ความเห็นผิดมีลักษณะอย่างไร 1


        ผู้ฟัง ช่วยอธิบายถึงลักษณะของบุคคลที่มีความเห็นผิด ปฏิบัติผิด กับคนที่มีความเห็นถูก ปฏิบัติถูกว่า มีลักษณะแตกต่างกันอย่างไรบ้าง เพราะในปัจจุบันผมคิดว่า มีคนเห็นผิดเป็นจำนวนมาก ในแนวทางปฏิบัติ และขอให้อาจารย์ช่วยชี้แจงแนวทางที่ถูกต้องให้ทราบด้วยครับ

        สุ. ค่ะ คนที่เห็นผิด ก็คือไม่รู้ว่า ขณะนี้เป็นธรรม ถ้ามีการเข้าใจถูกต้องจริงๆ ว่าขณะนี้เป็นธรรม ซึ่งมีลักษณะต่างกันทั้งตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ตลอดชีวิตเป็นลักษณะของธรรม นั่นคือผู้ที่เห็นถูกต้อง แต่ถ้ามีผู้บอกว่า เห็นแล้ว ขณะนี้รู้แล้วด้วย ขณะนี้สิ่งที่ปรากฏทางตามีจริง และบอกว่าเป็นรูปธรรม และสภาพเห็นที่กำลังเห็น ก็รู้ว่าเป็นนามธรรม นี่คือคำตอบ ซึ่งบางท่านอาจจะคิดว่า หรือแม้แต่ตัวผู้ตอบเอง ก็อาจจะเข้าใจว่า รู้แล้ว

        เพราะฉะนั้นเป็นผู้ไม่ละเอียด ไม่รอบคอบ และไม่เข้าถึงความจริงของสภาพธรรม เพราะเหตุว่าไม่ใช่ได้ยินคำว่า เห็น ไม่ใช่ตัวตน เป็นสภาพธรรมที่มีจริงๆ ขณะนี้กำลังเห็น

        นี่คือกำลังฟังเรื่องสิ่งที่กำลังมีในขณะนั้นว่า ขณะนี้ เห็นมี และฟังว่าเป็นธรรม เพราะเหตุว่าเป็นสิ่งที่มีจริง และฟังแล้วก็รู้ความหมายของคำว่า “อนัตตา” ว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล แล้วก็เข้าใจว่า ใครก็ไม่สามารถที่จะบันดาลให้เห็นเกิดขึ้นได้

        นี่คือขั้นความเข้าใจ แต่ขณะนี้จะรู้ลักษณะที่เป็นธาตุรู้ ซึ่งไม่ใช่ตัวตน ซึ่งเกิดขึ้นเห็น ไม่ใช่คนนั้นจะเข้าใจว่า รู้แล้ว นั่นแสดงว่าไม่ลึกซึ้ง และไม่ละเอียด ไม่รอบคอบด้วย จึงมีความเห็นว่า รู้แล้ว ถ้ารู้แล้วก็คือ ไม่ได้ทำอะไรที่จะทำให้สามารถหมดกิเลสได้เลย เพราะรู้แล้ว แล้วทำไมไม่หมดกิเลส

        นี่ก็แสดงให้เห็นว่า จะต้องเป็นผู้ละเอียด แล้วก็รู้ว่า การฟังเรื่องราวของสภาพธรรม คือ เริ่มมีความเห็นถูก มีความเข้าใจถูกว่า สิ่งที่ปรากฏมีแน่นอน และที่กล่าวว่า ใครก็บันดาลให้เกิดไม่ได้ เพราะเหตุว่าขณะนี้ปรากฏเพราะเกิดแล้ว ทั้งนั้นเลยค่ะ ไม่ว่าจะกล่าวถึงอะไร ก็คือ ขณะนี้สิ่งนั้นได้เกิดแล้ว จึงปรากฏ

        เพราะฉะนั้นก็รู้ได้ว่า ไม่มีตัวตนในสิ่งที่ปรากฏในขั้นฟัง แต่ไม่เห็นการเกิด และการดับ ซึ่งผู้ที่ประจักษ์แจ้งความจริงของสภาพธรรมที่ตรัสว่า สังขารธรรมทั้งหลายไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เพราะเหตุว่าสภาพธรรมที่เกิด ไม่ว่าจะเป็นสภาพใดๆ ก็ตาม ต้องมีปัจจัยเกิดแล้วดับไป แล้วก็มีสภาพธรรมอื่นสืบต่อ เร็วมาก เพราะฉะนั้นจะกล่าวว่า รู้ลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่างที่เกิดแล้วดับ เป็นไปไม่ได้ แต่ถ้าถามคนที่ไม่รู้ ก็จะตอบว่า รู้แล้วว่าเกิดแล้วดับ คือ รู้แล้วหมด แต่รู้แล้วหมด ไม่ได้หมดกิเลสเลยสักอย่างเดียว

