้เห็นความต่าง อย่างสิ่งที่ปรากฏทางตา ไม่ได้ประจักษ์การเกิดดับ แต่ความจริงแม้สิ่งที่ปรากฏทางตาก็เกิด ถ้าไม่เกิดก็ไม่ปรากฏ แล้วก็ดับไปอย่างเร็วมาก แต่ไม่ปรากฏว่าดับ เพราะสิ่งอื่นเกิดสืบต่อทันที ไม่มีระหว่างคั่นเลย จึงทำให้เหมือนกับเห็น แล้วรู้ว่า สิ่งที่เห็นเป็นอะไร และขณะที่สภาพธรรมที่เป็นธาตุรู้หรือนามธรรมเกิดขึ้น จะมีสภาพธรรมชนิดหนึ่งเป็นนามธรรมเกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน นั่นคือความรู้สึก

        ขณะนี้มีความรู้สึกไหมคะ กำลังเห็น

        ผู้ฟัง มีครับ

        สุ. ความรู้สึกประเภทไหนคะ เพราะความรู้สึกมี เป็นสุข ๑ ทุกข์ ๑ สำหรับทางกาย โสมนัส ๑ โทมนัส ๑ สำหรับทางใจ และอทุกขมสุข ไม่สุขไม่ทุกข์ ซึ่งเรามักจะใช้คำว่า “อุเบกขา” บอกได้ไหมคะว่า ขณะนี้ที่เห็น ความรู้สึกเป็นอะไร

        ผู้ฟัง ถ้า ณ ตอนนี้ก็เป็นอทุกขมสุข เป็นอุเบกขา

        สุ. ค่ะ ตอบได้ และเลือกไม่ให้เป็นอย่างนี้ได้ไหมคะ

        ผู้ฟัง เลือกไม่ได้ครับ

        สุ. เลือกไม่ได้ นี่คือการเข้าใจธรรม

        ผู้ฟัง อาจารย์กำลังจะบอกว่า ทุกอย่างมีเหตุปัจจัยปรุงแต่ง ไม่ว่าจะสุขหรือทุกข์ ก็คือเหตุปัจจัยปรุงแต่ง ใช่ไหมครับ แล้วมองได้ไหมครับว่า เหตุปัจจัยนั้นมาจากเรา

        สุ. เราอยู่ที่ไหนคะ กำลังจะเข้าใจว่า ทั้งหมดเป็นธรรม แต่ไม่เคยรู้ทั้งหมดจึงเป็นเรา หรือของเรา หรือเป็นเขา หรือเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เพราะไม่รู้ความจริงของลักษณะของธรรมแต่ละลักษณะ ถ้าพูดถึงธรรม ต้องหมายความถึงสิ่งที่มีจริงนั้นมีลักษณะเฉพาะแต่ละอย่างๆ อย่างเสียง มี กำลังปรากฏ ไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏทางตา

        นี่คือความต่างของธรรมแต่ละลักษณะ เพราะฉะนั้นความรู้สึกที่เป็นสุขทางกายก็มี ที่เป็นทุกข์ทางกายก็มี ไม่มีใครบังคับบัญชาได้ ไม่ให้เกิดก็ไม่ได้ เมื่อมีเหตุปัจจัยก็ต้องเกิด เพื่อจะรู้ว่า จริงๆ แล้วไม่มีเราที่จะไปบังคับ ที่จะไปยึดถือ ที่จะไปเข้าใจว่า สิ่งนั้นเป็นของเรา ยังคงยั่งยืนอยู่ แต่ให้ค่อยๆ เข้าใจความจริงว่า แท้ที่จริงที่ใช้คำว่า “ธรรม” ก็คือเป็นธาตุ หรือเป็นสิ่งที่มีจริง และมีลักษณะต่างกันเป็น ๒ อย่าง ธาตุ หรือสภาพธรรมที่ไม่สามารถรู้อะไรได้เลย ทั้งหมดเลย มองเห็นหรือมองไม่เห็นก็ตาม เป็นรูปธาตุ หรือรูปธรรม แต่ถ้าไม่มีธาตุอีกชนิดหนึ่งซึ่งเป็นธาตุรู้ เป็นนามธาตุเกิดขึ้น สิ่งใดๆ ก็ปรากฏไม่ได้ แม้แต่สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา คนตาบอดไม่เห็น แต่ต้องเป็นธาตุที่เกิดเพราะมีปัจจัย คือ ต้องมีจักขุปสาทเป็นรูปชนิดหนึ่ง ซึ่งสามารถกระทบเฉพาะสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ถึงแม้อย่างนั้นก็ยังมีจิต ธาตุรู้ที่เกิดขึ้นเห็น สิ่งที่กำลังปรากฏขณะนี้ จึงปรากฏได้ แล้วจะเป็นเราได้อย่างไร ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย

