ความเห็นผิดมีลักษณะอย่างไร 2


        คุณอุไรวรรณ คุณอรรณพ ลองพูดโทษของความเห็นผิดซิคะ

        อ.อรรณพ ความเห็นผิดเป็นสภาพธรรมหรือเปล่า ไม่ใช่นาย ก. นาย ข. ที่เห็นผิด แต่เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ก็คือ ทิฏฐิ ทิฏฐิเป็นนามธรรม ไม่ใช่เป็นรูปธรรม ทิฏฐิไม่ใช่จิต แต่เป็นเจตสิก เป็นทิฏฐิเจตสิก ซึ่งเมื่อเกิดขึ้นแล้วก็มีกิจ มีหน้าที่ของทิฏฐิเจตสิก คือ เป็นอกุศลที่นอกจากประกอบด้วยความติดข้อง คือ โลภะแล้ว ลักษณะของทิฏฐิ ยังเป็นลักษณะที่ยึดในความเห็นนั้น ยากที่จะไถ่ถอน

        เพราะฉะนั้นความเห็นผิดมีโทษมากๆ เลย คนที่เห็นผิด เห็นผิดถึงขนาดว่า มารดาบิดาไม่มีคุณ ฟังธรรมอย่างเดียวกันว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เขาก็เลยคิดว่า พ่อแม่ไม่มี ก็ได้ หรือว่าไม่ได้ฟังธรรมเลย เขาก็คิดว่า ในเมื่อเกิดมา พ่อแม่ทำให้เกิดมา พ่อแม่ก็ไม่มีคุณอะไร อย่างนั้นเป็นผู้ที่ไม่เข้าใจ และมีความเห็นผิดที่ร้ายแรง หรือมีความเห็นผิดว่า ตายแล้วขาดสูญ บุญบาปไม่มี นั่นคือโทษของความเห็นผิด ซึ่งขณะนั้นไม่ใช่เขาด้วย แต่เป็นลักษณะของสภาพธรรมอย่างหนึ่ง คือ ทิฏฐิเจตสิก ซึ่งมีความเห็นผิดตั้งแต่ในระดับที่รุนแรงถึงขั้นนั้นว่า บุญบาปไม่มี คุณมารดาบิดาไม่มี

        เพราะฉะนั้นในขณะนั้นก็เป็นความเห็นผิด ซึ่งจะทำไปสู่การประกอบอกุศลกรรมต่างๆ มีความไม่กตัญญูกับผู้มีคุณ กล่าวโทษผู้มีคุณ หรือประทุษร้าย ซึ่งขณะนั้นก็เป็นอกุศลธรรมประการต่างๆ ที่มีความเห็นผิดเป็นตัวนำทางฝ่ายไม่ดี

        เพราะฉะนั้นทิฏฐิ คือ ความเห็นผิด เป็นทางไปสู่อบายภูมิ โดยเฉพาะทิฏฐิที่ร้ายแรง เช่น เห็นว่าบุญบาปไม่มี คุณมารดาบิดาไม่มี เช่นนี้ การฆ่าก็ไม่มีผลอะไร ผู้ที่มีความเห็นอย่างนี้ ก็จะต้องประกอบแต่อกุศลกรรม และเราจะเห็นชัดว่า ความเห็นผิดนั้นมีโทษอย่างไร

        ความเห็นผิดที่ละเอียดลงมากว่านี้ ก็คือความเห็นผิดที่คิดว่า มีสัตว์ บุคคล ตัวตน ในขณะนี้ใครบอกว่า คนไม่มี เขาไม่เชื่อ ก็เห็นอยู่ เห็นนั่งอยู่ บุตรภรรยามีทั้งนั้นเลย เพื่อนฝูงมี เห็นๆ กันอยู่ ทำไมจะบอกว่าไม่มี เขาจะไม่เข้าใจความเป็นธรรม แต่จะจำ และยึดถือในความเป็นตัวตน

        เพราะฉะนั้นถ้ามีความเห็นผิดอย่างนี้ เห็นผิดว่า เป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน ถ้าไม่มีการขัดเกลาละคลายความเห็นผิดนี้ เป็นรากฐานของความเห็นผิดที่ร้ายแรง อย่างที่กล่าวมาแล้ว คือ เห็นผิดว่าบุญบาปไม่มี การกระทำไม่มีผลอะไร อย่างนี้ก็มีมูลรากจากความเห็นผิดว่า สัตว์ บุคคล ตัวตนมี และการที่มีความเห็นผิดอย่างนี้ ก็ทำให้ไม่มีทางที่จะเข้าใจธรรม อยู่ในวัฏฏะตลอดไป ถึงแม้บางคนอาจจะมีอุปนิสัยในการเจริญกุศลขั้นทาน ขั้นศีลบ้าง หรือแม้แต่ในขั้นความสงบที่จะอยู่ในพรหมโลกได้ก็ตาม แต่เมื่อยังมีความยึดถือว่าเป็นเรา ถึงแม้ว่าจะเจริญกุศล คือ เป็นทิฏฐิละเอียด ก็ยังออกจากวัฏฏะไม่ได้

        เพราะฉะนั้นความเห็นผิดนี้ ก็จะทำให้อยู่ในวัฏฏะตลอดไป ความเห็นผิดนี้เป็นทาง เป็นมรรคด้วย แต่เป็นมิจฉามรรค ซึ่งเป็นหัวหน้าองค์ธรรมฝ่ายไม่ดีที่จะนำไปสู่การยึดถือความเห็นผิดนั้นมากขึ้นๆ แล้วก็เนิ่นช้า ขัดขวางการอบรมเจริญปัญญา เพราะด้วยความเห็นผิดนั้น ซึ่งเห็นผิดคลาดเคลื่อนไปจากสภาพธรรม

        เพราะฉะนั้นรวมความว่า ความเห็นผิดเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง คือ ทิฏฐิเจตสิก เป็นอกุศลเจตสิกที่เกิดกับจิตประเภทโลภมูลจิต และทำกิจยึดถือในความเห็นนั้น ซึ่งรุนแรงถ้าเป็นความเห็นผิดที่มีกำลัง ก็ไปอบายภูมิ เช่น ความเห็นผิดว่า บุญบาปไม่มี และเป็นเหตุให้ทำอกุศลกรรมต่างๆ อย่างหนึ่ง

        ที่มา ...

        พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 330


    หมายเลข 12390
    23 ม.ค. 2567