        นั่นก็แสดงให้เห็นว่า เป็นผู้ที่ไม่รู้ แต่เข้าใจผิดคิดว่ารู้ เพราะฉะนั้นถ้ามีความเข้าใจผิดอย่างนี้ ถ้าสนทนากันต่อไป ก็จะต้องสอบถามสนทนากัน การสนทนากันไม่ใช่ห้ำหั่น แต่หมายถึงเป็นการอนุเคราะห์บุคคลที่ต้องการความจริง ให้พิจารณาว่า สิ่งใดจริง สิ่งใดไม่จริง เพื่อจะได้มีความเห็นถูก เพราะฉะนั้นถ้าได้สนทนากันต่อไปกับบุคคลที่มีความเห็นผิด เพราะคิดว่ารู้แล้ว ก็จะต้องถามว่า การรู้อย่างนั้น มีอะไรเป็นเหตุให้รู้อย่างนั้น ทุกอย่างที่เกิดขึ้นต้องมีเหตุ

        ขณะนี้มีสภาพธรรมกำลังปรากฏ ผู้ที่จะกล่าวว่า รู้แล้ว ต้องเป็นพระอริยบุคคล และก็รู้โดยไม่ฟังด้วย ไม่ได้เข้าใจพระธรรมที่ทรงแสดงด้วย ผู้นั้นก็ต้องมีปัญญาระดับพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าไม่ฟังพระธรรม เพราะการฟังต้องรู้ว่า กำลังฟังอะไร สิ่งที่กำลังได้ยินได้ฟังมีจริงหรือเปล่า ถ้ามีจริง ก็ลองคิดดู ใครสามารถรู้ได้ถึงการเกิดขึ้น และดับไปอย่างรวดเร็ว แสนเร็ว มากมายมหาศาล ทำให้สามารถที่จะหลอก หรือทำให้เกิดความเห็นผิด ความเข้าใจผิดว่า ขณะนี้มีคน มีวัตถุ มีสิ่งต่างๆ

        เพราะฉะนั้นเวลาที่จะกล่าวถึงสภาพธรรม ถ้ากล่าวถึงความไม่รู้ ก็จะทำให้คนนั้นเห็นชัดว่า มีความไม่รู้มากแค่ไหน ถ้ากล่าวถึงความรู้ ก็เหมือนกับได้ยินได้ฟัง เข้าใจว่ารู้ แต่ความจริงความไม่รู้ในขณะไหนบ้าง ถ้าคนนั้นไม่รู้ตามความเป็นจริง ก็เข้าใจว่าตัวเองรู้แล้ว

        เพราะฉะนั้นธรรมจึงเป็นเรื่องที่ละเอียด และเป็นเรื่องที่ตรงต่อความจริงด้วย ถ้าเป็นผู้ไม่ตรง และไม่มีความมั่นคง ก็จะไม่ได้สาระจากการฟัง เพราะฟังแล้วก็เห็นว่า ทำไมพูดแต่เรื่องสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ทำไมพูดเรื่องตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

        จะให้พูดเรื่องอะไร ถ้าไม่ใช่เรื่องเหล่านี้ พระไตรปิฎกทั้งหมด ๔๕ พรรษา อรรถกถากล่าวถึงเรื่องความจริงโดยละเอียดยิ่งขึ้นของสภาพธรรมที่มีจริง เพื่ออุปการะเกื้อกูลให้พิจารณา ให้เข้าใจความจริงของสิ่งที่ปรากฏ มิฉะนั้นแล้วจะพูดอะไร จะพ้นจากตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ได้ไหม แต่เมื่อไม่รู้ตามความเป็นจริง ยังคงมีความเข้าใจผิด เข้าใจว่า ความรู้นั้นรู้สิ่งที่กำลังเข้าใจว่ารู้ แต่ไม่รู้ความจริงของธรรมที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เพราะว่าข้ามไปเป็นเรื่องราวต่างๆ