        ผู้ฟัง ที่ฟังอาจารย์มาเข้าใจ แต่ทำไมปกติแล้วเราถึงมองไม่ออก ตรงนี้นะครับ ในชีวิตประจำวันโดยทั่วไปแล้ว เราจะระลึกตรงนั้นไม่ได้ หรือมองตรงนั้นไม่ออก แต่ขณะที่ฟังอาจารย์เข้าใจแล้วว่า มีเหตุปัจจัยปรุงแต่งแล้วก็เกิดการกระทบกันของอายตนะภายใน และภายนอก แต่ตามความเป็นจริงเมื่อชีวิตประจำวันดำเนินไป เราระลึกไม่ได้ และมองตรงนั้นไม่ออก เป็นเพราะเหตุอะไร

        สุ. เพราะมีเรา ไม่ใช่เป็นธรรม ธรรมระลึก ไม่ใช่เราระลึก ที่เข้าใจก็เป็นธรรม ไม่ใช่เรา ต้องถอนความเป็นเรา ซึ่งเคยยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเรา เป็นตัวตน นานแสนนาน ไม่ใช่เฉพาะชาตินี้ชาติเดียว เพราะฉะนั้นกว่าจะฟังธรรมแล้วเข้าใจว่า ปัญญามี ๓ ระดับ ๓ ขั้น ปัญญาที่เกิดจากการฟัง ขณะนี้กำลังฟังเรื่องเห็น กำลังฟังเรื่องคิด กำลังฟังเรื่องธรรม กำลังฟังเรื่องทุกสิ่งทุกอย่างที่ปรากฏเพราะเกิดขึ้น เมื่อมีปัจจัยปรุงแต่ง แต่ไม่ได้รู้ลักษณะของธรรมที่กำลังกล่าวถึง เพียงแต่ฟังเรื่อง ทั้งๆ ที่ขณะนี้สภาพธรรมแต่ละอย่างเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปอยู่ตลอดเวลา และเพียงแค่ฟังเข้าใจจะสามารถประจักษ์ความจริง ซึ่งเป็นธรรมแต่ละอย่างที่เกิดดับได้อย่างไร

        ด้วยเหตุนี้ถ้ายังไม่มีความเข้าใจที่มั่นคงในเรื่องของธรรม ไม่มีทางที่จะรู้ลักษณะ เพราะแต่ละลักษณะไม่ปะปนกันเลย สิ่งที่ปรากฏทางตา เคยคิดถึงลักษณะจริงๆ ว่า เป็นเพียงธรรมสิ่งหนึ่งที่ปรากฏได้ทางตา ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่วัตถุอะไรเลยทั้งสิ้น แต่เมื่อเห็นทีไร ก็เป็นโต๊ะ เก้าอี้ เป็นคน ก็แสดงว่าไม่เคยเข้าใจลักษณะที่เพียงปรากฏทางตา จนกว่าฟังแล้ว ก็ยังไม่มีเราที่จะไประลึกรู้อย่างนั้นได้ เพราะเหตุว่าจะไปบังคับให้ธรรมที่เป็นธรรมชาติ ที่มีหน้าที่ที่ระลึกได้เกิดขึ้นแล้วระลึกลักษณะที่กำลังเป็นอย่างนี้ ให้เข้าใจความจริงว่า ไม่ได้พูดถึงสิ่งที่ไม่มี กำลังพูดถึงสิ่งที่มี แต่ยังไม่เข้าถึงลักษณะจริงๆ ของสิ่งที่มี จนกว่าความเข้าใจนั้นทำให้คลายความยึดมั่น ไม่มีตัวเราที่จะจัดการ ไม่มีตัวเราที่อยากรู้ เพราะเป็นเรื่องของปัญญา สภาพธรรมที่กว่าจะเกิดได้ ต้องอาศัยการฟัง การไตร่ตรอง เป็นปัจจัยให้ปัญญาระดับขั้นต่อๆ ไปเกิด ซึ่งการแทงตลอด รู้จริงในลักษณะของสภาพธรรม ไม่ใช่เพียงขั้นฟัง

        ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นถัดจากขั้นฟังไป ควรจะเป็นขั้นไหนครับ

        สุ. เข้าใจลักษณะ

        ผู้ฟัง หมายความว่า เราต้องใช้สติในการระลึกรู้สภาพธรรมตรงนั้น ใช่ไหมครับ

        สุ. มีเรา แล้วก็มีใช้ แล้วก็มีสติ ผิดหรือถูก ทั้งหมด ทั้ง ๓ คำนี้ เราใช้สติ ผิดหรือถูก

        ผู้ฟัง เท่าที่อาจารย์บรรยายมาก็ผิด เพราะว่าเป็นตัวตน

        สุ. เพราะฉะนั้นถ้าไม่ได้ฟังธรรม จะชื่อว่า มีความเห็นถูก ได้ไหมคะ

        ผู้ฟัง เป็นไปไม่ได้

        สุ. ค่ะ ถ้ามีความเห็นถูกแล้วไม่ต้องฟัง แต่เพราะรู้ว่า พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประจักษ์ความจริง และทรงแสดงความจริง ก็เป็นเครื่องพิสูจน์ได้ว่า แล้วผู้ฟังรู้ความจริงระดับไหน ถ้าไม่ฟังเลย ก็ไม่มีโอกาสเลย จะเกิดเป็นใครอีกกี่ภพกี่ชาติ ก็คือไม่รู้สิ่งที่ปรากฏตามความเป็นจริงตั้งแต่เกิดจนตาย แต่ว่าชาติไหนมีโอกาสจะได้ฟัง สะสมความเข้าใจ และเป็นผู้ตรงว่า นี่เป็นความเข้าใจเรื่องราวของสิ่งที่มีเดี๋ยวนี้ ที่กำลังปรากฏ จนกว่าจะสามารถรู้ลักษณะที่เป็นธรรมแต่ละลักษณะได้