        มีใครได้ยินคำว่า “โพชฌงค์” ไหมคะ เป็นธรรมหรือเปล่า แล้วทำไมกล่าวว่า โพชฌงค์ ทำไมใช้คำนี้

        นี่ก็เป็นสิ่งที่ไม่ว่าได้ยินได้ฟังคำอะไรก็ตาม ต้องเข้าใจความหมาย และจะพ้นจากทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ได้ไหม ธรรมทั้งหมดที่มี ก็ต้องมาจากสภาพที่มีจริงๆ แต่ทรงแสดงให้ละเอียด เพื่อจะให้ผู้ฟังไตร่ตรอง ให้เห็นความเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตน ในขั้นของสัจญาณ ความมั่นคงที่จะรู้ว่า ขณะนี้เป็นธรรม ที่ปัญญาสามารถประจักษ์ความจริงได้ แทงตลอดความจริง รู้แจ้งสัจธรรมของสิ่งที่กำลังเกิดดับในขณะนี้ได้

        เพราะฉะนั้นก็ต้องฟัง จนกว่าจะมีความเข้าใจเพิ่มขึ้น จนกว่าจะเข้าใจความต่างของขณะที่สติสัมปชัญญะไม่เกิด กับขณะที่สติสัมปชัญญะเกิด ด้วยความเข้าใจถูกต้องว่า เป็นอนัตตา ไม่ได้บังคับ ไม่ได้จงใจ เพราะมีความเข้าใจถูกตั้งแต่ต้นว่า ธรรมเป็นธรรม ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล หรือจะใช้คำว่า “เป็นอนัตตา” ก็ได้

        แต่ละคนก็สะสมมาต่างกันนะคะ เพราะฉะนั้นความคิดความเห็นก็หลากหลาย แล้วแต่การสะสม

        ผู้ฟัง แล้วจะรู้โทษของความเห็นผิดได้อย่างไรครับ

        สุ. ขณะนี้ไม่ได้รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง จึงเป็นเรา แล้วก็เป็นเขา แล้วก็เป็นโลก แล้วก็เป็นเรื่องต่างๆ สุขทุกข์เพราะอะไรคะ เพราะเห็นแล้วก็ยึดถือว่าเป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ คนนั้นคนนี้ ยังไม่เข้าถึงความหมายของคำว่า “สงบจากกิเลส” ลองคิดดู เราเกิดมา เราชอบ เราติดข้อง ต้องการทุกอย่าง ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ไม่ได้รู้ว่า ขณะนั้นเป็นทุกข์ เพราะความติดข้อง แต่ถ้าถึงภาวะที่ไม่มีความติดข้อง จะต่างกันไหมคะกับขณะที่กำลังติดข้อง แต่ไม่เคยรู้ลักษณะนั้นเลย

        เพราะฉะนั้นก็ยังคงหลงยึดถือว่า ขณะที่กำลังต้องการ และเกิดมาก็แสวงหาไปเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ และเรื่องราวของความเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล ก็แสวงหาไป สุขบ้าง ทุกข์บ้าง โดยที่ทุกคนต้องการสุข แต่ว่าสุขตลอดหรือเปล่า มีเหตุจะให้ทุกข์เกิดขึ้น ยับยั้งได้ไหม หลีกเลี่ยงได้ไหม เดือดร้อนได้ไหม

        ใครจะเกิดในนรก คนอื่นจะไปช่วยอย่างไรคะ เกิดแล้วที่นั่น อย่างนั้นมีใครชอบไหมคะ เกิดในนรก ก็ไม่ชอบ แต่ก็มีเหตุปัจจัยที่จะให้เกิด

        เห็นภัยของสังสารวัฏฏ์ไหมคะ ไม่ใช่มีแต่เฉพาะฝ่ายที่น่าพอใจ ฝ่ายที่ไม่น่าพอใจก็มี แล้วแต่ว่าจะระดับไหนก็เลือกไม่ได้

        นี่คือธรรม เพราะว่าผู้ที่พ้นจากอบายภูมิ คือ ผู้ที่รู้แจ้งอริยสัจธรรม จะไม่ไปเกิดในอบายภูมิ ในนรก ก็ไม่เกิด เปรต ก็ไม่เกิด อสุรกาย เดรัจฉาน ก็ไม่เกิดเลย

        ที่มา ...

        พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 330


    หมายเลข 12389
    23 ม.ค. 2567