        ผู้ฟัง เป็นไปได้ไหมที่หลังจากเราฟังแล้ว ออกอนุญาตตัดคำว่า “เรา” ออก

        สุ. เดี๋ยวก่อนนะคะ จะตัดทำไมคะ มีเหตุผลอะไรคะ สำคัญอย่างไร

        ผู้ฟัง เดี๋ยวเป็นตัวตนอีกครับ

        สุ. เพียงแค่ตัดคำออกไป ก็ไม่มีตัวตนหรือคะ หรือถึงจะใช้คำไหน ก็ยังมีตัวตน เพราะยังไม่หมดตัวตน แต่เมื่อหมดความเป็นตัวตนแล้ว จะใช้คำไหน ก็คือไม่ใช่ความเข้าใจผิดว่าเป็นตัวตน

        ผู้ฟัง ผมไม่ทราบว่า ผมเข้าใจถูกหรือเปล่า คือ ผมจะทำในลักษณะที่ว่า ฟัง ฟัง ฟังให้เข้าใจ แล้วก็รอคอยว่า วันหนึ่งเมื่อปัญญาสมบูรณ์ถึงจุดหนึ่งแล้ว ปัญญาเจตสิกจะทำกิจของมัน ก็คือทำให้เราแทงตลอดในสภาพธรรมที่เกิดขึ้น ที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ ไม่ทราบว่าเข้าใจอย่างนี้ถูกไหมครับ

        สุ. เรื่องเข้าใจธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก และลึกซึ้งด้วย ถ้าเป็นคำพูดอย่างนี้ คนอื่นพอใจแล้วใช่ไหมคะ เข้าใจแล้วรอคอยจนกว่าปัญญาจะเกิด แต่ถ้าเข้าใจจริงๆ ใครรอ รออะไร ขณะนี้มีสภาพธรรมปรากฏแล้ว รออะไร

        ผู้ฟัง รอเวลาที่ปัญญาจะเกิด

        สุ. โดยวิธีไหนคะ รอ

        ผู้ฟัง ก็โดยการฟัง

        สุ. แล้วก็เข้าใจขึ้น เพื่อที่จะละการที่เคยยึดถือว่าเป็นตัวตน

        ผู้ฟัง ครับ เพราะว่าสั่งสมมาเนิ่นนานในสังสารวัฏฏ์ว่า เป็นตัวเรา ถึงต้องเรียนถามอาจารย์ว่า ทำไมสุขทุกข์ทุกครั้งที่เกิด จึงเป็นเราสุข เราทุกข์ ทั้งๆ ที่ฟังอาจารย์หลายหน ก็ไม่สามารถตัดเราสุข เราทุกข์ได้ ทุกครั้งที่เป็นสุขทุกข์ จะรู้สึกว่า เราเป็นผู้ที่เป็นสุข และเราเป็นผู้ที่เป็นทุกข์อยู่ตลอดเวลา

        สุ. เพราะฉะนั้นฟังว่าเป็นธรรม แต่ก็ยังเป็นเรา จนกว่าจะเข้าใจขึ้น จนกระทั่งหมดความเป็นเรา

        ผู้ฟัง เมื่อมีเหตุให้โกรธ เช่นโกรธ ก็เราโกรธ

        สุ. ค่ะ ฟังจนกว่าจะรู้ว่า โกรธก็เป็นธรรมอย่างหนึ่ง บังคับให้คิดอย่างนั้นในขณะที่กำลังโกรธได้ไหมคะ

        ผู้ฟัง ไม่ได้เลยครับ มันเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ

        สุ. เพราะขณะนั้นไม่รู้ความจริง แต่ถ้ามีเหตุปัจจัยที่สติเกิดระลึกได้ ก็มีการระลึกได้ แม้เป็นคำ ขณะนั้นก็เป็นธรรมอย่างหนึ่ง ยังไม่ระลึกลักษณะที่เป็นธรรม แต่สังขารขันธ์ก็จะปรุงแต่ง ค่อยๆ ปรุง จนกระทั่งแม้ขณะนี้จะคิดอย่างไร เป็นกุศล หรือเป็นอกุศล ก็เพราะการสะสมซึ่งเป็นสังขารขันธ์ทำให้เป็นอย่างนั้น

        เพราะฉะนั้นถ้ามีการฟัง และมีความเข้าใจเพิ่มมากขึ้น ไม่ต้องห่วงเลย การปรุงแต่งไม่ใช่หน้าที่ของเรา แต่เป็นหน้าที่ของธรรมที่เป็นสังขารขันธ์

        ที่มา ...

        พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 338


    หมายเลข 12429
    23 ม.ค. 2567